© 2017 Copyright - Haijai.com
ปรอทจากการอุดฟันอันตราย?
“อะมัลกัมมีพิษจริงหรือ?” ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง เนื่องจากมีแพทย์ทางเลือกบางสาขาระบุชัดเลยว่าวัสดุอุดฟันสีเงิน หรือที่เรียกว่า “อะมัลกัม” ทำให้เกิดโลหะหนักสะสมในร่างกาย เป็นพิษและทำให้เกิดโรค ต้องกำจัดออก ในขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่า แม้จะมีส่วนประกอบของปรอทในช่วงแรกของการผสมโลหะ แต่เมื่อปรอทผสมกับโลหะจนกลายเป็นอะมัลกัมแล้ว ปรอทจะก่อพันธะทางเคมีอย่างสมบูรณ์ ทำให้อยู่ในรูปคงตัว เสถียรจนไม่ปลดปล่อยพิษออกมา ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีงานวิจัยประกอบ หมอจุ้มจิ้มจึงอยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุอุดฟันชนิดนี้ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งหมอได้ศึกษามาให้ทุกท่านได้อ่านเป็นความรู้กันค่ะ
ปรอท เป็นโลหะหนักสีเงิน มีความหนาแน่นสูง ไม่ดึงดูดกับแม่เหล็ก และเป็นธาตุโลหะชนิดเดียวที่เป็นของเหลวในที่อุณหภูมิและความดันมาตรฐาน มักถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์การถ่ายรูป เยื่อกระดาษ เป็นต้น
การเกิดพิษจากปรอทมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากการกลืนกินสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้อยู่ที่ประมาณ 0.02 กรัมการเกิดพิษจากปรอทมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากการกลืนกินสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้อยู่ที่ประมาณ 0.02 กรัม
ในเมื่อปรอทมีพิษต่อร่างกายขนาดนี้ ดังนั้น ตั้งแต่อะมัลกัมถูกค้นพบในปี ค.ศ.1800 จึงมีการถกเถียงกันถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้มาโดยตลอด ด้วยกลัวว่าการใช้อะมัลกัมอุดฟัน รื้อออกจากฟัน หรือเวลาเคี้ยวอาหารปรอทในอะมัลกัมจะระเหยออกมาด้วย และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
จากการศึกษาทางทันตกรรมพบว่า โลหะปรอทในอะมัลกัมอาจเข้าสู่ร่างกายได้ในขั้นตอนการอุดฟัน หรือการรื้อเอาอะมัลกัมที่มีอยู่แล้วออก ซึ่งทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปรอทในอะมัลกัมที่ระเหยออกมา ระหว่างการอุดฟันหรือรื้อวัสดุอุด พบว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด ในขณะที่มีการศึกษาในอีกหลายประเทศพบว่า อะมัลกัมเป็นสาเหตุของหลายๆ อาการป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้บางประเทศ เช่น นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก จึงมีคำสั่งห้ามใช้อะมัลกัมในการรักษาผู้ป่วย
จากข้อมูลทางเภสัชวิทยา โลหะปรอทไม่ได้คงอยู่ในร่างกายอย่างถาวร แต่จะถูกขับออกจากร่างกายและเหลือปริมาณเพียงครึ่งหนึ่งในระยะเวลา 55 วัน ดังนั้น หากได้รับโลหะปรอทเมื่อปีที่แล้ว อาจจะไม่มีโลหะปรอทคงเหลืออยู่ในตัวเราอีกเลยก็เป็นได้
ส่วนข้อมูลความเป็นพิษของวัสดุอุดฟันอะมัลกัม ซึ่งแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลนี้อย่างแพร่หลาย โดยอ้างถึงงานวิจัยที่รายงานว่า ปัญหาสุขภาพเรื้อรังมากมายที่หาสาเหตุไม่พบ น่าจะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสารปรอทที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ทุกวัน จากวัสดุที่อุดฟัน เช่น ภาวะภูมิแพ้ที่หาสเหตุไม่เจอ ซึ่งน่าจะพบได้บ่อยสุด
ส่วนปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคหอบ หืด โรคภูมิแพ้ตัวเอง ก็เป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากสารปรอทที่อยู่ในฟันเรามานาน เพราะปรอทเมื่อไปเกาะติดกับเม็ดเลือดจะทำให้ภาวะภูมิต้านทานลดลง จนแม้กระทั่งตัวเองก็ยังแพ้ ทำงานแปรปรวนกันไปหมด กล่าวคือ แพทย์ทางเลือกสาขานี้สรุปว่า ปัญหาสุขภาพเรื้อรังหลายอย่างที่หาสาเหตุไม่เจอด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน อาจเป็นไปได้ว่ามีผลมาจากโลหะหนัก หรือสารปรอทที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วร่างกายเรานั่นเอง
แต่สิ่งที่หมอจุ้มจิ้มอยากจะให้พิจารณาเพิ่มเติมคือ มีการศึกษาแน่นอนแล้วว่าปรอทส่วนเกิน จะระเหยออกมาได้ในกระบวนการรักษาทางทันตกรรม 2 ช่วง คือ ระหว่างการอุดที่วัสดุยังไม่แข็งตัว กับช่วงที่รื้อเอาวัสดุเก่าออก ดังนั้น ใครที่ต้องการเปลี่ยนวัสดุอุดฟัน จึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
เรื่องนี้ยังคงมีความขัดแย้งอยู่มากในวงการทันตกรรม ทันตแพทย์เองก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับทางฝั่งของวงการแพทย์ ข้อมูลทั้งหมดนี้ที่นำมาเสนอ ก็เพื่อให้เป็นความรู้แก่ผู้อ่านทุกคน ประกอบการพิจารณาในการรับข่าวสารข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
ทันตแพทย์สภา, สถาบันทันตกรรม, คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, หนังสือความรู้สิ่งเป็นพิษ ตอนที่ 14 พ.ศ.2543 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หน้าที่ 9-13. ความกหวาดกลัวในพิษของอะมัลกัมในงานทันตกรรม ดร.ประวีณ วยัคฆานนท์
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)