Haijai.com


สาวๆ ต้องรู้ถ้าไม่อยากเป็นมะเร็ง


 
เปิดอ่าน 3724

สาวๆ ต้องทำไง ถ้าไม่อยากเป็นมะเร็ง

 

 

“มะเร็ง” ชื่อโรคร้ายที่คอยคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ถือเป็นตัวเลขที่ควรค่าแก่การกระตุ้นความใส่ใจในสุขภาพอย่างมากที่สุด เพราะแม้จะเป็นโรคร้ายสุดฮิตติดลมบน แต่กลับไม่พบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริง มีเพยงภาวะเสี่ยงหรือปัจจัยแห่งการเกิดโรคให้มนุษย์ทุกคนได้หลีกเลี่ยงเพียงเท่านั้น นอกจากมะเร็งที่เป็นได้ทั้งหญิงและชายแล้ว ยังมีมะเร็งที่พบเฉพาะในผู้หญิงที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น ทั้งมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องคลอด ตลอดจนมะเร็งรังไข่ แม้ความรุนแรงของโรคจะส่งผลถึงชีวิต แต่ก็ใช่ว่าไม่เคยมีใครอดพ้นจากมะเร็ง ถ้าหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเอง รวมถึงเลี่ยงปัจจัยก่อมะเร็ง

 

 

มะเร็งในผู้หญิงเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

อวัยวะเพศหญิงทุกส่วนมีโอกาสเกิดมะเร็งขึ้นได้ทั้งหมด ตั้งแต่อวัยวะภายนอกถึงภายในอาทิ ช่องคลอด ปากมดลูก แยกย่อยจนถึงเยื่อบุโพรงมดลูก กล้ามเนื้อ มดลูก ปีกมดลูก บริเวณรังไข่และท่อรังไข่ โดยเป็นการเกิดโรคแบบทีละส่วน ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด สาเหตุของการเกิดมะเร็งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

ปัจจัยภายใน

 

 ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่โดยพบว่าหญิงที่มีประวัติทางญาติเป็นมะเร็งชนิดดังกล่าว จะมีความเสี่ยงการเป็นมากกว่า 2 เท่า

 

 

 ปัญหาบกพร่องของระบบอาจเป็นปัญหาที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากการสะสมจากภายนอกร่วมด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นโรคมะเร็งต่างๆ ในทุกอวัยวะของร่างกายได้

 

 

ปัจจัยภายนอก

 

 สารเคมีบางชนิด หรือสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนมากับอาหาร โดยเฉพาะอาหารแบบสุกดิบ ปิ้ง ย่าง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนการรับประทานยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มากจนเกินไป เหล่านี้อาจส่งผลต่อการกระตุ้นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งตับได้

 

 

 การสูบบุหรี่หรือการรับมลพิษทางอากาศเป็นประจำ ที่นอกจากจะเป็นการกระตุ้นมะเร็งปอดแล้ว ยังส่งเสริมการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

 

 การติดเชื้อ HPV (Human Pappillomaviruses) จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือมะเร็งช่องคลอดและมะเร็งทวารหนัก

 

 

 การปะทะแสงแดดอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน และการใช้ครีมบำรุงผิว หรือเครื่องสำอางที่มีสารอันตราย เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนระคายเคืองสูงเป็นส่วนประกอบ แม้จะเป็นปัญหาที่ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะมองข้าม แต่หากยังหลงใช้ไปนานๆ อาจส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังได้

 

 

 พฤติกรรมการรับประทานแม้จะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง แต่น้ำหนักตัวที่มากเกินพอดี อาจนำมาซึ่งการสูญเสียความแข็งแรง และนำพามาซึ่งโรคภัยชนิดต่างๆ ได้อย่างไม่รู้ตัว เช่น ปัญหามดลูกหรือรังไข่ที่อาจลุกลามไปเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ ตลอดจนมะเร็งท่อรังไข่ในอนาคตได้

 

 

ปัจจุบันยังพบแนวโน้มของการเกิดโรคมะเร็งในกลุ่มคนไข้ที่อายุน้อยลง โดยยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ซึ่งอาการแสดงมะเร็งในผู้หญิงจะพบว่าตกขาว มีกลิ่นแรง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมาผิดปกติ เรียกว่า อาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือเลือดที่ไม่ใช่รอบเดือน อาการเจ็บหรือปวดท้องช่วงล่าง (ปวดแบบเรื้อรัง) และน้ำหนักเพิ่มหรือลดแบบผิดปกติ เป็นต้น

 

 

ป้องกันดีดี ไม่เป็นมะเร็ง

 

นอกจากเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งทั้งหลายแล้ว การตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศยังถือเป็นเรื่องยากและถูกมองข้ามจากกลุ่มคน แต่ก็ถือเป็นความโชคดีของคนสมัยใหม่ ที่มีวัคซีนในการช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV จากงานวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีน 1 คอร์ส (Course) จะครอบคลุมยาวนานเกือบถึง 10 ปี สามารถฉีดได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก วิธีป้องกันต่อมาคือการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องยากที่เราไม่สามารถตรวจสอบความสะอาดของคู่นอนได้แล้ว การเริ่มต้นป้องกันด้วยตนเองก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่คู่รักทุกคู่ควรตระหนักถึงเสมอ

 

 

อีกหนึ่งวิธีสำหรับการป้องกันมะเร็ง คือ การหมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะการตรวจหามะเร็งเต้านม เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป บวกกับคนไข้ต้องหมั่นสังเกตร่างกายตนเองร่วมด้วย เหล่านี้คือการป้องกันที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

 

คำถามต่อมาคือ ผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน จะไม่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวใช่หรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ความเสี่ยงยังมี แต่พบได้ในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก และไม่ควรชะล่าใจ การตรวจเช็คสุขภาพแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคชนิดต่างๆ ได้

 

 

การตรวจเช็คภายในสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี หรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ในครั้งแรก นอกจากนี้ประเด็นประวัติของการมีบุตรก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญแห่งการกระตุ้นโรคมะเร็งแต่อย่างใด ในทางกลับกันพบว่า หญิงที่ไม่เคยมีบุตรเลย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อน

 

 

แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาทต่อการบรรเทาโรค หรือยืดอายุผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่หากตัวเราไม่เริ่มต้นใส่ใจสุขภาพตนเองเสียเอง การเริ่มต้นของโรคร้ายอาจอยู่ใกล้หรือมาไวกว่าที่คิด การเริ่มสนใจสุขภาพตนเองพร้อมเฝ้าสังเกตสุขภาพคนที่คุณรัก จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้สาวๆ ห่างไกลจากโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ดีที่สุด

 

 

เสริมความงามตามสมัยก่อมะเร็งจริงไหม?

 

แม้ว่าปัจจัยการเกิดมะเร็งในผู้หญิงจะมาจากสาเหตุภายนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจัยจากสารเคมีทางความงาม เช่น การทำสีผม การเลเซอร์ผิว และเทคนิคการเสริมความงามในปัจจุบัน (ไม่รวมการศัลยกรรมด้วยซิลิโคน เช่น การเสริมจมูก หรือการเสริมนม) ก็ยังไม่ใช่การกระตุ้นเชื้อมะเร็งแต่อย่างใด แต่ใช่ว่าปริมาณการรับสารเคมีจะไม่ใช่สาระสำคัญ ฉะนั้น การควบคุมดูแลสุขภาพ หมั่นตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย ตลอดจนการบริโภคสิ่งที่เป็นธรรมชาติแบบปลอดสารเคมี จึงเป็นวิธีลดความเสี่ยงมะเร็งระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี

 

 

พญ.หยิงฉี หวัง

หัวหน้าศูนย์วัตกรรมนรีเวช ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดส่องกล้อง

โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)