Haijai.com


ยาเอ็นเสด (NSAIDs) ยาวิเศษ


 
เปิดอ่าน 7294

เอ็นเสด (NSAIDs) ยาวิเศษ

 

 

เมื่อมองภาพรวมการใช้ยาของคนไทยทั้งยาที่ได้รับจากสถานพยาบาล หรือยาที่ซื้อตามร้านยานั้น เชื่อว่ายาแก้ปวดมาแรงเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เอ็นเสด (NSAIDs)” นับเป็นยากลุ่มที่หนึ่งที่มีการสั่งจ่ายกันอย่าแพร่หลาย จนเป็นที่น่ากลัวว่าถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้

 

 

ยาเอ็นเสดอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร และกลุ่มรุ่นใหม่ (ชื่อของยากลุ่มนี้มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “โคซิบ”) ซึ่งจะออกฤทธิ์เจาะจงต่อการแก้ปวด แก้อักเสบมากขึ้น และมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยลง

 

 

ยาเอ็นเสดมีข้อบ่งใช้ในการแก้ปวดหลายโรค เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน เกาต์ ไมเกรน ยาเอ็นเสดบางตัว เช่น ไอบูโปรเฟน ก็ถูกใช้เป็นทางเลือกในการลดไข้และแก้เจ็บคอ อย่างไรก็ตามการใช้ยาเอ็นเสดให้เลือกใช้เพียงตัวเดียวเท่านั้น ห้ามใช้ยาเอ็นเสด 2 ตัวคู่กัน เพราะนอกจากจะไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแล้ว กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้ถึง 9 เท่าเลยทีเดียว

 

 

ผลข้างเคียงของยาเอ็นสด

 

 ระคายเคืองกระเพาะอาหาร อาจมาจากการที่เอ็นเสดบางตัวมีสภาพเป็นกรด ตลอดจนมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเยื่อเมือกเคลือบกระเพาะอาหาร โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 65 ปี มีประวัติแผลเปื่อยในทางเดินอาหาร ใช้ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น

 

 

 เพิ่มความเสี่ยงโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

 

 

 กระตุ้นอาการหอบหืดในผู้ป่วยหอบหืด โดยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 3-10 ของผู้ป่วยหอบหืด

 

 

 ส่งผลต่อการได้ยิน การใช้ยาเอ็นสด (โดยเฉพาะแอสไพริน) ในขนาดสูงอาจทำให้ได้ยินเสียงหึ่งๆ ในหู หรือมีผลต่อการได้ยิน

 

 

หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ควรหลีกเลี่ยงการใช้เอ็นเสดทุกชนิด เนื่องจากยากลุ่มนี้ทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ที่หัวใจของทารกผิดปกติ ทำให้ความดันเลือดในปอดสูง และลดการทำงานของไตในทารก หญิงที่ให้นมบุตรควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้ทารกเป็นดีซ่านได้

 

 

ดังนั้น ก่อนที่จะใช้ยาเอ็นเสดในการบำบัดอาการปวด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อประเมินว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาหรือไม่

 

 

ภก.พลกิตต์ เบศรกิญโญวงศ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)