Haijai.com


ตรวจจับต้อหินเรื้อรังโรคต้อหินภายในดวงตา


 
เปิดอ่าน 5470

ตรวจจับต้อหินเรื้อรังโรคต้อหินภายในดวงตา

 

 

โรคต้อหิน เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำภายในลูกตา ทำให้ของเหลวในลูกตาไม่สามารถระบายผ่านไปได้ จนเกิดเป็นแรงดันขึ้นมา การเกิดความดันสูงขึ้นภายในลูกตา ทำให้เส้นประสาทตาเสื่อม และเป็นสาเหตุให้สูญเสียการมองเห็นได้ ยิ่งความดันภายในลูกตาสูงขึ้นมากเท่าไหร่ เส้นประสาทตาจะเสื่อมมากขึ้นเท่านั้น

 

 

จากผลสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ.2550 พบว่าสาเหตุที่ทำให้คนไทยตาบอดนั้น ส่วนใหญ่มาจากโรคต้อกระจกถึงร้อยละ 56.6 โรคต้อหินร้อยละ 10.41 และโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุร้อยละ 3.88 สำหรับโรคต้อกระจกแม้ว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ถ้าเรามีจำนวนจักษุแพทย์ที่เพียงพอ พร้อมกับมีการบริหารจัดการที่ดี ก็สามารถช่วยผ่าตัดรักษาผู้ป่วยให้กลับมามีสายตาเป็นปกติดังเดิมได้ ต่างจากต้อหิน

 

 

สำหรับโรคต้อหินถึงแม้จะเป็นสาเหตุสำคัญรองลงมา แต่เป็นโรคที่รุนแรงกว่า หากรักษาไม่ทันการณ์ สุดท้ายแม้จะทำการผ่าตัดก็ไม่สามารถฟื้นสายตาให้กลับมาเป็นปกติได้อีก จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่บุคลากรทางการแพทย์ ควรให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้พวกเขาได้รับการตรวจคัดกรอง และได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

 

 

การตรวจต้อหิน

 

นอกจากการตรวจตาโดยทั่วไปแล้ว ยังต้องเน้นถึงการตรวจวิธีอื่นๆ ดังต่อไปนี้

 

 

 การวัดความดันลูกตา ด้วยเครื่องมือวัดที่เรียกว่า โทโนมิเตอร์ (Tonometer) ปัจจุบันมีทั้งเครื่องที่ต้องสัมผัสกระจกตา กับเครื่องที่ไม่ต้องสัมผัสกระจกตาที่เรียกว่า Pnemotonometer โดยปกติค่าความดันลูกตา อาจเปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง ค่าที่วัดได้จึงอาจไม่คงที่ แต่ต่างกันไม่เกิน 6 มม. ปรอท ค่าความดันลูกตาอาจสูงขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ช่วงหลังจากการออกกำลังกาย หลังจากเล่นโยคะในท่าเอาศีรษะต่ำลง หรือแม้แต่การดื่มน้ำครั้งละมากๆ ทันทีก็สามารถเพิ่มความดันลูกตาได้ ซึ่งการวัดความดันลูกตาควรทำทุกครั้งที่มาตรวจ เนื่องจากเป็นวิธีการวัดที่บอกได้ชัดเจนกว่าวิธีอื่น

 

 

โรคต้อหิน หากรักษาไม่ทันการณ์ สุดท้ายแม้จะทำการผ่าตัดก็ไม่สามารถฟื้นสายตา ให้กลับมาเป็นปกติได้อีก จึงควรรับการตรวจคัดกรองและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

 

 

 การตรวจขั้วประสาทตา ด้วยกล้องตรวจภายในลูกตา ออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscope) ความผิดปกติของขั้วประสาทตาในโรคต้อหินอยู่ที่หลุมตรงกลางขั้ว ที่เรียกกันว่า cupping ซึ่งมีค่าปกติอยู่ในขนาดน้อยกว่า 0.5 ของขนาดขั้วประสาทตา โดยบันทึกขนาดของหลุมนี้ เปรียบเทียบกับขนาดก่อนทำการรักษา หรือเปรียบเทียบกับการตรวจในครั้งก่อน หากหลุมนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น แสดงว่ายังทำการรักษาไม่ดีพอ การเพิ่มความแม่นยำในการดูแลขนาดหลุมดังกล่าว อาจใช้วิธีถ่ายภาพขั้วประสาทตาแล้วบันทึกไว้ การตรวจขั้วประสาทนี้ ควรทำการตรวจเป็นระยะๆ หากความดันลูกตายังควบคุมได้ไม่ดี ควรทำการตรวจบ่อยๆ

 

 

 การตรวจลานสายตา เนื่องจากโรคต้อหินจะมีการสูญเสียลานสายตาบางบริเวณที่เฉพาะเจาะจง ต่างจากการเสียของลานสายตาในโรคอื่น ปัจจุบันมีการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องมืออัตโนมัติที่เรียกว่า เพอริมิเตอร์ (Computerized perimeter) ซึ่งตรวจได้ละเอียดเป็นมาตรฐาน และสามารถตรวจซ้ำได้ และได้ค่าที่คงที่ แม้ว่าการตรวจยังต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอยู่ก็ตาม ความผิดปกติของลานสายตา มักจะไปด้วยกันกับความผิดปกติของขนาด cupping ในขั้นประสาทตา กล่าวคือ ถ้ามีหลุมขนาดใหญ่ขึ้นในขั้วประสาทตา คนๆ นั้น มักจะสูญเสียลานสายตามากตามไปด้วย การตรวจลานสายตาถ้าเป็นไปได้ควรตรวจทุก 2 เดือน

 

 

 การดูมุมตาด้วยเครื่องมือโกนิโอสโคป (Gonioscope) เป็นการตรวจพิเศษ เพื่อดูมุมที่เกิดขึ้นระหว่างกระจกตาจรดกับม่านตา เพื่อแยกชนิดของต้อหินว่าเป็นชนิดมุมเปิดหรือมุมปิด

 

 

การตรวจใน 4 ข้อข้างต้น เป็นสิ่งที่ต้องทำในการวินิจฉัยโรคต้อหินเรื้อรัง โดยคนที่เป็นโรคนี้ ต้องมีความผิดปกติทั้ง 3 ข้อแรก แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติไม่ครบทั้ง 3 อย่าง เช่น ความดันตาสูงอย่างเดียว อาจเรียกว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะความดันตาสูง (Ocular hypertension) หรือถ้ามีหลุมในขั้วประสาทตาใหญ่กว่าปกติยอย่างเดียว อาจเกิดขึ้นได้ในคนปกติ ซึ่งมักจะถูกบันทึกไว้ว่าเป็น Physiologic large cup โดยทั้ง 2 สภาวะนี้ ยังไม่จัดว่าเป็นโรคต้อหิน แต่อย่างไรก็ตาม ควรติดตามผู้ป่วยเหล่านี้เป็นระยะๆ หากตรวจพบว่ามีความผิดปกติทั้ง 3 ข้อข้างต้นในครั้งถัดมา แสดงว่าผู้ป่วยเริ่มที่จะเป็นโรคต้อหิน

 

 

ในปัจจุบันมีวิวัฒนาการการตรวจวินิจฉัยโรคต้อหิน ให้ได้ความละเอียดแม่นยำและจับต้องได้มากขึ้นด้วยเครื่องมือต่างๆ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการตรวจที่จำเป็นหรือต้องทำ เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้มีราคาแพง และไม่ได้มีในทุกแห่งของสถานพยาบาล จึงถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการตรวจรักษาเท่านั้น ได้แก่

 

 

 เครื่องมือวัดออพตคอลโคฮีเรนโทโมกราฟ (Optical coherence tomography) เรียกกันง่ายๆ ว่า OCT โดยวิธีการยิงคลื่นแสงยาวขนาดใกล้เคียงแสงอินฟาเรดเข้าไปภายในตา และแสดงภาพขนาดขั้วประสาทตาแบบ 3 มิติออกมา ซึ่งภาพที่ได้จะมีความละเอียดมาก สามารถบอกได้ถึงจำนวนเส้นประสาท (Retinal nerve fiber) ที่มาจากจอประสาทตาทั้งหมดมารวมกันที่ขั้วประสาทตา และยังบอกได้ถึงความหนาของเส้นประสาทตา ขนาดของหลุมในขั้วประสาทตา คนที่เป็นโรคต้อหินรุนแรงเส้นประสาทตา จะถูกทำลายมาก ภาพที่ได้จะเห็นเส้นประสาทตาเบาบางลง เมื่อเทียบกับค่าปกติที่ควรจะเป็น

 

 

 เครื่องวัดความหนาของกระจกตาที่เรียกกันว่า Corneal Pachymetry เป็นการวัดความหนาของกระจกตา เนื่องจากการวัดความดันตา อาจไม่แม่นยำในความหนาของกระจกตาที่แตกต่างกัน การวัดความหนาของกระจกตาสามารถนำมาประเมินค่าความดันตาที่วัดได้ โดยเฉลี่ยถ้ากระจกตามีความหนามักจะวัดได้ค่าความดันลูกตามากเกินความเป็นจริง ในทางตรงข้ามถ้ากระจกตาบางมักจะวัดความดันลูกตาได้น้อยกว่าค่าความเป็นจริง โดยถ้าพบความหนาของกระจกตาต่างไปจากขนาด 525 ไมครอน จำนวน 40 ไมครอน เทียบได้ว่าค่าความดันตาจะเปลี่ยนแปลงไป 1-3 มม.ปรอท

 

 

 เครื่องมือ Ultrasound biomicroscopy (UBM) เป็นการใช้อัลตราซาวนด์ด้วย probe ขนาด 50 MHz เพื่อตรวจดูลูกตาส่วนหน้า ซึ่งดูได้ลึกถึง 4 มม. ครอบคลุมเนื้อเยื่อตั้งแต่กระจกตา ช่องหน้าลูกตา ม่านตา ช่องหลังลูกตา ตลอดจนถึงผิวหน้าของแก้วตา เห็นไปจนถึงเนื้อเยื่อในตาที่เรียกว่า ciliary body ซึ่งถูกบังอยู่หลังม่านตา สามารถมองเห็นถึงลักษณะของม่านตา ตำแหน่งของแก้วตา เครื่องมือนี้ ทำให้สามารถอธิบายกลไกการเกิดโรคต้อหินมุมปิด ซึ่งมีกลไกการเกิดหลายอย่างได้

 

 

เพื่อประสิทธิภาพในการมองเห็น อย่าลืมไปตรวจตา เฝ้าระวังโรคต้อหินกันแต่เนิ่นๆ นะคะ

 

 

ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

จักษุแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)