© 2017 Copyright - Haijai.com
ปัญหาสิว
สิว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรง แต่ก็ทำให้สูญเสียความมั่นใจไปไม่ใช่น้อย สาเหตุเกิดจากากรอุดตันของรูขุมขนและต่อมไขมันจนเกิดการอักเสบขึ้น อาจพบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย พี.แอคเน่ (Propionibacterium acnes, P. acnes) สิวมักพบมากในบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่กันอย่างหนาแน่น เช่น บริเวณใบหน้า แผ่นหลัง และหน้าอก
โดยทั่วไป “สิว” แบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ สิวที่มีการอักเสบ เช่น สิวที่เป็นตุ่มแดง สิวตุ่มหนอง สิวหัวช้าง (สิวอักเสบขนาดใหญ่) สิวที่มีลักษณะเป็นถุงซีสต์ใต้ผิวหนัง และ สิวที่ไม่มีการอักเสบ เช่น สิวหัวเปิด (จะพบจุดสีดำอยู่ตรงกลาง) สิวหัวปิด (พบเป็นตุ่มนูน สีเดียวกับผิวหนัง)
ตัวการก่อปัญหาสิว
ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวมีด้วยกันหลายประการ อาทิกรรมพันธุ์ ระดับของฮอร์โมน โรคประจำตัว เช่น ในผู้หญิงที่มีถุงน้ำรังไข่หลายใบจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ ทำให้เกิดสิว หน้ามัน และขนดกได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่เป็นตัวการให้เกิดสิวได้เช่นกัน ได้แก่
• เครื่องสำอาง ส่วนประกอบของเครื่องสำอางบางชนิดอาจทำให้รูขุมขนอุดตัน และเกิดสิวอุดตันได้
• อาหาร ถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน แต่มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าอาหารบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม แป้ง และขนมหวานต่างๆ กระตุ้นให้เกิดสิวเพิ่มมากขึ้นได้ ทางที่ดีผู้อ่านควรหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มนี้ดีกว่า
• สเตียรอยด์ มักเป็นส่วนผสมในครีมโฆษณาว่าทำให้หน้าขาวใส หน้าเด้ง ในช่วงแรกที่ใช้หน้าจะขาวใส สิวจะยุบจริง แต่ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดสิวหรือผื่นผิวหนังอักเสบขึ้นมาได้ ซึ่งการรักษาค่อนข้างยากและใช้เวลานาน จึงควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
แก้ปัญหารักษาสิว
1.การใช้ยาทา
• กรดวิตามินเอชนิดทา จะใช้กับสิวอุดตัน โดยยาจะไปลดการอุดตันของสิว และทำให้การผลัดเซลล์ผิวกลับมาเป็นปกติ ในช่วงแรกที่ใช้อาจเกิดสิวเห่อขึ้นมาได้ ไม่ต้องตกใจนะคะ ให้ใช้ยาต่อเนื่องต่อไป กว่าตัวยาจะออกฤทธิ์อาจใช้เวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์ โดยทาวันละครั้งก่อนนอน ผลข้างเคียง คือ อาจทำให้ผิวแห้ง แสบ ระคายเคือง ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
• เบนซอยล์ เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ทำให้หัวสิวหลุดออกได้เร็วขึ้น และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย วิธีใช้ให้ทายาบริเวณที่เป็นสิวทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออก ผลข้างเคียง คือ อาจทำให้หน้าแดง ลอกเป็นขุย หรือมีอาการคันยิบๆ ที่ใบหน้า
2.การใช้ยากิน
• ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาดอกซีไซคลิน Doxycycline) ให้กินตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง ห้ามกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร อาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากขึ้น
• ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ใช้ในการรักษาสิวที่มีอาการรุนแรง ต้องใช้ต่อเนื่องนานประมาณ 6 เดือน อาการข้างเคียง คือ ทำให้ผิวแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
3.การรักษาเสริมอื่นๆ
• การกดสิว เป็นการรักษาสิวอุดตันทำให้หัวสิวหลุดออก ควรใช้คู่กับยากรดวิตามินเอชนิดทา หรือยาที่ออกฤทธิ์ละลายหัวสิว ไม่ควรกดสิวขณะที่เป็นสิวอักเสบ
• การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น เอเอชเอ กรดซาลิไซลิก
• การฉีดสิวด้วยยาสเตียรอยด์ จะช่วยให้สิวอักเสบยุบลงได้อย่างรวดเร็ว ผลข้างเคียง คือ หากฉีดลึกเกินไปอาจทำให้ผิวหนังยุบตัวลงได้
• การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และ IPL (Intense pulsed light) เป็นการรักษาที่ช่วยเสริมกับการรักษาสิว แต่ข้อเสียคือมีราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่
นอกจากวิธีการรักษาตามที่กล่าวมาแล้ว การปรับพฤติกรรมบางอย่างก็เป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันปัญหาสิว เช่น หลีกเลี่ยงการบีบหรือแกะสิว เพราะนอกจากสิวจะไม่หายแล้ว ยังทิ้งรอยแผลไว้บนหน้าของเราให้ช้ำใจอีกด้วย
นอกจากนี้การสัมผัสใบหน้า ล้างหน้าบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งการขัดหน้า นวดหน้า ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวเพิ่มมากขึ้นได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรปล่อยใจให้สบาย ไม่เครียดไปกับสิว ปรับสมดุลชีวิต นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็จะทำให้สิวที่เรากังวลกลายเป็นเรื่องสิว สิว ไปเลยค่ะ
พญ.พลอย ลักณะวิสิฏฐ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)