Haijai.com


สมุนไพรหมาน้อย กรุงเขมา หมอน้อย


 
เปิดอ่าน 12841

หมาน้อย หมอน้อย อร่อยเป็นยา

 

 

หมาน้อย เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ชื่อหลักคือ “กรุงเขมา” จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับบอระเพ็ด ประเทศไทยพบในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากสรรพคุณทางยาแล้ว เราสามารถนำหมาน้อยมาปรุงแต่งเป็นอาหารรสอร่อยได้อีกด้วย

 

 

หมาน้อย มีลักษณะเป็นไม้พุ่มแกมเลื้อย ลำต้น คล้ายใบเรียวยาว มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นถึงประปรายถึงเกลี้ยง ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง โคนใบกลม ตัดหรือรูปหัวใจ ปลายใบมนถึงแหลมแกมเรียวแหลม ท้องใบมีขนสั้นนุ่มหรือมีขนประปราย ผิวใบมีขนสั้นนุ่มประปราย หรือมีขนประปราย ก้านใบมีขนสั้นนุ่ม หรือมีขนประปราย ยาว 2-9 เซนติเมตร ยืดยาวจากโคนใบ ดอก ช่อแยกเพศ ออกที่ซอกใบ ผล เมล็ดเดียวแข็ง สีส้มหรือแดง มีขนสั้นนุ่ม ออกดอกเดือน มีนาคม-ธันวาคม และติดผลเดือนเมษายน-มกราคม

 

 

สรรพคุณหมาน้อย

 

 ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.2556 ใช้ ราก เป็นตัวยาตรงสำหรับเป็นยาแก้ไข้

 

 

 เป็นส่วนประกอบในยาประสะกานพลูแก้ปวดท้อง เนื่องจากธาตุไม่ปกติ

 

 

 เป็นส่วนประกอบในยาที่ประสะเจตพังคีแก้จุกเสียด

 

 

ในหมู่หมอยาพื้นบ้านแถบอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ได้นำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้อย่างต่อเนื่อง นานนับพันปีจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่น่าแปลกใจว่าแม้จะอยู่กับคนละทวีปกับประเทศไทย แต่ก็มีการใช้ในสรรพคุณที่เหมือนๆ กันเป็นส่วนใหญ่

 

 

หมาน้อย-หมอน้อย ต่างถิ่นเรียกต่างกัน

 

หมาน้อย

 

 ภาคกลาง เรียกว่า ขงเขมา พระพาย

 

 

 ภาคตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่า ก้นปิด

 

 

 แม่ฮ่องสอน เรียกว่า เปล้าเลือด

 

 

 เพชรบูรณ์ เรียกว่า สีฟัน

 

 

 ร้อยเอ็ด เรียกว่า เถาหมาน้อย

 

 

หมอน้อย

 

 ภาคกลาง เรียกว่า ใบก้นปิด

 

 

 ภาคใต้ เรียกว่า กรุงเขมา

 

 

 

หมาน้อย อร่อยพื้นบ้าน

 

ชาวอีสานจะเรียกต้นหมาน้อยว่า “เครือหมาน้อย” นำมาทำอาหารได้หลายอย่างทั้งของคาวและของหวาน เช่น นำมาปรุงผสมกับน้ำใบย่านางใส่ในป่นกบหรือป่นปลา  หรือนำมาทำเป็นของหวานประเภทวุ้น มักเรียกกันว่า “วุ้นหมาน้อย” เพราะจากการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาพบว่า ใบหมาน้อยมีสารจำพวกเพคติน เมื่อขยำกับน้ำทิ้งไว้สักพักจะแข็งตัวเป็นวุ้น

 

 

วิธีทำคือ เลือกใบเครือหมาน้อยที่โตเต็มที่แล้วประมาณ 10-20 ใบ ล้างใบแล้วนำมาขยี้กับน้ำสะอาด 1 ถ้วย เวลาขยี้ใบจะรู้สึกเป็นเมือกลื่นๆ เมื่อขยี้จนได้ใบสีเขียวเข้มให้กรองเอากากใบเครือหมาน้อยออก คั้นน้ำใบเตยใส่เพิ่มลงไปสักนิด เพื่อให้มีกลิ่นหอม เพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลเล็กน้อย ใส่เกลือนิดหน่อยเพื่อช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น ทิ้งไว้สักพักจะได้วุ้นหมาน้อย รสชาติอร่อยมาก

 

 

สมุนไพรหมาน้อย กรุงเขมา หมอน้อย

 

 

 

เครือหมาน้อยอีกชนิดหนึ่งคือ หมอน้อย ชื่อหลักคือ กรุงบาดาล สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้เช่นกัน วิธีทำคือ เลือกใบหมอน้อยที่แก่จัดลักษณะเป็นใบสีเขียวเข้มประมาณ 30 ใบ มาล้างทำความสะอาด ตั้งทิ้งไว้ให้พอหมาดๆ แล้วขยี้จนเหลือแต่เส้นใบ

 

 

จากนั้นนำใบย่านางที่ล้างทำความสะอาดแล้วประมาณ 10 ใบมาขยี้จนเหลือแต่ก้านใบเช่นกัน นำมาผสมกับน้ำใบหมอน้อย แล้วจึงกรองใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ปล่อยทิ้งไว้สักพัก น้ำหมอน้อยจะเริ่มจับตัวเป็นเจลลี่ และค่อยๆ จับตัวแข็งขึ้นเป็นก้อนวุ้น ให้ใช้มีดตัดเป็นชิ้นเล็กเหมือนลูกเต๋า แช่ไว้ในตู้เย็น เวลารับประทานจึงนำมาผสมกับน้ำเชื่อมและน้ำกะทิ ใส่น้ำแข็งเล็กน้อย เพียงเท่านี้ก็จะได้วุ้นหมอน้อยลอยแก้วไว้รับประทานคลายร้อน

 

 

ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ในคนท้อง

 

 

ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิต ฉั่วกุล

(Some images used under license from Shutterstock.com.)