© 2017 Copyright - Haijai.com
อาหารต้านมะเร็ง
จริงอยู่ที่ว่าความเสี่ยงส่วนใหญ่ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมาจากพันธุกรรม โดยผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 1.5 เท่า แต่อาหารก็นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง การกินอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ และการปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรืออ้วน ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ได้รับเกียรติจาก อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ มาให้คำแนะนำในเรื่องอาหารกับมะเร็งทั้งในแง่ของการป้องกันและการรักษา รวมทั้งข้อควรปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปและผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มะเร็งเต้านม”
กินดีลดความเสี่ยง
เมื่อต้องการป้องกันมะเร็งเต้านม การกินอาหารที่ดีตามหลักโภชนาการและถูกสุขลักษณะ นับเป็นกุญแจดอกสำคัญ โดยมีแนวทางซึ่งเหมือนกับการควบคุมระดับไขมันในเลือด ดังต่อไปนี้
• กินไขมันหรือน้ำมันชนิดดีในปริมาณที่จำกัด โดยทั่วไปไม่ควรกินเกินวันละ 3-5 ช้อนโต๊ะ ถ้าอ้วนควรกินไม่เกิน 3 ช้อนโต๊ะ
• กินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังไม่ติดมัน และไม่ผ่านการแปรรูปมากเกินไป หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม เบคอน เนื่องจากการแปรรูปจะมีการใส่สารปรุงแต่งอื่นๆ ซึ่งอาจมีฤทธิ์ก่อมะเร็ง
• กินผักและผลไม้อย่างเพียงพอ โดยทั่วไป ควรกินวันละ 2-3 ขีด ถ้าต้องการป้องกันมะเร็งควรกินวันละ 4 ขีด ทั้งนี้ควรมีผักในตู้เย็นเป็นประจำ และเอาผักไปกินในมื้อกลางวันที่ทำงานด้วย อาจเพิ่มความน่ากินด้วยการกินผักสีตามวัน เช่น วันจันทร์กินผักที่มีสีเหลือง เป็นต้น การกินผักจะช่วยทำให้อิ่มลดปริมาณการกินอาหารประเภทอื่นที่ให้พลังงานสูง ร่างกายจึงไม่อ้วน ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ผักทำให้ขับถ่ายง่าย จึงลดโอกาสที่ของเสียสะสมในร่างกายจนเกิดสารพิษ อีกทั้งผักยังมีพฤกษเคมีที่ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ส่วนผลไม้ควรเลือกที่ไม่หวานจัด กินหลังอาหาร 3 มื้อ อาจจะมื้อละลูกหรือมื้อละจาน
• กินผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ เนื่องจากมีเอสโตรเจนจากพืช ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม โดยดื่มนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้ว และกินโปรตีนจากพืชอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของโปรตีนจากสัตว์ นอกจากถั่วเหลืองแล้ว เราอาจพบเอสโตรเจนจากพืชได้ในน้ำมะพร้าวและเห็ดต่างๆ
• หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบ เนื่องจากมีไขมันมาก และมักจะใช้น้ำมันปาล์ม ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูง หากต้องการกินขนม ควรกินขนมที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงต่างที่มากเกินไป
• หลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่างจนเกรียม เนื่องจากควันที่เกิดจากไขมันในเนื้อสัตว์มีสารก่อมะเร็ง และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทอดในน้ำมันทอดซ้ำ
ความเข้าใจผิดประการหนึ่งเกี่ยวกับอาหารป้องกันมะเร็งคือ ให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ แล้วกินเฉพาะผักผลไม้ ความจริงแล้วเนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีน ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อและภูมิคุ้มกัน อันมีบทบาทในการป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็ง ดังนั้น จึงควรกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนัง หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรกินไข่ขาวเป็นแหล่งโปรตีน
เป็นมะเร็งแล้วกินอย่างไรดี
เมื่อเป็นมะเร็ง ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารหมักดอง อาหารรมควัน อาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งมากเกินไป ควรกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หรือได้รับโปรตีนจากไข่ขาว เพื่อจะได้เป็นแหล่งโปรตีนที่เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ตัวอย่างรายการอาหารใน 1 วัน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังไม่ได้รับเคมีบำบัดมีดังนี้
• เช้า ข้าวต้มปลาใส่ขึ้นฉ่าย ผลไม้ (ในรูปแบบผลไม้สด น้ำผลไม้คั้นสด หรือสมูทตี้)
• กลางวัน ข้าวซ้อมมือ แกงส้มผักรวม ไก่อบ คะน้า ถั่วเขียวต้มน้ำตาล หรือผลไม้
• อาหารว่าง น้ำกระเจี๊ยบหรือน้ำสมุนไพร เม็ดมะม่วงหิมพานต์หรือถั่วชนิดอื่นๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ
• เย็น ข้าวซ้อมมือ แกงจืดตำลึงเต้าหู้หมูสับ ไข่ตุ๋น ผลไม้
ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับคีโมหรือเคมีบำบัด มักจะมีอาการเบื่ออาหาร เนื่องจากต่อมรับรสถูกทำลาย และมีอาการคลื่นไส้อาเจียน จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารกลิ่นเหม็นฉุน ควรกินอาหารที่มีหน้าตาสวยงามและมีความร้อนเย็นตามปกติของชนิดอาหารนั้น เน้นเรื่องการได้รับพลังงานและโปรตีนให้เพียงพอเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น อาจนำน้ำตาลทรายมาต้มกับขิงเป็นน้ำขิง แล้วใส่ไข่ขาวลงไปต้มด้วย เมื่อผู้ป่วยกิน ก็จะได้รับโปรตีนจากไข่ขาว และถึงแม้จะไม่กินไข่ แต่การซดน้ำขิง ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับพลังงาน วิธีอื่นๆ ในการช่วยเพิ่มความอยากอาหารของผู้ป่วย คือ การปรุงรสอาหารด้วยรสเปรี้ยว หรือใส่เครื่องเทศ ปรุงรสอาหาร เช่น ใช้น้ำซุปต้มยำในการทำไข่ตุ๋น เป็นต้น
เคมีบำบัดยังลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ผู้ที่ได้รับคีโม จึงต้องกินเฉพาะอาหารสุกและสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารดิบ ผักดิบ ผลไม้สด ยกเว้นผลไม้ที่มีเปลือกหนา เช่น กล้วย แก้วมังกร และส้มโอ สามารถปอกเปลือก และกินเนื้อผลไม้ได้
นอกจากนี้ผู้ป่วยควรสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงความอยากอาหารในรอบการรับคีโม ถ้าวันไหนรู้สึกว่ากินได้ ก็กินเลย กินอาหารที่ชอบ แต่ถ้าช่วงไหนกินไม่ได้ ก็ควรกินอาหารให้ตรงเวลา จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะอาหารหรือน้ำซุป แต่ถ้าเบื่ออาหารหนักมากจริงๆ ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อรับโภชนบำบัดเพิ่มเติม เช่น การให้อาหารเข้าหลอดเลือด
ถ้าผู้ป่วยคิดจะกินวิตามินหรืออาหารเสริม ควรจะทำเมื่อแน่ใจว่าขาดจริงๆ ซึ่งทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจระดับสารอาหาร ดังนั้น การเสริมสารอาหารควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง และการเสริมก็เสริมทั้งจากในรูปแบบเม็ดยาและจากอาหาร เช่น เมื่อมีความจำเป็นต้องเสริมสังกะสี ก็เสริมทั้งที่อยู่ในรูปอาหารเสริม และจากอาหารที่อุดมด้วยสังกะสี ซึ่งได้แก่ อาหารทะเลและถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
จุดที่สำคัญประการหนึ่งคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ควรลดการกินโปรตีนและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ตลอดจนอาหารที่เป็นแหล่งของเอสโตรเจนจากพืช เนื่องจากเอสโตรเจนจากพืชจะรบกวนผลการรักษาของยาที่ใช้
รักษาหายแล้ว ควรดูแลตัวเองอย่างต่อไป
คนที่ได้รับการรักษาครบคอร์ส และแพทย์วินิจฉัยว่าหายแล้ว ควรปฏิบัติตามนี้
• ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้ผอมหรืออ้วนเกินไป ซึ่งพิจารณาได้จากดัชนีมวลกาย
• ควบคุมอาหารแนวเดียวกับที่กินอาหาร เพื่อควบคุมระดับไขมันในเลือด หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ควรกินไขมันที่ดี เช่น จากอัลมอนด์ อโวกาโด ใช้น้ำมันที่ดีในการปรุงอาหาร
• ควรกินอาหารที่ปรุงเองที่บ้านอย่างน้อย 1 มื้อ เพราะอาหารที่บ้านมีความสะอาด สารปนเปื้อนน้อยกว่าอาหารข้างนอก
• กินผักและผลไม้เป็นอาหารหลัก เพราะมีสารเคมีที่ต่อต้านมะเร็ง ควรกินผักหลากหลายสี ปริมาณผักวันละ 2-3 ขีด ผลไม้ 3 ขีด
สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตปลอดภัยจากมะเร็งคือ การหมั่นสังเกตสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการคลำเต้านม หรือรับการตรวจแมมโมแกรม เพราะจะช่วยทำให้ตรวจจับความผิดปกติได้ตั้งแต่ขั้นแรก ซึ่งจะมีโอกาสหายขาดมากกว่า และใช้ต้นทุนในการรักษาน้อยกว่าการมาเจอเมื่อโรคเป็นมากแล้ว สุขภาพดีจึงอยู่ที่ความใส่ใจของเราเป็นสำคัญ
อาจารย์แววตา เอกชาวนา
นักโภชนาการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)