© 2017 Copyright - Haijai.com
เมื่อวัยรุ่นอยากรู้อยากลอง เริ่มที่บุหรี่ ก่อนลามยาเสพติดอื่น
ปากที่เคยอิ่มเอิบสีชมพูตามวัยแรกแย้มของวัยรุ่นกลับแห้งผาก ดำคล้ำ กลิ่นบุหรี่ตามเสื้อผ้าร่างกายของบุตรหลานวัยใส และที่ขยี้หัวใจผู้ปกครองที่สุด คือ พบซากบุหรี่มวนหรือยาเส้นในกระเป๋านักเรียน หรือห้องส่วนตัวของพวกเขา
คิดไม่ถึงว่าอนาคตของชาติวัยเรียน จะย่างกรายเข้าไปลิ้มลอง “บุหรี่”
ยาเสพติดพื้นฐานที่เชิญชวนให้เข้าสู่วังวน เป็นทาสยาเสพติดชนิดอื่นๆ อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา ยาบ้า ยาไอซ์ ฯลฯ เพราะหาง่าย ราคาถูก สังคมยอมรับมากกว่ายาเสพติดอื่นๆ ที่สำคัญโอกาสในการเสพง่ายกว่าด้วย
วันนี้ลูกหลานของคุณเป็น 1 ใน 13 ล้านคนที่สูบบุหรี่ทั่วประเทศ!!!
ในปี 2554 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจสถานการณ์การบริโภคบุหรี่และยาสูบ ครั้งที่ 3 จากครั้งก่อนในปี 2552 พบว่า
อัตราการสูบบุหรี่ในเยาวชนสูงขึ้นทุกปี ในภาพรวมตั้งแต่ปี 2552 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่ จำนวน 12.5 ล้านคน แต่ในปี 2554 มีผู้สูบบุหรี่ จำนวน 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 5 แสนคนในจำนวนนี้เป็นผู้สูบหน้าใหม่ ซึ่งเป็นเยาวชนถึง 25% โดยสูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 5.1 ล้านคน รองลงมาคือบุหรี่มวนเอง 4.7 ล้านคน สูบทั้งมวนเองและบุหรี่จากโรงงาน 3.1 ล้านคน และสูบบุหรี่ชนิดอื่นๆ เช่น ไปป์ ซิการ์ บารากู 1 แสนคน
ขณะเดียวกันนอกจากเป็นผู้ผลิตควันบุหรี่เองแล้ว ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือ 2 ด้วย!!!
เวลา 2 ใน 3 ของแต่ละวันชีวิตเด็กเรียนใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่บ้าน ส่วนที่เหลืออยู่ที่โรงเรียน ปัจจัยทั้ง สภาพแวดล้อมที่โรงเรียน และที่บ้าน เป็นต้นตอที่ทำให้วัยอยากรู้อยากลอง “ติดบุหรี่”
“พ่อแม่ ผู้ปกครองสูบให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี โอกาสที่เด็กจะซึมซับ ชินชา สิ่งเสพติดว่าเป็นเรื่องธรรมดา โอกาสที่จะเก็บก้นบุหรี่หรือนำบุหรี่แอบมาสูบ ยิ่งวัยรุ่นอยากรู้อยากลอง การมีพฤติกรรมจากคนใกล้ชิดพวกเขา เป็นการกระตุ้นต่อมอยากและค่านิยมผิดให้กับวัยนี้มากขึ้น” ข้อมูลจากผู้คร่ำหวอดในวงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ในบ้านให้เด็กเห็น คุณหมอ ยืนยันว่า เป็นพฤติกรรม “เตรียมความพร้อม” ให้วัยรุ่นที่อยากรู้อยากลองสิ่งเสพติด หรือแม้แต่ในบ้านไม่สูบ แต่ชุมชนรอบข้างสูบให้เห็น ยิ่งผู้ปกครองไม่มีอาการ หรือแสดงท่าทีคัดค้านการสูบบุหรี่อย่างชัดเจน ไม่เอ่ยปากห้าม ยิ่งทำให้เด็กรู้สึกว่า การสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
ยิ่งสิ่งเร้าทางธุรกิจ โฆษณาสร้างค่านิยมที่ไม่บวก แต่ก็ไม่ลบมากกับบุหรี่ยาเส้น กระตุ้นการอยากรู้อยากลอง โฆษณามีตั้งแต่บนตัวซอง ที่คุณหมอประกิตทราบเทคนิคกลยุทธธุรกิจยาเส้นข้ามชาติ เผยว่า โฆษณาที่มีแรงดึงดูดยั่วยวนลองบุหรี่ คือ โฆษณาบนซอง เพราะมีการออกแบบจากบริษัทโฆษณาชั้นนำ และวิจัยมาเป็นอย่างดี หวังเจาะกลุ่มเป้าหายวัยรุ่นโดยเฉพาะ ล่าสุดประเทศออสเตรเลียจึงออกกฎหมายใหม่และมีผลบังคับใช้ โดยทุกซองบุหรี่จะต้องเรียบง่ายเหมือนกันหมด ไม่มีลายตกแต่งใดๆ
“ไม่เพียงบนซองเท่านั้น การโฆษณา ณ จุดขาย โดยให้ชื่นยี่ห้อบุหรี่ไปอยู่ในสินค้าต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น ฯลฯ และยังมีการทำของแจก อาทิ จาน ถ้วยกาแฟ เพื่อสร้างความคุ้นเคยในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ที่ลึกล้ำและแยบยลมากคือ บริษัทบุหรี่ไปสนับสนุนดารา หรือผู้กำกับระดับโลก ให้มีฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ด้วย”
กรณีที่ยังไม่ถึงขั้นติด แต่เจอเพื่อนในกลุ่มของบุตรหลานสูบบุหรี่ เป็นนัยยะสัญญาณหนึ่งว่า โอกาสที่ลูกหลานคุณจะสูบบุหรี่ก็มีมากขึ้น แถมสิ่งยั่วยวนพุ่งเป้ามาที่อนาคตของชาติแล้ว ผู้ใหญ่ควรจะทำอย่างไรกันดี เจ้าพ่อรณรงค์ต้านการสูบบุหรี่ แนะนำว่า ใช้ใจสื่อสารแทนอารมณ์
บอกไปตรงๆ ว่า “อย่าสูบบุหรี่นะ พ่อ/แม่ขอ เพราะทำให้เสียใจ” บอกไว้ก่อนที่ลูกจะคบกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านั้น แต่หากไม่ทันแล้วก็ต้องใช้รักห่มใจ กระตุ้นภูมิต้านบุหรี่ด้วยความอบอุ่นของครอบครัว
หากมาถึงขั้นที่พบหลักฐาน บุหรี่หรือซอง หรือกลิ่นบุหรี่แล้ว แสดงว่า พวกเขาได้ลองบุหรี่แล้ว ให้เรียกมานั่งคุยด้วยการแสดงความเป็นห่วงเป็นใย แทนการดุด่าว่ากล่าว...
“พ่อ/แม่เป็นห่วงลูก เพราะบุหรี่มันไม่ดีอย่างไร หนูสามารถเลิกบุหรี่ได้เองไหม หรือว่าให้พ่อ/แม่ ปรึกษาคุณหมอให้ช่วยลูกดีไหม”
เพราะยิ่งเพิ่งเริ่มสูบบุหรี่เลิกได้เร็วเท่าใด โอกาสกลับมาเป็นบุตรหลานคนเก่า โอกาสเลิกได้มากกว่าคนติดมานานๆ
สิ่งที่มูลนิธิของคุณหมอประกิตพยายามดำเนินการมาโดยตลอด คือ การลดการสูบบุหรี่ลง โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวะชนของเรา เพราะแต่ละปีมีสิงห์อมควัน ตาย 48,000 คนต่อปี รองจากนักก๊งน้ำเมา การรณรงค์ที่ผ่านมาสามารถช่วยให้คนไทยหย่าขาดจากบุหรี่ได้แล้วถึง 4.5 ล้านคน แต่ยังคงเป็นภารกิจที่ต้องลุยต่อไป
หนึ่งแรงหัวหอกที่ทำงานกับอนาคตของชาติ คุณครูอนงค์ พัวตระกูล ผู้ดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่มา 20 กว่าปี ตั้งแต่เป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลศิริราช และผันตัวมาให้ความรู้ และรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียน
ครูอนงค์ ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า เด็กที่มีพฤติกรรมเกเรมีแนวโน้มสูงที่จะสูบบุหรี่ รวมกับสังเกตสรีระ ทั้งกลิ่นบุหรี่ที่ติดตัว ริมฝีปากแห้งดำคล้ำ
ปัจจัยที่ยั่วยวนให้เด็กสูบคือ การอยากรู้อยากลองตามวัย และตามเพื่อน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)