Haijai.com


ปวด(เกร็ง)ท้อง จากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ


 
เปิดอ่าน 23638

ปวด(เกร็ง)ท้อง จากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

 

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีกระเพาะปัสสาวะที่สั้นกว่า เชื้อโรคจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยในผู้ที่ดื่มน้ำน้อยและผู้ที่กลั้นปัสสาวะเป็นประจำ เพราะการที่มีปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อแบคทีเรียเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการติดเชื้อได้ในที่สุด

 

 

จะเห็นได้ว่าหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มักประสบกับปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบก็คือ “คนวัยทำงาน” ที่จดจ่ออยู่กับงานจนไม่ยอมลุกไปเข้าห้องน้ำ หรืออีกหลายๆ อาชีพที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา รวมทั้งคนที่ติดอยู่บนท้องถนนเป็นประจำ เป็นเหตุให้ต้องกลั้นปัสสาวะอยู่บ่อยๆ ซึ่งโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนี้ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่โรคกรวยไตอักเสบได้นั่นเอง

 

 

อาการต้องสงสัย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

โดยกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นมีได้หลายอาการได้แก่

 

 ปวดบริเวณท้องน้อย

 

 ปัสสาวะไม่สุด

 

 ปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะ

 

 ปวดปัสสาวะแต่ไม่สามารถปัสสาวะออกมาได้

 

 ปัสสาวะเป็นสีแดงจางๆ จนถึงสีแดงเข้ม

 

 ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือเป็นหนอง

 

 

ในกรณีที่การติดเชื้อรุนแรงและลุกลามไปที่กรวยไต ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้สูงหนาวสั่น และอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น

 

 

แนวทางการรักษา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้ว แพทย์จะเริ่มรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทาน 7-10 วัน หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจจะเปลี่ยนเป็นยาฆ่าเชื้อชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดแทน ในบางรายอาจจะมีอาการปวดเกร็ง ปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อยร่วมด้วย

 

 

“สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวดและยาที่มีฤทธิ์ลดการหดเกร็งตัวของกระเพาะปัสสาวะที่มีตัวยาสำคัญ คือ Hyoscine-N-butylbromide (HBB) ซึ่งจะไปทำหน้าที่ช่วยลดอาการปวดเกร็งท้องที่เกิดตามหลังการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ดี”

 

 

และยังสามารถรับประทานยานี้ควบคู่กับยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้ปวดได้ตามปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้

 

 

ปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยง

 

 ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่าให้ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ยกเว้นในผู้ที่มีโรคหัวใจหรือโรคไตที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำ

 

 ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ควรเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ

 

 ในกรณีที่ต้องเดินทาง ควรเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทาง

 

 

ถ้าได้ปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่ยังเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอยู่บ่อยๆ อาจจะมีสาเหตุอื่นๆ ซ่อนอยู่ เช่น นิ่ว เนื้องอก หรือความผิดปกติอื่นๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

 

 

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)