
© 2017 Copyright - Haijai.com
แบคทีเรียดื้อยา ภัยคุกคามมนุษยชาติ
ทุกวันนี้คนไทยซื้อยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียมาใช้ทั้งกับตนเอง พืช และสัตว์ โดยไม่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุมเพียงพอ จนนำไปสู่ภาวะเชื้อดื้อยา ณ ขณะนี้มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาดังกล่าวและมีทางออกอย่างไร
แบคทีเรียดื้อยา ปัญหาของมนุษยชาติ
เมื่อปี ค.ศ.2014 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และยอมรับว่าปัญหานี้คือปัญหาหลักที่คุกคามสุขภาพของมวลมนุษยชาติในยุคปัจจุบัน
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในปี ค.ศ.2013 องค์การอนามัยโลกแจ้งตัวเลขประมาณการว่า ร้อยละ 20.5 ของผู้ป่วยวัณโรคเดิม และร้อยละ 3.5 ของผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยา หรือ Multidrug-resistant Tuberculosis (MDR-TB) เชื้อชนิดนี้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูง เนื่องจากยาต้านแบคทีเรียที่ใช้อยู่ เริ่มใช้กับเชื้อดังกล่าวไม่ได้ผล และมีการรายงานว่า พบปัญหาเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
นอกจากเชื้อวัณโรคดื้อยาแล้ว ยังมีปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาชนิดอื่นๆ อีก เช่น เชื้อ Neisseria gonorrhoeae ที่ทำให้เกิดโรคหนองในเชื้อ Staphylococcus ที่ทำให้เกิดฝีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม อาหารเป็นพิษ เป็นต้น
ที่ผ่านมาการติดเชื้อในโรงพยาบาลจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยซึ่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ต้องเสียชีวิตในที่สุด มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
นายแพทย์เคอิจิ ฟุกุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหลักประกันสุขภาพ ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า
“หากไม่มีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาค เพื่อปรับปรุงการป้องกันการติดเชื้อ เปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต การสั่งจ่ายยา และการใช้ยาเกิน โลกจะเข้าสู่ “ยุคหลังยาต้านแบคทีเรีย” (Post-antibiotic Era) ซึ่งหมายถึง จากที่เคยรักษาการติดเชื้อธรรมดาๆ หรือการมีแผลเปิดเพียงเล็กน้อยด้วยยาต้านแบคทีเรียได้ ซึ่งใช้ได้ผลดีมานานหลายทศวรรษ กลายเป็นไม่สามารถจัดการเชื้อโรคเหล่านี้ได้ และเชื้อโรคจะหวนกลับมาคร่าชีวิตมนุษย์อีกครั้ง”
รับทราบสถานการณ์ปัญหานี้ในระดับโลกไปแล้ว เรามาดูสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศกันบ้างดีกว่าค่ะ
สถานการณ์เชื้อดื้อยาในประเทศไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม ประธานคณะกรรมการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เริ่มต้นอธิบายว่า
“คำว่าซูเปอร์บั๊ก (Superbug) หมายถึง เชื้อที่ดื้อยารุนแรง ถึงจะเปลี่ยนชนิดยาก็ได้ผลการรักษาไม่ค่อยดี ขณะนี้เชื้อดื้อยาในบ้านเรา คือ เชื้อแบคทีเรียเอบอม (A-bomb : Acinetobacter baumannii) ซึ่งยาตัวใหม่ๆ ที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังฆ่าเชื้อไม่ได้ ตามมาด้วยเชื้อแบคทีเรียอีกตัวหนึ่งชื่อเอ็นดีเอ็ม – วัน (NDM-1 : New Delhi Metallo – beta – lactamase – 1 )”
“ทุกวันนี้ปัญหาเชื้อเอบอมที่เราพบในโรงพยาบาลก็หนักอยู่แล้ว ส่วนเอ็นดีเอ็ม – วัน ก็พบเพิ่มขึ้นๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เชื้อเอ็นดีเอ็ม – วัน จะทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นปัญหาหนักเหมือนกับเชื้อเอบอมทุกวันนี้”
นายแพทย์กำธรเชื่อมโยงถึงการหาทางออกในระดับโลกว่า ในปี ค.ศ.2010 หน่วยงานระดับสากล เช่น องค์การอนามัยโลก สมาคมโรคติดเชื้อ ประเทศสหรัฐอเมริกา และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหภาพยุโรป ได้ทำงานร่วมกัน โดยประกาศโครงการ Bad Bugs Need Drugs 10x20 : Ten New Antibiotics by 2020 ซึ่งหมายถึงการคิดค้นยาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่อีก 10 ชนิดภายในปี ค.ศ.2020
ทว่าในปัจจุบันแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนแนวหน้าในสมรภูมติต่อสู้กับเชื้อดื้อยาแทบไม่มีอาวุธใหม่ๆ ให้เลือกใช้เลย ซึ่งนายแพทย์กำธรแสดงความเป็นห่วงว่า
“เราต้องยอมรับว่า ณ ขณะนี้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียใช้ได้ผลลดจำนวนลงเรื่อยๆ ดูได้จากจำนวนยาต้านแบคทีเรียที่องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศให้ใช้ทุกๆ 5 ปีนั้นลดลงครึ่งหนึ่งทุกรอบ เช่น ปี ค.ศ.1980 มีเป็น 10 ชนิดเลย พอปี ค.ศ.1985 เหลือ 5 ชนิด พอปี ค.ศ.1990 ก็ลดลงไปอีก ปัจจุบันนี้เรามียาแค่ 3 ชนิดเอง เหลือเวลาอีก 5 ปีจะคิดค้นยาใหม่ๆ ได้ตามเป้าหมายนั้นไหม ผมคิดว่าค่อนข้างยากนะครับ”
ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบมี 2 ข้อ ดังนี้
1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย อธิบายเสริมถึงปัจจัยที่ทำให้ปัญหานี้ในประเทศไทยมีช่องโหว่ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ว่า
“เหตุที่เชื้อแบคทีเรียดื้อยาทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้ยาต้านแบคทีเรียในคนมากเกินความจำเป็น อีกทั้งมีการขายยาต้านแบคทีเรียโดยไม่มีการควบคุม จึงซื้อขายยาได้ง่ายและไม่มีการตรวจสอบติดตามที่มาที่ไปของยา (Drug Tracing) ที่รัดกุม”
“จากการลงพื้นที่สำรวจของเราทำให้ทราบว่า เพียงชาวด้นเดินไปร้านชำหน้าปากซอย ซึ่งไม่ใช่ร้านขายยาโดยตรง เขาก็สามารถซื้อยาต้านแบคทีเรียได้แล้ว ขณะที่ในต่างประเทศ ยาเหล่านี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และมีใบสั่งยากำกับทุกครั้ง”
2.ประชาชนขาดความรู้เรื่องการใช้ยา ต่อมานายแพทย์กำธรอธิบายถึงความรุนแรงของปัญหานี้และสถานการณ์ในประเทศไทยว่า
“ทุกวันนี้คนไทยใช้ยาเกินความจำเป็น เช่น เมื่อเป็นหวัดและรู้สึกเจ็บคอ ก็ไปร้านขายยาเพื่อซื้อ “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งก็คือยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียมากิน ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาการเจ็บป่วยเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียเลย”
ใช้สมุนไพร ลดการใช้ยาต้านแบคทีเรีย
เพื่อลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียเกินความจำเป็น ขอแนะนำสมุนไพรไทยที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แก้ไอ แก้เจ็บคอ พร้อมข้อมูลวิธีใช้อย่างปลอดภัยจากโรงพยาบาลอภัยภูเบศร จังหวัด ปราจีนบุรี ดังนี้
• ขมิ้นชัน ลดอาการแพ้ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีสารแอนติออกซิแดนต์สูง กินครั้งละ 2-4 แคปซูล หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน
• หญ้าปักกิ่ง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงร่างกาย แก้ไข้ แก้ร้อนใน กินครั้งละ 3-4 แคปซูล วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร
• ตรีผลา บรรเทาอาการแก้ไอ ขับเสมหะ ปรับสมดุลลำไส้ มีสารแอนติออกซิแดนต์สูง กินครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนอาหาร 3 มื้อ
• ประสะมะแว้ง บรรเทาอาการไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับเสมหะ กินครั้งละ 2-4 เม็ด ก่อนอาหาร 3 มื้อ
ปัญหายาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงการใช้ยาต้านแบคทีเรียในคนเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ยาต้านแบคทีเรียในพืชและสัตว์อีกด้วย
ดร.นิยดาให้รายละเอียดเรื่องการใช้ยาในการเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมว่า
“จากการลงพื้นที่สำรวจ ทีมงานของเราพบการใช้ยาต้นแบคทีเรียในสัตว์และพืชอย่างเข้มข้น เช่น ไลแคมพิซิน ซึ่งเป็นยาต้นแบคทีเรียที่มีความรุนแรง โดยชาวบ้านจะซื้อยามาจากร้านขายของชำหน้าปากซอยให้ไก่ชนกิน ขณะที่ชาวสวนก็ซื้อยาต้านแบคทีเรียไปฉีดให้ต้มส้ม มะนาว และทุเรียน”
“การใช้ยาต้านแบคทีเรียในปศุสัตว์ทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง หรือการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งในบางพื้นที่จะโรยยาลงในบ่อปลาหรือบ่อกุ้งเลย และน้ำนั้นก็จะไหลลงมาปนเปื้อนในแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด”
ดร.นิยดาอธิบายต่อว่า ในปี พ.ศ.2558 เพิ่งจะมีการประกาศกฎหมายห้ามใช้ยาต้านแบคทีเรีย เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของปศุสัตว์
เมื่อเกิดการปนเปื้อนของยาต้านแบคทีเรียทั้งในสิ่งแวดล้อมและปศุสัตว์ อันเป็นที่มาของอาหารที่เราบริโภคเป็นประจำ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใด เมื่อคนไทยเจ็บป่วยด้วยเชื้อแบคทีเรีย จึงรักษาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลระบุว่า เดิมปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยามักพบเฉพาะในโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวนานๆ แต่ปัจจุบันงานวิจัยพบว่า ในอุจจาระของคนสุขภาพแข็งแรงกลับมีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิด
เมื่อมีการขับถ่ายอุจจาระออกไป ย่อมเกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เช่น ดินและน้ำ หมายความว่า คนทั่วไปที่ไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก็มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้
ทางออกในการแก้ปัญหานี้อาจต้องเริ่มต้นจากตัวเรา โดยการลดการใช้ยาและหันมาดูแลสุขภาพเพื่อสร้างภูมิชีวิตให้แข็งแรง ป้องกันการเจ็บป่วยค่ะ
หยุดปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา
• ลดการใช้ยาต้านแบคทีเรีย
• กินอาหารออร์แกนิก
• ล้างมือให้สะอาดเป็นนิสัย
• ใช้สมุนไพรทดแทน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)