Haijai.com


แพ้ยา อาการแพ้ยา


 
เปิดอ่าน 1840

แพ้ยา

 

 

การแพ้ยาเป็นการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อยา ยาสมุนไพร หรือสารแคมีที่ร่างกายได้รับ โดยร่างกายจะรับรู้ว่ายาหรือสารเคมีนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำอันตรายต่อร่างกาย คล้ายกับเชื้อโรค จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านและการอักเสบขึ้น ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงต่างๆ มากมาย เช่น ผื่นขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีไข้ เป็นต้น โดยอาจมีอาการรุนแรงได้มากถึงขั้นเกิดภาวะแพ้ยาชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) จนเกิดอาการช็อค ซึ่งถือเป็นภาวะเร่งด่วนและอันตรายถึงชีวิต

 

 

อาการแพ้ยา

 

อาการแพ้ยามักเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับยา มีจำนวนน้อยที่อาการจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับยาไปแล้วหลายชั่วโมง หรือเป็นวัน เป็นสัปดาห์ ตัวอย่างลักษณะอาการแพ้ยาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เกิดผื่นที่ผิวหนังลักษณะคล้ายลมพิษ มีอาการคัน มีไข้ บวมตามเยื่อบุผิวต่างๆ หรือแขนขา หายใจหอบ หายใจมีเสียงหวีด มีอาการน้ำมูกหรือน้ำตาไหล เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ยังมี “ภาวะแพ้ยาชนิดรุนแรง” เป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิต เพราะเป็นการแพ้ยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงของระบบต่างๆ ของร่างกาย อาการต้องสงสัยว่าเป็นการแพ้ชนิดรุนแรง คือ หายใจติดขัดแน่นหน้าอกหรือลำคอ คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้อง ท้องเสีย เวียนศีรษะ ชีพจรเต้นเบาและเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตลดลง ชักเกร็ง หรือหมดสติ เป็นต้น ดังนั้นหลังจากได้รับยาแล้ว หากพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการของภาวะแพ้ยาชนิดรุนแรง ให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วนนะครับ

 

 

ความเสี่ยงต่อการแพ้ยา

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ยา ได้แก่ มีประวัติโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น แพ้อาหารหรือสารเคมีบางชนิด มีประวัติการแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งในอดีต คนในครอบครัวมีประวัติแพ้ยา หรือมีประวัติการเพิ่มขนาดยาที่ใช้หรือเพิ่มระยะเวลาในการใช้ยายาวนานขึ้น

 

 

พบแพทย์เมื่อแพ้ยา

 

การเตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ยาต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะช่วยให้วินิจฉัยการแพ้ยาเป็นไปได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะนำมาด้วยการรักษาที่ถูกต้องต่อไปครับ

 

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้เป็นมานานเท่าใด (ควรให้คำตอบที่จำเพาะมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)

 

ช่วงที่ผ่านมามีการใช้ยาชนิดใหม่หรือไม่ และเริ่มใช้เมื่อใด หรือมีการหยุดยาตัวใหม่ที่ใช่หรือไม่

 

ใช้ยาหรือสารเคมีอื่นใดร่วมกับยาที่ใช้เป็นประจำหรือไม่

 

ใช้ยาสมุนไพร ยาบำรุง วิตามิน หรือเกลือแร่ อาหารเสริมชนิดใดหรือไม่ และรับประทานยาหรือสารเคมีดังกล่าวในเวลาใดของวัน

 

มีการปรับเพิ่มขนาดยาหรือจำนวนครั้งของการใช้ยาเองหรือไม่

 

เคยรับประทานยาชนิดนี้มาก่อนหรือไม่ และเกิดอาการผิดปกติใดบ้างหรือไม่

 

คนในครอบครัวมีประวัติแพ้ยาหรือไม่

 

ควรนำยาที่สงสัย หรือถ่ายรูปความผิดปกติตั้งแต่แรกๆ เช่น ลักษณะผื่นที่เกิด ให้แพทย์ที่ทำการรักษาดูด้วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค

 

 

อย่างไรก็ตามควรมีความเข้าใจว่า การเกิดผลข้างเคียงจากยานั้นไม่ใช่การแพ้ยาเสมอไปนะครับ โดยส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงของยามักมีการเขียนบรรยายไว้อย่างละเอียดในฉลากยาอยู่แล้ว ฉะนั้นหากไม่แน่ใจว่าเป็นการแพ้ยาจริงหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรจะดีที่สุดครับ

 

 

ตัวอย่างยาที่พบว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย

 

ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเพนนิซิลิน

 

ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs)

 

ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง

 

ยาสำหรับโรคภูมิคุ้มกันไวกว่าปกติ เช่น โรคไข้ข้ออักเสบ

 

ครีมหรือโลชั่นที่มีสารสเตียรอยด์

 

ยาต้านไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์

 

 

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล

อายุรแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)