© 2017 Copyright - Haijai.com
ไวรัสงูสวัด น่ากลัว
เมื่ออายุมากขึ้น ระบบการทำงานต่างๆ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่คอยช่วยรับมือกับเชื้อโรคนั้น ก็เสื่อมสภาพลง แล้วเราสามารถลดความเสี่ยง เพื่อเตรียมไว้ดูแลตัวเองหรือผู้สูงอายุในครอบครัวจากโรคติดเชื้อเหล่านี้ได้อย่างไร
แม้ในปัจจุบันจะมียาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อโรค แต่โรคติดเชื้อก็ยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในผู้สูงอายุ เพราะภูมิคุ้มกันที่ลดลงตามวัย และการแสดงอาการของโรคในผู้สูงอายุดูได้ยากกว่าวัยหนุ่มสาว เช่น เมื่อมีการติดเชื้อในกระแสเลือด แทนที่จะแสดงอาการไข้ ตัวร้อน กลับแสดงเป็นอาการเบื่ออาหาร ซึม พูดเพ้อ ที่ดูเหมือนเป็นอาการปกติของผู้สูงอายุทั่วไป ซึ่งกว่าลูกหลานจะสังเกตเห็นว่าเป็นโรคติดเชื้อ โรคอาจลุกลามรุนแรงมากจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรืออาจรุนแรงถึงขนาดเสียชีวิตได้
ซึ่งจากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยโรคงูสวัดกว่า 1 ล้านรายต่อปี และร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคงูสวัด มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป สำหรับประเทศไทย ถึงแม้จะยังไม่มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยอย่างชัดเจน แต่อัตราการเกิดโรคงูสวัดในผู้สูงอายุไม่น่าจะมีความแตกต่างกับต่างประเทศ เนื่องจากผู้สูงอายุคนไทยส่วนมากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนแล้ว
วิธีเสริมภูมิคุ้มกันแบบง่ายๆ ที่จะช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เกิดโรคแล้วมาทำการรักษา โดยเฉพาะในผู้สู.อายุที่โรคจะแพร่กระจายได้ง่ายและเกิดความรุนแรงได้มากกว่า ควรเริ่มจาก การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาอารมณ์ให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ และหากเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป การได้รับวัคซีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เปรียบเหมือนการเตรียมทหารเฝ้าระวังร่างกาย เมื่อเชื้อโรครุกล้ำ ทหารจะสามารถจัดการได้ทันท่วงที เช่น วัคซีนงูสวัด ที่ช่วยลดการเกิดโรคงูสวัด และป้องกันภาวะปวดเรื้อรังหรือลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัด เมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้ว (ในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังเกิดโรคงูสวัด) แต่วัคซีนดังกล่าวไม่สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคงูสวัดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะไปฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีน เพื่อประเมินความเหมาะสมและความปลอดภัยในผู้ป่วยแต่ละราย
นพ.ภรเอก มนัสวานิช
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ด้านผู้สูงอายุ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)