
© 2017 Copyright - Haijai.com
รอยยิ้มที่เว้าแหว่ง
ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของการเจริญของใบหน้าระหว่างการตั้งครรภ์ ปากแหว่งเกิดจากการที่ใบหน้าสองซีกไม่สามารถประกบได้พอดีในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์ เพดานโหว่คือ การที่มีช่องเปิดระหว่างเพดานปากและฐานจมูก เกิดจากการที่ขากรรไกรบนของทารกไม่สามารถปิดได้สนิท ทำให้เกิดช่องว่าง โดยอาการเพดานโหว่จะมีความรุนแรงกว่าอาการปากแหว่ง จากข้อมูลพบว่า ทุกๆ 3 นาที ทั่วโลก จะมีเด็ก 1 คนที่เกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
สำหรับประเทศไทยมีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ประมาณ 1-2.5 คนต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราสูงถึง 700-800 คนต่อปี ปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่จำนวนมากในประเทศไทย ที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขเลยจนตลอดชีวิต
สาเหตุการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ยังคงไม่แน่ชัดเท่าที่ทราบ คือ เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4-8 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะเริ่มมีส่วนของเพดานก่อตัวขึ้น โดยเจริญจากด้านข้างมาชนกันตรงกลาง หลังจากนั้นจึงเริ่มประสานกันจนกลายเป็นเพดานปากแผ่นเดียว
ซึ่งระยะการเจริญดังกล่าวใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในช่วงของการเจริญนี้ ถ้ามารดาได้กินยาบางชนิดหรือได้รับสารบางตัว ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญของช่องปากและเพดาน ก็จะทำให้ทารกที่คลอดออกมามีความพิการได้ แต่จากรายงานการศึกษาทารกที่มีอาการปากแหว่ง มักจะพบว่าในเครือญาติมีอาการดังกล่าวได้ค่อนข้างมาก เป็นการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าการขาดกรดโฟลิกในหญิงตั้งครรภ์ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะนี้
ปัญหาจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
• ปัญหาการดูดกลืนอาหาร เด็กจะดูดกลืนนมได้ลำบาก เนื่องจากไม่สามารถทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในช่องปาก เพื่อดูดกลืนนมได้อย่างปกติ จึงขาดโอกาสรับสารอาหารและภูมิต้านทานจากนมแม่ ส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า นอกจากนี้ยังมีการไหลย้อนของนมขึ้นไปในจมูก โดยผ่านช่องเพดานโหว่ทำให้ระคายเคืองจมูก หากให้ทารกดูดนมผสม จะเพิ่มการระคายเคืองมากกว่านมแม่
• ปัญหาทางเดินหายใจ การมีปากแหว่งเพดานโหว่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้เด็กมักมีโครงสร้างเพดานปากและกระดูกของจมูกผิดปกติ จึงอาจทำให้ทางเดินหายใจบางส่วนอุดตัน เกิดภาวะหายใจไม่สะดวกได้
• ปัญหาการได้ยิน นอกจากความผิดปกติด้านโครงสร้างที่ทำให้มีปัญหาเรื่องการได้ยินแล้ว การสำลักบ่อยๆ จากการดูดกลืนลำบากก็ทำให้หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังได้ง่ายกว่าเด็กปกติ จึงมีปัญหาทางการได้ยินตามมา หากปล่อยไว้นานๆ โดยไม่รักษา อาจสูญเสียการได้ยิน ซึ่งเกิดได้ในทุกช่วงอายุของบุคคลปากแหว่งเพดานโหว่
เพราะการรักษาโดยการเย็บซ่อมเพดาน อาจยังทำให้โครงสร้างส่วนนี้ไม่สมบูรณ์เช่นคนปกติทุกราย ซึ่งการสูญเสียการได้ยินนี้ จะมีผลต่อการพัฒนาภาษาและต่อการพูดโดยตรง
• ปัญหาทางภาษาและการพูด เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ มักมีปัญหาการพูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก เสียงแหบ พูดแล้วฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง มีปัญหาทางการได้ยิน ขาดการกระตุ้นทางภาษาเท่าที่ควร และเพราะเด็กพูดไม่ชัด คนฟังไม่ค่อยเข้าใจ จึงมักมีปฏิกิริยาไม่ดีจากผู้ฟัง ทำให้เด็กไม่อยากพูด และเด็กมักมีความตั้งใจที่จะพูดสื่อความหมายกับผู้อื่นน้อยกว่าปกติ
• ปัญหาการสบฟันผิดปกติ ความผิดปกติของโครงสร้างริมฝีปาก เพดานปาก และสันเหงือก ทำให้มีความผิดปกติของโครงสร้างฟัน และการสบกันของฟัน เช่น ฟันล่างครอบฟันบน ฟันบนและฟันล่างไม่สบกัน ฟันขาดหายไป ฟันขึ้นผิดที่และผิดตำแหน่ง ทำให้พูดไม่ชัด
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความพิการที่เห็นชัดเจน แม้จะได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมโครงสร้างแล้วหากยังพูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก เด็กจะมีปมด้อยในการเข้าสังคม ซึ่งอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมถดถอย ไม่อยากไปโรงเรียน ก้าวร้าว ฯลฯ นอกจากนั้นการรักษาที่ยาวนาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ เศรษฐกิจและสังคมตามมา
เนื่องจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความผิดปกติที่ซับซ้อน ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติในหลายส่วน การดูแลรักษาจึงต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ สาขา เช่น ศัลยแพทย์ตกแต่ง กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ โสตศอ นาสิกแพทย์ จิตแพทย์ ร่วมกันวางแผนการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตัวอย่างวิธีการรักษาเช่น การรักษาโดยการทำเพดานเทียม เพื่อปิดช่องที่เกิดขึ้นให้เด็กสามารถดูดนมแม่ได้เอง การเย็บปิดเพดานโหว่เพื่อให้เด็กสามารถพูดได้ชัด กินนมหรืออาหารได้โดยไม่สำลัก ลดโอกาสการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เป็นต้น
สุดท้ายสิ่งที่เราจะสามารถช่วยเด็กเหล่านี้ให้มีรอยยิ้มที่สดใสในสังคมได้ นอกจากการบริจาคช่วยเหลือค่าผ่าตัดรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังสามารถเป็นผู้เมตตาแบ่งปันข้อมูล โดยถ้าเจอใครมีบุตรที่มีภาวะเช่นนี้อยู่ ช่วยบอกกล่าวเขาว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ สามารถรักษาได้ ปัจจุบันมีมูลนิธิมากมายที่ดูแลเรื่องการผ่าตัด ให้กับผู้ป่วยโดยไม่คิดมูลค่าอย่างเช่น มูลนิธิสร้างรอยยิ้มแห่งประเทศไทย ซึ่งให้การรักษาเด็กมาแล้วกว่า 8,000 คนตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 หรือมูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
เพียงเท่านี้ก็จะเปลี่ยนใบหน้าเศร้าให้เป็นรอยยิ้มแก่เด็กๆ ได้แล้วค่ะ
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)