Haijai.com


มะเร็งเต้านม รู้จักรักษาได้


 
เปิดอ่าน 3559

มะเร็งเต้านม รู้จักรักษาได้

 

 

ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย โดยพบมากเป็นอันดับ 1 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเราสามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ด้วยการไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเต้านมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้

 

 

เต้านม มีส่วนประกอบ เช่น หัวนมและลานนม ซึ่งเห็นได้ชัดจากภายนอก แต่ไม่ได้มีเพียงแค่นั่น เพราะภายในเต้านมยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่มองไม่เห็นอีก เช่น ต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม และเนื้อเยื่อไขมัน ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นเต้านม โดยเต้านมปกติจะประกอบด้วยเซลล์ที่ปกติ และเมื่อแบ่งตัวแล้วก็จะได้เซลล์ที่มีลักษณะเหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นมะเร็งจะมีเซลล์บางส่วนซึ่งมีความผิดปกติเกิดขึ้นทั้งในด้านรูปร่าง รวมทั้งการแบ่งตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

 

 

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

 

 อายุมาก

 

 

 มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย

 

 

 มีลูกคนแรกเมื่ออายุมาก หรือไม่มีบุตร

 

 

 มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน

 

 

 มีประวัติมะเร็งเต้านมในญาติสายตรง เช่น มารดา หรือพี่สาว น้องสาว

 

 

 เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณหน้าอก หรือเต้านม

 

 

 เนื้อเยื่อเต้านมที่หนาแน่นจากการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)

 

 

 ได้รับฮอร์โมนจากภายนอก เช่น เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน

 

 

 การดื่มสุรามากเกิน

 

 

 เชื้อชาติคนผิวขาวมีโอกาสมากกว่า

 

 

โดยส่วนใหญ่แล้วมะเร็งเต้านมในระยะแรกมักไม่ปรากฏอาการใดๆ แต่เมื่อมะเร็งเติบโตขึ้นจะมีอาการเกิดขึ้น เช่น

 

 พบก้อนหรือการหนาตัวบริเวณใกล้ๆ กับเต้านม หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้

 

 

 ขนาดและรูปร่างของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง

 

 

 มีของเหลวไหลซึมออกจากหัวนม มีอาการเจ็บปวด หรือหัวนมมีการยุบบุ๋มลงไป

 

 

 เต้านมมีการยุบบุ๋มลงไปโดยที่ผิวหนังบริเวณนั้น อาจมีลักษณะขรุขระเหมือนผิวส้ม

 

 

 มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณเต้านมหรือหัวนม เช่น อุ่นขึ้น บวมแดง หรือเป็นสะเก็ด

 

 

หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งการตรวจเต้านมจะทำให้แพทย์ทราบอะไรได้หลายอย่าง เกี่ยวกับก้อนที่ปรากฏ เนื้องอกที่เต้านม ที่ไม่ใช่เนื้อร้ายจะตรวจพบลักษณะที่แตกต่างจากก้อนที่เป็นมะเร็ง เช่น สามารถเคลื่อนได้จากการคลำ ซึ่งส่วนมากของก้อนเนื้อที่คลำได้บริเวณเต้านม จะเป็นเนื้องอกทั่วไป (ไม่ใช่มะเร็ง)

 

 

นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจากการตรวจร่างกาย เพื่อให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำมากขึ้น วิธีที่ใช้ทั่วไป ได้แก่

 

 การทำแมมโมแกรม เป็นการตรวจเอกซเรย์เต้านม ซึ่งให้ข้อมูลที่สำคัญกับแพทย์เกี่ยวกับลักษณะของก้อนที่เต้านมได้

 

 

 การทำอัลตราซาวนด์ เป็นการใช้เครื่องเสียงที่มีความถี่สูง ที่สามารถแสดงให้เห็นว่าเป็นก้อนถุงน้ำ (cyst) คือ มีของเหลวอยู่ภายในก้อน หรือเป็นก้อนเนื้องอกแข็ง (อาจจะใช่มะเร็งหรือไม่ใช่มะเร็งก็ได้) โดยการตรวจนี้อาจทำร่วมไปกับการทำแมมโมแกรม เพื่อให้ได้ข้อมูลในการวินิจฉัยที่ดียิ่งขึ้น

 

 

จากข้อมูลการตรวจเบื้องต้น แพทย์จะตัดสินใจได้ว่าควรทำการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ มีแผนการรักษาอย่างไรที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไป รวมทั้งอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อเต้านมไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หากผลการตรวจชิ้นเนื้อปรากฏว่าเป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดย ดูจากระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ ร่วมกับขนาดของก้อน

 

 

รูปแบบการรักษา

 

มะเร็งเต้านมมีการรักษาได้หลายแบบ แพทย์จะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา ซึ่งมีทั้งการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด การฉายแสง การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน และ targeted therapy โดยระยะของโรคและการรักษาที่ใช้กันบ่อยๆ ได้แก่

 

 ระยะไม่ลุกลาม เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะในท่อน้ำนม ยังไม่ลุกลามเลยชั้นผนังท่อน้ำนม อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลามได้ การรักษาอาจทำโดยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ และตามด้วยการฉายรังสีหรืออาจใช้วิธีผ่าตัดออกทั้งเต้านม โดยทำหรือไม่ทำการผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่ ระยะนี้มักไม่เอาต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณแขนออก

 

 

 ระยะที่ 1 และ 2 เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ซึ่งมะเร็งเริ่มมีการแพร่กระจายออกจากต่อมน้ำนม หรือท่อน้ำนมลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง หรือต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง

 

ระยะที่ 1 หมายความว่า เนื้องอกมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และไม่ได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านม

 

ระยะที่ 2 หมายความว่า ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านมแล้วเพียง 1-3 ต่อม หรือก้อนมะเร็งมีขนาดมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร และยังไม่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง

 

 

ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเริ่มต้นเช่นนี้ อาจได้รับการรักษาโดย การผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ แล้วตามด้วยการฉายรังสีบริเวณเต้านม หรืออาจใช้วิธี ผ่าตัดออกทั้งเต้านม โดยทำหรือไม่ทำการผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่ ซึ่งทั้ง 2 วิธี ให้ผลในการรักษาใกล้เคียงกันในมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น โดยบางครั้งอาจมีการฉายรังสีหลังการผ่าตัดแบบผ่าตัดออกทั้งเต้านม หากพบว่ามีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีไหนจะต้องผ่าเอาต่อมน้ำเหลืองออกร่วมด้วย

 

 

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และ 2 นี้อาจได้รับการรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัด และ/หรือ การใช้ยาต้านฮอร์โมน และ/หรือ targeted therapy หลังการผ่าตัดขึ้นอยู่กับขนาด การกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ชนิดย่อยของมะเร็งเต้านม การรักษาแบบนี้รวมถึงการฉายรังสี เรียกว่า การรักษาเสริม โดยการฉายรังสีเป็นการรักษาเฉพาะที่ ส่วนยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน targeted therapy เป็นการรักษาแบบทั้งระบบ โดยการรักษาเสริมนั้นเพื่อพยายามทำลายมะเร็งที่หลงเหลืออยู่ และป้องกันการกลับเป็นขึ้นมาใหม่ของมะเร็ง

 

 

 ระยะที่ 3 ในระยะนี้ก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 5 เซนติเมตร ก้อนเนื้อลุกลามไปบริเวณผิวหนังของเต้านมผนังทรวงอก หรือทำให้เกิดการอักเสบของเต้านม หรือมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ตั้งแต่ 4 ต่อมขึ้นไป หรือแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้กับกระดูกหน้าอก หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่ 3 อาจได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดทั้งเต้านม/ผ่าตัดเก็บเต้านม ร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง ตามด้วยยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี อาจได้ยาต้านฮอร์โมนหรือ targeted therapy ร่วมด้วย

 

 

ขึ้นกับชนิดย่อยของมะเร็ง หรืออาจรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อลดขนาดของก้อนเนื้อและลดการลุกลามของต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงก่อน แล้วจึงตามด้วยการผ่าตัดทั้งเต้านม หรือผ่าตัดเก็บเต้านมร่วมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง และ/หรือ การฉายรังสี ร่วมกับยาต้านฮอร์โมน หรือ targeted therapy ตามชนิดย่อยของมะเร็งเต้านม

 

 

 ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มีการกระจายของมะเร็งออกจากเต้านม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยในระยะนี้จะได้รับการรักษาแบบทั้งระบบเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ยาเคมีบำบัด targeted therapy หรือ การใช้ยาต้านฮอร์โมน ขึ้นอยู่กับชนิดย่อยของมะเร็งเต้านมและอาการของผู้ป่วย เพื่อควบคุมโรค ผู้ป่วยอาจได้รับการผ่าตัดหรือฉายรังสีร่วมด้วย เพื่อควบคุมมะเร็งเฉพาะที่ และบรรเทาอาการเช่นอาการปวดกระดูกจากการกระจายของมะเร็ง เป็นต้น

 

 

 มะเร็งที่กลับเป็นใหม่ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 5 ปีแรกหลังจากได้รับการรักษา แต่ก็สามารถเกิดซ้ำใหม่ได้หลายปี หลังการรักษามะเร็งที่กลับเป็นใหม่เฉพาะในตำแหน่งที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วเรียกว่า “การกลับเป็นใหม่เฉพาะที่” หากมะเร็งที่กลับเป็นใหม่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของร่างกายจะเรียกว่า “มะเร็งระยะกระจายลุกลาม” ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบร่วมกัน

 

 

ดังนั้น หลังจากสิ้นสุดการรักษาแล้วจะต้องมีการตรวจติดตามผลหลังการรักษา ซึ่งประกอบด้วยการไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจร่างกาย ซักประวัติการเอกซเรย์เต้านม และการตรวจเต้านมด้วยตนเองทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณเต้านม ทั้งเต้านมข้างที่รับการรักษาและเต้านมข้างที่เหลือ เนื่องจากผู้ป่วยที่มีมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นข้างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่ง รวมทั้งมีความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำได้ แต่หลังจาก 5 ปีแรกหลังการรักษา ความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำจะลดลง

 

 

โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งทรวงอก - สุขภาพ - Haijai.com

 

หายขาดมะเร็งเต้านมด้วยวิวัฒนาการที่ทันสมัย - สุขภาพ - Haijai.com

 

ความหวังใหม่ในการรักษามะเร็งเต้านม - สุขภาพ - Haijai.com

 

รังสีรักษากับมะเร็งเต้านม - สุขภาพ - Haijai.com

 

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่

 

การสักหัวนม 3 มิติในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม - ผู้หญิง - Haijai.com

 

มะเร็งเต้านม ภัยร้ายควรรู้ก่อน - สุขภาพ - Haijai.com

 

ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวคุณเอง - สุขภาพ - Haijai.com

 

ตรวจเช็กประจำหากเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม - สุขภาพ - Haijai.com

 

มะเร็งเต้านม รู้รักษารู้ป้องกัน - สุขภาพ - Haijai.com

 

ตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยการถ่ายเทอร์โมกราฟี่ - สุขภาพ - Haijai.com

 

ออกกำลังกาย ช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านม - สุขภาพ - Haijai.com

 

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม - เด็กแรกเกิด - Haijai.com

 

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม - สุขภาพ - Haijai.com

 

มันแน่นอกต้องยกออก การตรวจเต้านม - สุขภาพ - Haijai.com

 

ซีสต์ที่เต้านม - สุขภาพ - Haijai.com

 

เต้านมแข็งเป็นแคปซูล ผลข้างเคียงการเสริมเต้านม

 

สุดยอดโรคมะเร็งร้ายในผู้หญิง - สุขภาพ - Haijai.com

(Some images used under license from Shutterstock.com.)