© 2017 Copyright - Haijai.com
ผลข้างเคียงยารักษาโรคกระดูกพรุนกับการทำฟัน
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เกิดจากความหนาแน่นของเนื้อกระดูกที่เริ่มเสื่อมลงอย่างช้าๆ เฉลี่ยประมาณ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ปัจจัยสำคัญคือกระดับการผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) และฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) ที่ต่ำลง แต่มักจะเกิดกับผู้หญิงในอัตราที่สูงกว่า การบรรเทาโรคกระดูกพรุนในปัจจุบันคือ การใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน แต่ผลของยาที่นอกจากจะช่วยรักษาโรคทางกระดูกประเภทดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลในทางทันตกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ยารักษาโรคกระดูกพรุนบนวิถีทันตแพทย์
อาการสังเกตของภาวะกระดูกพรุน คือ ผู้ป่วยจะมีภาวะกระดูกเปราะบาง และหักง่ายกว่าคนปกติ ด้วยเพราะเนื้อกระดูกชั้นในสุดที่เสื่อมและเหลือน้อยลง ทำให้โครงสร้างโดยรวมไม่สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน การักษาจึงเป็นการให้ยาเพื่อช่วยยับยั้งการกัดกร่อนของกระดูก หรือยารักษาโรคกระดูกพรุน รวมถึงผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งบางชนิดส่งผลต่อการทำลายกระดูกเพิ่มขึ้น เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด (Myeloma) และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
การให้ยาแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ วิธีรับประทานยา ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่ใช้ และวิธีฉีดเข้าทางเส้นเลือด ซึ่งเป็นวิธีสำหรับผู้ป่วยกลุ่มมะเร็งที่เร่งใช้ยาในการรักษา
กรณีผู้ป่วยที่รับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุน แล้วส่งผลต่อการรักษาทางทันตกรรมนั้น ยังเป็นปัญหาที่พบได้น้อยมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รับยาด้วยการรับประทาน อัตราอุบัติของโรคคือ 0.7 คน ต่อ 10,000 คน แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย โดยปัญหาที่เกิดเรียกว่าภาวะกระดูกขากรรไกรตาย (BRONJ หรือ Bisphosphonate-Related Osteonecrosis or the Jaw) เกิดจากการถอนฟัน การผ่าตัดอันก่อให้เกิดเป็นบาดแผลในช่องปาก การรักษาโรคเหงือกบางกรณี โดยที่ไม่นับการขูดหินปูน อุดฟัน หรือวิธีทันตกรรมแบบเล็กน้อยทั่วไป
อาการสังเกตคือแผลที่เกิดในช่องปากจะหายช้ากว่าปกติ (เกิน 8 สัปดาห์) และไม่รู้สึกเจ็บบริเวณแผล เนื้อกระดูกโผล่ ปวด บวม มีหนอง แผลช้ำใหญ่บริเวณเหงือก เป็นต้น
สาเหตุสำคัญมาจากการรับยารักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ได้รับยาร่วมด้วย ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสูงวัย และพบได้มากในกลุ่มผู้ป่วยที่รับยาด้วย วิธีฉีดเข้าทางเส้นเลือด เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.8-12 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อนที่ทันตแพทย์จะรับผู้ป่วยเข้ามาทำการรักษานั้น แพทย์จะสอบถามประวัติการรับยาของคนไข้อย่างละเอียด หากผู้ป่วยที่รับยาชนิดดังกล่าวนานเกิน 3-5 ปีขึ้นไป และบางคนอาจได้รับยาจำพวกสเตียรอยด์ (Steroid) หรือยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย ก็จะต้องระวังมากขึ้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยงดยาอย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน แต่การหยุดยาก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นจากแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคของผู้ป่วยร่วมด้วย
เมื่อผู้ป่วยผ่านการทำทันตกรรมมาแล้ว แพทย์จะทำการล้างแผลที่เกิดจากการทำฟันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ Chorhexidine gluconate 0.12% เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกขากรรไกรตายในอนาคต โดยแพทย์ยังต้องติดตามอาการของผู้ป่วยอยู่ตลอด และผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนได้ตามปกติ หลังจากทำฟันไปแล้ว 3 เดือน
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงของประเด็นนี้ได้ แต่เนื่องจากการอุบัติของภาวะกระดูกขากรรไกรตาย (BRONJ) เกิดขึ้นได้น้อยมาก สำหรับผู้ที่จะต้องรับการรักษาทางทันตกรรม อย่างเพิ่งให้ความกังวลมาก แต่ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่า ท่านได้รับยามาในปริมาณเท่าไร ความถี่และระยะเวลาในการรับประทานยา เพื่อความตระหนักในการป้องกันการเกิด BRONJ หลังการรักษาทางทันตกรรม
ทพ.ธนา จูระมงคล
ผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรม
โรงพยาบาลปิยะเวท
(Some images used under license from Shutterstock.com.)