© 2017 Copyright - Haijai.com
คุณแม่ตั้งครรภ์กับอาการเจ็บกระดูกใต้อก
การตั้งครรภ์คือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากปกติ เปลี่ยนมาเป็นร่างกายที่พร้อมจะยืดขยายออก เพื่อการรับน้ำหนักของอีกหนึ่งชีวิตน้อยๆ ที่ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นทุกวันตลอด 9 เดือน และสิ่งที่จะเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้นก็คือฮอร์โมน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนของร่างกายระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น อาการแพ้ท้องก็มีผลมาจากระดับ HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ที่เพิ่มขึ้นซึ่งฮอร์โมนนี้ผลิตขึ้นโดยรก (Placenta) ที่กำลังเจริญเติบโต เมื่อรกได้รับฮอร์โมนนี้ในเวลา 12 สัปดาห์ ระดับฮอร์โมน HCG จะลดลง อาการคลื่นไส้อยากอาเจียนก็มักจะหายไปใน 16 สัปดาห์
ดังนั้นหากคุณหมอนัดเพื่อตรวจการตั้งครรภ์ ก็ควรที่จะไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง คุณหมอจะได้พิจารณาว่าอาการข้างเคียงใดที่เป็นปัญหาควรได้รับการรักษา เช่น อาการบวม อาจจะมีสาเหตุมาจากอากาศที่ร้อน แต่ถ้าความดันโลหิตของคุณขึ้นสูง และมีปริมาณโปรตีนในปัสสาวะสูง นั่นอาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นของโรคครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งคุณจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ค่ะ
อาการเจ็บที่กระดูกใต้อก (Rib Pain)
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 7 เดือน ขึ้นไป มักพบปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ก็คือ การเจ็บกระดูกตรงบริเวณใต้อก สาเหตุก็มาจากโครงสร้าง ขนาดของท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวที่ ใหญ่ขึ้นของมดลูก จากการขยายตัวของมดลูกนี้ เองจึงทำให้ไปกดทับกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุของ อาการเจ็บกระดูกใต้อก
การบรรเทาและแก้ไขอาการเจ็บกระดูกใต้อก
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่กำลังประสบปัญหาการเจ็บกระดูกใต้อกอยู่นั้นควรปฏิบัติตามนี้
1.เวลานั่งก็ควรที่จะนั่งให้หลังตรง เพื่อให้กระดูกใต้อกของคุณแม่มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นไม่อัดแน่นกันจนทำให้เจ็บ
2.การออกกำลังกายก็ช่วยบรรเทาได้ แต่ต้องเป็นการออกกำลังกาย แบบเบาๆ ให้คุณแม่นั่งกับพื้นแล้วชูแขนทั้งสองข้างขึ้นให้เหนือศีรษะ แล้วให้คุณพ่อช่วยดึงแขนแต่ละข้างขึ้นอย่างช้าๆ ทำซ้ำไปซ้ำมาสักประมาณ 10 นาที แต่ต้องทำอย่างช้าๆ การทำแบบนี้จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บกระดูกใต้อกได้
3.ชุดชั้นในเรื่องสำคัญ เพราะชุดชั้นในก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลทำให้เจ็บกระดูกใต้อกขึ้นมาได้ค่ะ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรเปลี่ยนมาสวมใส่ชุดชั้นในที่รองรับกับสรีระที่เปลี่ยนไปช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเลือกชุดชั้นในให้พอดีกับหน้าอก เพราะตอนตั้งครรภ์ขนาดหน้าอกจะขยายมากขึ้นกว่าปกติ ก่อนซื้อชุดชั้นในก็ควรวัดขนาด และลองสวมดูก่อน เพื่อให้พอดีกับขนาดของหน้าอก และควรเป็นชุดชั้นในที่สวมใส่สบาย รองรับกับขนาดของหน้าอกได้เป็นอย่างดีด้วย นี่คือวิธีปฏิบัติเบื้องต้นที่จะช่วยให้อาการเจ็บกระดูกใต้อกบรรเทาลงได้ค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)