
© 2017 Copyright - Haijai.com
ท้องต้องระวังไทรอยด์
โรคประจำตัวหลายชนิดต้องดูแลให้ดีเมื่อตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ส่วน “ไทรอยด์” ก็เป็นโรคสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีผลต่อตัวคุณแม่เองแล้ว ยังอาจมีอันตรายต่อลูกน้อยด้วย ดังนั้นใครที่เป็นไทรอยด์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือมารู้ตัวเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ก็ต้องเข้มงวดในการตรวจสุขภาพและติดตามรักษากับคุณหมออย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ
พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 0.5-1 เป็นโรคของต่อมไทรอยด์ โดยพบเป็นทั้ง “ไฮเปอร์ไทรอยด์” คือ ภาวะที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายสูงเกินไป และ “ไฮโปไทรอยด์” คือ ภาวะที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำเกินไป ซึ่งทั้งสองโรคนี้ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ จนแสดงอาการออกมาต่างๆ
ตั้งครรภ์สัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์
การตั้งครรภ์และการทำงานของต่อมไทรอยด์มีความสัมพันธ์ คือ การตั้งครรภ์ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีขนาดโตขึ้นปานกลาง ซึ่งเป็นผลจากการแบ่งเซลล์ที่เพิ่มมากขึ้น และมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นในรายที่ต่อมไทรอยด์โตมาก หรือเป็นก้อนชัดเจนถือว่าเป็นโรคและต้องหาสาเหตุ นอกจากนี้ต่อมไทรอยด์จะทำงานมากขึ้น เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะมีการขับถ่ายไอโอดีนทางปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ระดับไอโอดีนในเลือดลดลง ต่อมไทรอยด์จึงต้องทำงานโดยจับไอโอดีนจากเลือดมากขึ้น เพื่อมาสร้างฮอร์โมนให้เพียงพอ
ขณะตั้งครรภ์การแปลผลเลือดและการวินิจฉัยโรคของต่อมไทรอยด์จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ของมารดาและทารกในครรภ์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัด ยาที่ใช้รักษามารดาจะผ่านไปสู่ทารก และมีผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกได้ ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดการแท้ง ทารกตายคลอด ทารกคลอดก่อนกำหนด ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์แล้วไม่ได้รักษาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจวายได้ง่าย เป็นผลจากการกระตุ้นของฮอร์โมนโดยตรง นอกจากนี้โรคของต่อมไทรอยด์บางโรคจะมีการกำเริบรุนแรงขึ้นภายหลังคลอดด้วย
ในหญิงตั้งครรภ์ปกติมีลักษณะที่คล้ายไฮเปอร์ไทรอยด์ เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ผิวหนังชื้น อุ่น เหงื่อออกมาก ตื่นเต้นตกใจง่าย เส้นเลือดที่ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น การแยกให้ชัดเจนว่าจะเป็นโรคหรือไม่ จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจ
เรื่องควรรู้ในการรักษา
• การใช้ยาต้านฮอร์โมนไทรอยด์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าให้ขนาดสูงเกินไปยาจะผ่านไปสู่ทารก ทำให้กดการทำงานของต่อมไทรอยด์ในทารก เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (hypothyroidism) ได้ ยาบางตัวยังมีผลทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด จึงไม่ควรให้ในช่วงที่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก นอกจากนี้ยังต้องระวังภาวะแทรกซ้อนของยา ที่พบบ่อย คือ ผื่นแดง คัน ไข้ เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน เม็ดเลือดขาวต่ำ ตับอักเสบ
• การผ่าตัดทำเมื่อมีข้อบ่งชี้คือไม่สามารถควบคุมอาการของโรคด้วยยาได้ เกิดผลข้างเคียงของการใช้ยาสูงมาก หรือไม่สามารถรับประทานยาได้สม่ำเสมอ แต่ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนคือ อาจเกิดไฮโปไทรอยด์ได้ ถ้าผ่าตัดเนื้อต่อมออกมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีโอกาสตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วย หรือเกิดอันตรายต่อเส้นประสาทใกล้เคียงการผ่าตัดขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการดมยาสลบและจากการผ่าตัดเอง จึงไม่ควรทำในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพราะจะเกิดการแท้งได้สูง และไม่ควรทำช่วงใกล้คลอด เพราะอาจเกิดการคลอดก่อนกำหนด
Thyroid storm ภาวะอันตราย
Thyroid storm เป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิต มักเกิดเมื่อมีสาเหตุกระตุ้น เช่น เจ็บครรภ์ การผ่าตัดคลอด การติดเชื้อ ครรภ์เป็นพิษหรือโลหิตจาง พบบ่อยในผู้ที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ดี อาการจะมีไข้สูงมาก ชีพจรเต้นเร็ว อ่อนเพลีย ขาดน้ำอย่างรุนแรง และเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 25 ในรายที่ควบคุมโรคได้ดีและอยู่ในภาวะปกติจะไม่เพิ่มอันตราย และภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดแต่อย่างใด ในรายที่ควบคุมไม่ดี หรือไม่ได้รักษามาก่อน ต้องให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด
ผลของไฮเปอร์ไทรอยด์ต่อทารก
การให้นมบุตรในมารดาที่รับประทานยาต้านไทรอยด์ ยาจะถูกขับออกทางน้ำนมได้ค่อนข้างน้อย และแทบจะไม่มีผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกที่ดูดนมเลย ดังนั้น ในรายที่ต้องการให้นมบุตรก็สามารถให้ได้ แต่ควรเฝ้าติดตามการทำงานของต่อมไทรอยด์ของทารกด้วย นอกจากนี้ทารกมีโอกาสเกิดไฮเปอร์ไทรอยด์ได้ ซึ่งเป็นผลจากภูมิต้านทานของมารดาที่ผ่านมาทางรก ทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์จะต้องติดตามใกล้ชิดว่า มีอาการโรค เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ไข้ หัวใจวาย น้ำหนักขึ้นน้อย เลี้ยงไม่ค่อยโต ซึ่งต้องให้การรักษาทันที ต้องตรวจระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์เมื่อแรกคลอด
ผลของไฮโปไทรอยด์ต่อทารก
ไฮโปไทรอยด์ คือ ภาวะที่มีฮอร์โมนต่ำเกินไป ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ แต่โรคนี้พบค่อนข้างน้อยประมาณร้อยละ 0.2-0.3 เพราะส่วนใหญ่คนที่เป็นไฮโปไทรอยด์จะมีบุตรยาก เนื่องจากไม่มีการตกไข่ และถึงแม้จะสามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อยู่พอสมควร ได้แก่ มีโอกาสครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด และหัวใจวายสูงขึ้น แท้งบุตร และทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย โอกาสทารกตายคลอดเพิ่มขึ้น ทารกมีความพิการแต่กำเนิดและพัฒนาการช้า ทารกอาจเป็นไฮโปไทรอยด์และปัญญาอ่อนได้
ผู้ที่เป็นไฮโปรไทรอยด์จะมีอาการหนาวง่าย ท้องผูก ผิวหนังแห้ง ตัวเย็น ผมหรือขนหยาบ ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ชีพจรเต้นช้า แต่ในบางครั้งหญิงตั้งครรภ์ปกติก็มีอาการคล้ายๆ กัน ทำให้วินิจฉัยได้ยาก อาการชาตามตัวเป็นอาการนำอย่างแรกที่พบได้ประมาณร้อยละ 75 ซึ่งการตรวจเลือดจะช่วยวินิจฉัยได้
สาเหตุของการเกิดไฮโปไทรอยด์ที่พบบ่อยคือ เกิดหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก หรือรับประทานสารกัมมันตรังสีเพื่อรักษาภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ กรณีอื่นๆ อาจเกิดจากมีภูมิต้านทานต่อต่อมไทรอยด์ ทำให้เกิดการฝ่อลงของต่อมไทรอยด์ และพบว่าร้อยละ 20 ของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน อาจเป็นไฮโปไทรอยด์ร่วมด้วย
ในประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเกิดจากการขาดไอโอดีน หรือเรียกว่าเป็นโรคคอพอก จะมีต่อมไทรอยด์โต เมื่อตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำในกระแสเลือด ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทของทารกในครรภ์ ทำให้เกิดมาปัญญาอ่อนได้ เรียกว่า cretinism หรือ เด็ก “เอ๋อ” หากตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ และให้การรักษาทันทีตั้งแต่อายุครรภ์ในไตรมาสแรก ของไตรมาสที่ 2 จะช่วยลดภาวะปัญญาอ่อนลงได้จากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 2 ส่วนการรักษาทารกแรกคลอดทันทีจะได้ผลดี ทำให้เด็กมีพัฒนาการและสติปัญญาปกติได้
ถ้าเป็นโรคของต่อมไทรอยด์และต้องการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจเลือดอย่างละเอียด และตรวจสุขภาพทารกในครรภ์เป็นระยะๆ โดยทั่วไปถ้าควบคุมโรคได้ดีตลอด ฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ มาติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ก็จะสามารถตั้งครรภ์และคลอดได้อย่างปลอดภัยค่ะ
รศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ
สูตินรีแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)