Haijai.com


ใช้ยาลดความดันโลหิต เสี่ยงไตวายแทรกซ้อน


 
เปิดอ่าน 1260

ความดันลดฯ ดีต่อการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน?

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก คือ “ความดันโลหิตสูง” ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแตกส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรง และเปราะแตกง่าย ร่วมกับการที่ร่างกายมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน ย่อมทำให้หลอดเลือดแตกง่ายยิ่งขึ้น ส่งผลให้เลือดคั่งกดเบียดเนื้อสมอง เกิดความผิดปกติในการสั่งงานของสมองตามมา เช่น ซึม หมดสติ แขนขาอ่อนแรง โดยปกติแพทย์จะพิจารณาใช้การผ่าตัด เพื่อเอาเลือดที่คั่งอยู่ในโพรงสมองออก รวมทั้งควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงมากเกินไป เพื่อไม่ให้มีเลือดออกเพิ่มเติม อย่างไรก็ดีการลดความดันโลหิตหลังจากหลอดเลือดสมองแตกที่มากจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย

 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ร่างกายอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการลดความดันโลหิต หลังจากมีเลือดออกในสมอง ซ้ำร้ายความดันโลหิตที่ถูกควบคุมให้ต่ำมากจนเกินไป อาจส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้ไตวายเฉียบพลัน หลังจากมีเลือดออกในสมองได้อีกด้วย งานวิจัยนี้ศึกษาผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกไม่ได้ให้ยาลดความดันโลหิตมากนัก ส่วนกลุ่มที่สองใช้ยาลดความดันโลหิตอย่างมาก พบว่าผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มฟื้นตัวได้ไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มที่ได้รับยาลดความดันโลหิตอย่างมากนั้น ผู้ป่วยมีภาวะไตวายแทรกซ้อนเกิดขึ้น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)