© 2017 Copyright - Haijai.com
สาเหตุไทรอยด์เป็นพิษ ไฮเปอร์ไทรอยด์
ไทรอยด์เป็นพิษ
คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือเปล่า? หงุดหงิด อ่อนเพลีย ขี้ร้อน หิวบ่อย กินเยอะแต่น้ำหนักลด ถ้าใช่ขอให้สงสัยว่าคุณกำลังถูก “โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ” เล่นงาน
“ต่อมไทรอยด์” เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ในเด็กฮอร์โมนไทรอยด์จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองและระดับสติปัญญา ต่อมไทรอยด์จะมีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อวางอยู่ 2 ข้างของกล่องเสียงที่บริเวณคอด้านหน้า โดยแต่ละข้างจะมีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 เซนติเมตร
สาเหตุไทรอยด์เป็นพิษ
ไทรอยด์เป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์ คือ การที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ จึงผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินความควบคุมของร่างกาย มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 9-10 เท่า โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-40 ปี โดยสาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ อาจเกิดจากหลายสาเหตุดังนี้
• ไทรอยด์เป็นพิษชนิด Graves’ disease เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำงานผิดปกติ (autoimmune disease) ทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานต่อมไทรอยด์มากผิดปกต
• เนื้องอกของไทรอยด์ที่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ อาจเป็นทั้งชนิดก้อนเดี่ยว (toxic nodular goiter) หรือหลายก้อน (toxic multi nodular goiter)
• การอักเสบของต่อมไทรอยด์ (thyroiditis) ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย หรือจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานผิดปกติ
อาการ
ปกติฮอร์โมนไทรอยด์จะทำงานในหลายระบบ ทั้งระบบประสาท ระบบประสาทอัตโนมัติ กล้ามเนื้อ ระบบหัวใจ ทางเดินอาหาร และระบบสืบพันธุ์ ดังนั้น อาการและอาการแสดงของไทรอยด์เป็นพิษจึงมักมีอาการมากกว่า 1 ระบบร่วมกัน ส่วนความรุนแรงของอาการมักสัมพันธ์กับระยะเวลาที่เริ่มเป็นโรค และอายุของผู้ป่วย ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่
• เหนื่อยง่าย ใจสั่น อ่อนเพลีย
• รับประทานอาหารจุ แต่น้ำหนักตัวลด
• ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย หงุดหงิดง่าย
• กล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ต้นขาอ่อนแรง
• มือสั่น
• คอโตมากกว่าปกติ
• ในผู้หญิงอาจพบประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติได้
• ในบางรายอาจมีตาโปนโตกว่าปกติ
ผู้ป่วยที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจจะส่งผลให้มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจโต หรือเกิดโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าคนปกติ
การวินิจฉัย
โดยปกติแพทย์ผู้รักษาจะวินิจฉัยด้วยการชักประวัติตรวจร่างกาย และตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายด้วยการตรวจเลือด และสามารถพิจารณารักษาตามระดับความผิดปกติของฮอร์โมนที่ตรวจพบ แต่ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การวัดการดูดกลืนแร่ไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ เช่น ในกรณีที่การซักประวัติและผลการตรวจร่างกายมีอาการคล้ายไทรอยด์อักเสบ โดยในกลุ่มนี้ต่อมไทรอยด์มักมีการดูดกลืนแร่ต่ำ ต่างจากไทรอยด์เป็นพิษทั่วไป และจะมีการรักษาที่แตกต่างออกไป
การรักษา
การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษมีด้วยกันหลายวิธี ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของผู้ป่วย ขนาดของต่อมไทรอยด์ ระยะเวลาที่เป็นโรค และคามรุนแรงของอาการ โดยวิธีการรักษาอาจแบ่งได้เป็น
• การรักษาด้วยยา ซึ่งเป็นวิธีหลักและได้รับความนิยมค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย (น้อยกว่า 30 ปี) เป็นมาไม่นาน (น้อยกว่า 6 เดือน) และต่อมไทรอยด์มีขนาดไม่ใหญ่มาก
• การกลืนแร่ไอโอดี (ไอโอดีน 131) แพทย์ผู้รักษามักพิจารณาวิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุมาก มีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง หรือกลับมาเป็นโรคซ้ำภายหลังการรักษาด้วยยา หรือแพ้ยาต้านไทรอยด์
• การผ่าตัด แพทย์ผู้รักษาอาจจะพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างรุนแรง และต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมาก หรือกลุ่มที่แพ้ยาต้านไทรอยด์
การดูแลและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
โดยปกติการรักษาไทรอยด์ด้วยยา จะใช้เวลาในการรักษาต่อเนื่องประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี โดยระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอและตรงเวลา เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมโรค เพราะการรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ อาจทำให้เกิดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้ง่ายกว่าปกติ และอาจทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงยากต่อการควบคุม
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่จะป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น หากพบอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและให้การดูแลที่เหมาะสม
ผศ.พญ.รัชนีวรรณ ขวัญเจริญ
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อและเมาบอลิสม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)