![Haijai.com](https://www.haijai.com/my/logo/20150326_logo.png?t=2017-02-22)
© 2017 Copyright - Haijai.com
พ่อแม่ต้นแบบทางวินัย
ไม่ว่าคุณจะนำเอาวิธีไหนมาใช้ในการปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกน้อย วิธีเหล่านั้นจะกลายเป็นรูปแบบที่เจ้าหนูจะจดจำไว้เป็นแบบอย่าง ลูกสาวของผมเล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมของหลานชายผม ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ 6 ขวบ เจ้าหนูตื้อขอดูทีวี “เพิ่มอีกหนึ่งรายการ” แต่ลูกสาวของผมยืนกรานหนักแน่นที่จะไม่อนุญาตเขา แต่เมื่อโดนตื้อมากๆ เข้า เธอก็ทนไม่ไหวอารมณ์เสียใส่ลูกชาย ลูกชายจ้องแม่ตาค้างแล้วพูดว่า “แม่ครับ ใจเย็นๆ นะครับ เราจะรู้สึกดีขึ้น ถ้าแม่สงบลงได้” ในเวลาเช่นนี้ พ่อแม่หลายคนมีแนวโน้มที่จะปลีกตัวไปปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นเสียก่อน แล้วค่อยกลับมาสาสางคดีกับลูกน้อยใหม่
แต่สำหรับผมกลับคิดว่าทำไมไม่ปล่อยให้เจ้าหนูได้เห็นว่า พฤติกรรมของเขาทำให้คุณรู้สึกโกรธมากแค่ไหน และคุณมีวิธีจัดการกับอารมณ์ไม่ดีนี้อย่างไร
“แม่รู้สึกอารมณ์ไม่ดีจนอยากมีเวลาอยู่นิ่งๆ สักพักก่อน แล้วค่อยกลับมาคิดว่าจะจัดการยังไงกับเรื่องของหนูดี” พูดเพียงแค่นี้ เจ้าหนูก็รู้แล้วล่ะว่าคุณต้องการเวลาเป็นส่วนตัว
ลูกน้อยของคุณจะเลียนแบบวิธีที่คุณใช้ในการทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีที่คุณใช้ในการจัดการกับอารมณ์นั้น เด็กควรรู้ว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาอย่างไร โดยที่ไม่มีเรื่องอารมณ์ของคุณเข้ามากำหนดบทบาทความรับผดชอบของเขา แต่กระนั้นเขาก็ต้องรู้ด้วยว่าการกระทำของเขาส่งผลอย่างไรต่ออารมณ์ของคุณ ทั้งนี้ก็เพื่อการเรียนรู้ของเขานั่นเอง เด็กที่แสดงอารมณ์โกรธใส่พ่อแม่ จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการแสดงอารมณ์ของเขาออกมา ซึ่งพ่อแม่อาจฉวยโอกาสดีนี้ ผ่อนผันกฎข้อบังคับ เพื่อผ่อนคลายความรู้สึกทั้งของคุณและเขา โดยปราศจากการแสดงอารมณ์โกรธตอบเขา แม้ว่าเขาจะอาละวาดอยู่ก็ตาม
การระเบิดอารมณ์ของพ่อแม่อาจทำให้ลูกขวัญเสีย จนทำให้การเรียนรู้ของเขาสะดุดหยุดลง ความรู้สึกผิดต่อการกระทำของตนเองจนทำให้ลูกฝังใจว่า ตัวเองเป็นผู้ทำร้ายจิตใจของพ่อแม่อย่างรุนแรง อาจส่งผลให้เขามัวแต่ไปใส่ใจที่จะทำทุกอย่าง เพื่อให้พ่อแม่รู้สึกดีขึ้น มากกว่าที่จะพิจารณาถึงความผิดของตนอย่างเข้าใจ กระนั้นอารมณ์แปรปรวนขึ้นๆ ลงๆ ของพ่อแม่ เช่น โกรธ เจ็บปวด ผิดหวัง กังวล อันมีสาเหตุมาจากการกระทำของลูก จะช่วยให้เด็กน้อยเข้าใจถึงผลกระทบจากการกระทำของตน ที่จะส่งผลต่ออารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ภายในของผู้อื่นได้ดีขึ้น
ผมเฝ้าสังเกตครอบครัวชาวอินเดียแดงมายะ ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเม็กซิโก พวกเขาจะใช้วิธีทำตัวเป็นแบบอย่างในการสอนลูกน้อยของพวกเขา เด็กๆ ที่นี่จะค่อยๆ เลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ของพวกเขาทีละส่วนๆ ครั้งหนึ่งผมพยายามเริ่มต้นบทสนทนากับคุณแม่ท่านหนึ่ง ปรากฏว่าลูกชายตัวเล็กของเธอเข้ามาเลียบมองผมด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยคำถาม
แม่ของเด็กตอบคำถามผมเพียงสั้นๆ ด้วยเสียงที่เบา จากนั้นก็เบนสายตาไปอีกทาง เธอกำลังแสดงให้ลูกเห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องสนิทชิดเชื้อกับคนต่างถิ่นมาก และโดยไม่ต้องลังเลแม้แต่น้อย เด็กคนนั้นหลุบเปลือกตาลงต่ำ และหันหน้าไปด้านข้างทันที เขาเข้าใจและเชื่อฟังคำสั่งที่ไม่ได้พูดออกมาขอบคุณแม่อย่างถ่องแท้ ถึงวิธีการตอบสนองหรือปฏิบัติต่อคนแปลกหน้า
วิธีการที่พ่อแม่ใช้ในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง จะเป็นต้นแบบให้กับลูกน้อยในการเรียนรู้ที่จะนำมาใช้ในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเช่นกัน
พ่อแม่บางคนรู้ดีว่าตัวเองเป็น “จอมโวย” และอยากที่จะเลิกนิสัยไม่ดีนี้ เพราะเชื่อว่าพวกเขากำลังเตรียมลูกน้อยให้พร้อมที่จะอยู่รอดบนโลกที่อาจไม่มีใครคอยพะเน้าพะนอเขาเหมือนตอนเป็นเด็ก ขณะที่พ่อแม่ที่ไม่คิดจะใคร่ครวญ และแก้ไขพฤติกรรมที่ชอบตะคอกใส่ลูกน้อย เมื่อรู้สึกหงุดหงิด อีก 10 ปีให้หลัง ก็คาดการณ์เอาไว้ได้เลยว่า เด็กน้อยในวันนั้น จะตะคอกใส่คุณเมื่อเขารู้สึกหงุดหงิดด้วยน้ำเสียง และโทสะแบบเดียวกับที่คุณใช้กับเขาเลยทีเดียว ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คุณอาจรู้สึกว่าได้ยินเสียงพ่อแม่ของคุณเองที่กำลังตะคอกใส่คุณ ในขณะที่ฟังเสียงลูกวัยรุ่นของคุณกำลังตะคอกใส่คุณอยู่ เป็นเรื่องแปลกมากที่เด็กๆ มีแนวโน้มจะหยุดและฟัง เมื่อคุณพ่อคุณแม่ลดเสียงลงและเปลี่ยนเป็นกระซิบแทน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)