Haijai.com


เสริมสร้างหรือบั่นทอนภูมิคุ้มกันของเด็ก


 
เปิดอ่าน 3336

เมื่อภูมิต้านทานแข็งแรง

 

 

เมื่อหน้าฝนมาทีไรร่างกายเรามักจะเป็นไข้ เป็นหวัด ไอ จาม เหมือนเมฆฝนหอบเอาความเจ็บป่วยมาหาเราอย่างบอกไม่ถูก ผู้ใหญ่อย่างเราเองคงไม่กล้าปฏิเสธว่า บางครั้งเราก็ไม่อาจต้านทานโรคไหว เป็นๆ หายๆ อยู่หลายรอบแล้วนับประสาอะไรกับลูกๆ หลานๆ เราที่ภูมิต้านทานอาจจะยังไม่แข็งแรงเต็มที่ มีคนเขาพูดว่าเจ็บป่วยทางกายยังไม่ร้ายแรงเท่าทางจิตใจ แน่นอนป่วยทางร่างกายเมื่อได้รับยาที่ถูกต้อง ความเจ็บป่วยนั้นก็จะหายลงไปในไม่ช้า สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมคิดเลยไปถึงเด็กๆ ที่อาจจะยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดีพอ ผมไม่ได้หมายถึงภูมิต้านทานทางกาย แต่ภูมิต้านทานที่อยู่ในจิตใจต่างหาก ที่ผมจะขอกล่าวถึง

 

 

ผมว่าการเลี้ยงลูกขึ้นมาสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งพ่อและแม่ต่างต้องมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในตัวเขา คุณอาจจะประคบประหงมเขาเหมือนไข่ในหิน หรืออาจจะเลี้ยงลูกให้รู้จักลองผดลองถูก วิธีที่คุณเลี้ยงลูกจะส่งผลในการเสริมสร้างความต้านทานให้กับเขาโดยตรง ผมไม่อาจพูดได้ว่าการที่คุณเลี้ยงลูกเหมือนไข่ในหินคือ การสร้างภูมิต้านทานให้เขาได้มากกว่า หรือการเลี้ยงลูกแบบนักผจญภัย จะทำให้เขาแข็งแรงกว่า แต่ผมอยากให้มองภาพว่า การที่เขาจะต้องเผชิญโลกในภายภาคหน้า เผชิญกับสังคมที่มีทั้งดีและไม่ดี นั่นคือความจริงที่เขาจะต้องเรียนรู้ในอนาคต และมันก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณโดยตรง ที่จะสอนเขาในเรื่องเหล่านี้ แม้ว่าคุณอาจจะอยากให้ลูกลองเรียนรู้ทุกอย่าง แต่ก็ควรต้องตระหนักว่านั่นไม่ใช่การบีบบังคับจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่หลายท่านนิยมให้ลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน เรียนเสริมนั่นเสริมนี่มากมาย หากนั่นคือความต้องการของตัวเด็กเอง ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในตัวเขา ว่าเขารู้จักรับผิดชอบ และหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตัว แต่หากนั่นเป็นการที่คุณต้องการให้ลูกเก่งเหนือใคร จนไม่มองถึงความต้องการ เด็กอยากจะมีเวลาเล่นกับเพื่อนบ้างหลังเลิกเรียน นั่นก็เป็นสิ่งที่น่านำมาพิจารณาครับ ว่าคุณกำลังสร้างเกราะคุ้มกันให้เขาเก่งหรือลิดรอนความสัมพันธ์ที่เขาอยากมีกับเพื่อนจนอาจคิดเลยไปได้ว่า คุณกำลังบั่นทอนภูมิคุ้มกันของเขาหรือเปล่า

 

 

ในฐานะพ่อ และอาจารย์คนหนึ่ง ผมเชื่อว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นปัจจัยในการเสริมสร้างหรือบั่นทอนภูมิคุ้มกันของเด็กๆ ซึ่งทุกท่านที่เป็นผู้ใหญ่ก็คงทราบดี ยกตัวอย่างเช่น คำชม หากได้รับเมื่อเด็กกระทำดี นั่นก็ถือเป็นการสร้างภูมิให้แก่เด็กได้ แต่ถ้าชมมาก จนถึงขั้นยกยอปอปั้นจนเกินควร ก็อาจจะเป็นการบั่นทอนเกราะคุ้มกันของตัวเด็กได้ เพราะนั่นอาจทำให้เด็กลืมตัว และเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในสังคมชีวิตจริง ที่ไม่ได้มีใครมาคอยนั่งชม นั่นจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจของเขาอย่างมากทีเดียว

 

 

หากคำถามคือ เราจะสร้างภูมิคุ้มกันหรือเกราะคุ้มกันให้กับเขาได้อย่างไร ? นี่คือสิ่งสำคัญที่ผมเชื่อว่า แต่ละครอบครัวต่างก็มีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป การให้ความรักอย่างเหมาะสม และถูกวิธีเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ควรจะฉุกคิดก่อนลงมือกระทำ ความรักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอแน่ แต่ตรงไหนถึงเรียกว่าเหมาะสม และพอดีคงตอบยาก แต่ผมอยากให้ดูที่ตัวเด็กเป็นหลัก เพราะแต่ละบ้านย่อมมีกฎเกณฑ์การเลี้ยงดูลูกที่ต่างกัน และเด็กแต่ละคนก็มีนิสัยใจคอที่ไม่เหมือนกัน

 

 

คงจะตีเส้นไม่ได้ว่านี่คือดี หรือนี่ไม่ควร ไม่มีเด็กคนไหนที่สมบูรณ์แบบหรือแม้แต่ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่ในฐานะพ่อแม่คนหนึ่ง เราคงไม่อยากจะให้ลูกมีภูมิต้านทานที่ไม่แข็งแรง เพราะนั่นหมายความว่า เมื่อเขาต้องเผชิญกับโลกภายนอก เขาจะเป็นคนอ่อนแอ เขาจะไม่กล้าสู้ปัญหา เขาจะไม่เผชิญหน้ากับความจริง เขาอาจจะเป็นเด็กที่เก็บตัว หรืออาจจะก้าวร้าวไปเลย

 

 

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าพ่อแม่อย่างเราต้องใส่ใจ นอกจากการให้ความรัก และความอบอุ่นแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดี และการพูดคุยอย่างเปิดอกก็เป็นสิ่งที่ต้องพึงกระทำ ซึ่งในบางครั้งเด็กจะสัมผัสและรู้สึกได้จริงก็ต่อเมื่อเราพูดหรือบอกเขานั่นเอง คุณพ่อคุณแม่หลายท่านต้องออกไปทำงานนอกบ้านทั้งวัน ก็ไม่มีโอกาสได้เจอลูก ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาในช่วงเย็นเราควรตักตวงช่วงเวลานั้นให้คุ้มค่า ย้ำให้เขามั่นใจว่าเราคิดถึงเขาตอนที่เราไม่เจอหน้าเขา สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้มันเหมือนเป็นการเสริมสร้างพลังที่ดีให้แก่เขา ทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้เขาอีกด้วย

 

 

สำนวนที่ว่าการไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ แต่นั่นก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะในชั่วชีวิตคนหนึ่งคน ต้องมีบาดเจ็บหรือล้มป่วยบ้างเป็นธรรมดา แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่มนุษย์อย่างเราควรโหยหาและพึงมีคือ การสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายของเราเองให้แข็งแรง (ทั้งกายและใจ) เพราะแม้ว่าวันหนึ่ง หากมีโรคร้ายใดมาเบียดเบียน หรือเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต หากเรามั่นใจว่าเรามีภูมิต้านทานที่แข็งแรง เราก็จะผ่านพ้นช่วงเวลาร้ายนั้นไปได้ด้วยดี

 

 

อาจารย์ปรมิตร ศรีกุเรชา

(Some images used under license from Shutterstock.com.)