© 2017 Copyright - Haijai.com
ตะไคร้ ของดีคู่ครัวไทย ช่วยลดความดันโลหิต
ผู้เขียนไม่ค่อยมีโอกาสทำกับข้าวเท่าไร เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลา บวกกับคนกินขอร้องให้หยุดทำเพราะน้ำหนักขึ้น อิอิ โดยเวลาทำแต่ละครั้งจะทำเยอะมาก ลำบากคุณหมอใกล้ตัวต้องเป็นคนกินให้หมด ถ้ากินไม่หมดเราจะสรุปว่าไม่อร่อย และงานจะเข้ามากกว่ายอมกินแน่ๆ
ที่ต้องเลิกทำกับข้าวเพราะเจอประโยคที่ว่า “สงสารพุงพี่หน่อยเถอะ มันจะระเบิดแล้ว” เลยหยุดทำไปหลายเดือน ประกอบกับมีกิจกรรมอย่างอื่นในช่วงวันหยุดเยอะมากเลยไม่มีเวลา แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนไปสะดุดตาเข้ากับเห็ดที่ชาวบ้านนำมาขายที่โรงพยาบาล เลยเกิดไอเดียอยากทำให้คุณหมอใกล้ตัวและลูกสาวกิน
คิดได้เช่นนั้นก็ไม่รอช้า ตั้งใจว่าจะทำต้มยำเห็ด งานเลยเข้าทั้งคนที่จะต้องกินกับคนที่ทำที่จะต้องไปตลาด เพื่อซื้อวัตถุดิบต่างๆ บางอย่างเราไม่ต้องซื้อ เช่น ใบมะกรูด เพราะสามารถเก็บจากหลังบ้านได้ หอมแดงกับข่าก็มีเจ้าหน้าที่อนุเคราะห์ให้ ส่วนตะไคร้ ใช้วิธีขุดเอาจากบ้านของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เห็นไหมคะ แค่ผู้เขียน (นายใหญ่) นึกอยากทำกับข้าวก็ทำเอาเหล่าเจ้าหน้าที่วุ่นแค่ไหน
พอเลิกงานก็ได้เวลาทำเมนูต้มยำ ที่คนไทยชื่นชอบ ไม่อยากจะคุยว่าจริงๆ แล้ว ผู้เขียนทำกับข้าวอร่อยนะคะ แถมการกินต้มยำก็เปรียบได้กับการกินอาหารเป็นยา เนื่องจาวัตถุดิบที่ใช้เป็นเครื่องต้มยำนั้น มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรทั้งนั้นเลยค่ะ ซึ่งในวันนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงตะไคร้ก็แล้วกัน
ตะไคร้นั้น มีน้ำหอมระเหยที่ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแก้ปวดท้องได้ ทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบของยานวดลดอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังช่วยผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับได้ดี บำรุงสมอง เหมาะกับผู้สูงวัยทั้งหลายที่ความจำเริ่มเสื่อมไปตามวัย ประโยชน์เยอะขนาดนี้คงต้องทำเมนูยำตะไคร้อีกละมั้ง
เพราะกินแบบสดๆ จะได้สารอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม
ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงนึกออกแล้วมั้งคะว่า วิตามินเอช่วยบำรุงสายตา วิตามินซีก็ช่วยทำให้ผิวพรรณดี ส่วนแคลเซียมนั้นช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ที่น่าสนใจ คือ มีรายงานว่าตะไคร้สามารถลดความดันโลหิตได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงสามารถกินตะไคร้เสริม เพื่อช่วยลดความดันได้ แต่ผู้เขียนขอย้ำว่าต้องใช้เป็นตัวเสริมนะคะ เพราะการรักษาหลักๆ ควรใช้ยาแผนปัจจุบัน และควรบอกให้คุณหมอที่รักษาทราบว่าจะกินตะไคร้ เนื่องจากการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ต้องปรับยาตามสภาวะของผู้ป่วย และผู้ป่วยต้องดูแลด้านอื่นด้วย เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ซึ่งหากทำได้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง หรือออกกำลังกายเพื่อสุขภาพร่วมด้วย
วิธีกินตะไคร้เพื่อช่วยลดความดันโลหิตสูง อาจกินเป็นอาหาร เช่น ยำตะไคร้ หรืออาจนำตะไคร้สดทั้งต้นประมาณ 1 กำมือทุบๆ นำไปต้มกับน้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือถ้าไม่สะดวกก็สามารถหาซื้อชาตะไคร้มาดื่มได้ค่ะ
มาถึงตรงนี้คงสรุปได้ว่า ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ามากมาย เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้เขียนว่าเหมาะกับผู้เชี่ยวชาญชีวิต (ผู้สูงอายุ) ที่สุดเลยค่ะ อิอิ
พญ.ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)