© 2017 Copyright - Haijai.com
ดูหนัง ดูละคร หนทางฝึกสติ เพิ่มดีกรีความสุข
เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว หนุ่มน้อยในตระกูลผู้มีฐานะคนหนึ่งชื่อ อุปติสสะ ไปชมมหรสพดังเช่นทุกปี แต่ครั้งหลังสุดนี้รู้สึกไม่เหมือนเก่า ถึงตอนสนุกก็ไม่รู้สึกอยากหัวเราะ ถึงตอนเศร้าโศกก็ไม่รู้สึกเศร้าโศก มีแต่ความรู้สึกสังเวชสลดใจ
“ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจเลย ตัวละครเหล่านี้มีอายุอยู่ได้ไม่ถึง 100 ปีก็คงตายกันหมด แล้วก็จะมีตัวละครใหม่มาแทน ตัวเรามัวมาหลงดูอยู่ทำไม ไฉนจึงไม่แสวงหาโมกขธรรม (ความหลุดพ้น)”
เขารู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียนไร้แก่นสารจึงออกบวช ต่อมาภายหลังบายหนุ่มคนนี้ได้กลายมาเป็นพระสารีบุตร ธรรมเสนาบดี อัครสาวกฝ่ายขวานั่นเอง
แม้บารมีของพวกเราจะไม่เทียบเท่าพระสารีบุตร ผู้ที่พระพุทธองค์ยกให้ว่าเป็นเอตทัคคะหรือเป็นเลิศในด้านปัญญา เราก็ยังพออาศัยหนังและละครฝึกสติเพื่อให้เกิดกุศลได้ดังนี้
ฝึกการกำหนด “เห็นหนอ”
ครั้งต่อไปที่ดูโทรทัศน์หรือดูคลิปละครผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ลอง “ปิดเสียง” และกำหนดสติรู้ว่า “เห็นหนอ ๆ ๆ” ไปเรื่อยๆ วิธีกำหนดสติที่ถูกต้องนั้น ต้องมี 3 สิ่งนี้ครบ คือ
1.มีการเห็นเกิดขึ้น
2.มีจิตเข้าไปรับรู้ในอาการเห็นนั้น
3.มีองค์บริกรรมกำกับอยู่อย่างต่อเนื่องโดยตลอด
การกำหนดสติที่ถูกต้องตามหลักสติปัฏฐาน 4 นั้น ใช้หลัก “รู้แล้ววาง” หมายถึง “เห็นสักแต่ว่าเห็น” จบอยู่แค่นั้นทีละขณะๆ ในแต่ละปัจจุบันขณะ ไม่เอาเข้ามาปรุงแต่งในใจให้เป็นชอบ/ชัง ไม่เคล้าคลึงอารมณ์นั้น กำหนดแล้วปล่อย กำหนดแล้วปล่อย ต่อเนื่องไปอย่างนี้
ถ้าทำได้ถูกต้อง เราจะมองเห็นอากัปกิริยาของคนในจอที่ท่านพุทธทาสเคยเปรียบเทียบไว้ว่า “เหมือนคนบ้า” นั่นคือ “เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็เขินอาย เดี๋ยวก็โกรธแค้น หมุนเวียนไปอย่างนั้น โดยปราศจากสติ
แล้วเราก็จะรู้สึกเหมือนอุปติสสะมาณพว่า ชีวิตที่มีแต่โลภ โกรธ หลง นั้นมันช่างไร้แก่นสารเสียนี่กระไร
ฝึกการกำหนด “ยินหนอ”
วิธีฝึก คือ ลองเข้าไปดูภาพยนตร์แนวแอ๊คชั่นบู๊ล้างผลาญสักเรื่อง ด้วยความตั้งใจว่า ไม่ได้มาดูหนัง แต่มาฝึกสติ เมื่อถึงฉากต่อสู้ให้หลบตาลงต่ำ หรือจะมองตักตัวเองก็ได้ กำหนดสติรู้แต่เพียง “ยินหนอ ๆ ๆ”
ตอนเริ่มกำหนดสติรับรู้เสียนั้น เป็นธรรมดาที่เราจะยังรับรู้แยกแยะเสียงต่างๆ อยู่ตามความเคยชิน เช่น เราจะได้ยินเสียงของการต่อสู้กัน (เสียงชก แทง ยิง กระแทก คำราม ฯลฯ) เสียงเพลงบรรเลงประกอบ ฯลฯ
นอกจากนี้เราจะยังรับรู้ได้ด้วยว่าหัวใจเราเต้นแรงและเร็ว ลมหายในถี่สั้น รู้สึกอึดอัด รู้สึกเหมือนแรงดันวูบขึ้นศีรษะ ฯลฯ
แต่ถ้ากำหนดสติได้ถูกวิธีไปสักพัก เราจะอัศจรรย์ใจว่า เสียงต่างๆ เพียงแต่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทีละขณะๆ เท่านั้นเอง
นอกจากนี้เราจะรู้สึกเพียง “ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน” โดยไม่ไปปรุงแต่งต่อว่าเป็นเสียงอะไร ถ้ากลับมาสังเกตการหายใจจะพบว่า การหายใจช้าลง การผ่อนลมหายใจยาวและลึกขึ้น หัวใจเต้นช้าลง รู้สึกสงบนิ่งภายใน
แถมถ้าสมาธิเราดีอาจมีอาการปีติบางอย่าง เช่น ขนลุกวูบวาบ ตัวเบาสบาย เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
รับมือสถานการณ์จริงในชีวิต
ถึงแม้ชีวิตเราจะไม่ดราม่าเหมือนละครไทย หรือไม่บู๊ล้างผลาญขนาดเจมส์ บอนด์ แต่เราก็คงต้องเคยเจอสถานการณ์ที่น่าอึดอัดในชีวิตประจำวันกันบ้าง ไม่มากก็น้อย
ทักษะการกำหนด “เห็นหนอ” จะช่วยให้เรานิ่งเวลาเห็นสิ่งหรือคนที่ทำให้เราขัดเคืองใจ เช่นเดียวกับการกำหนด “ยินหนอ” ที่จะทำให้เรานิ่งได้เวลาต้องเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทขัดแย้ง
แล้วเราก็จะสามารถถอยออกมาได้ 1 ก้าว เพื่อเป็น “ผู้ดู” ละครชีวิตของตนเอง ใครทำได้เช่นนี้เป็นประจำ รับรองว่าความรู้สึกทุกข์จะหายไปเกินครึ่งแน่นอน
เพราะเหตุใดจึงเป็นกุศล
พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่า การเจริญสติวิปัสสนานั้นมีอานิสงส์สูงสุดในบรรดาการทำกุศลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า การเจริญสติอย่างถูกต้องตามหลักสติปัฏฐาน 4 เป็น “ทางสายเดียว” ที่จะทำให้คนเราพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ บรรลุธรรมได้นั่นเอง
การดูหนังดูละครโดยทั่วไปนั้น ให้แค่ความเพลิดเพลินชั่วขณะ สู้เราเปลี่ยนให้มันเป็นการ “สะสมหน่วยกิต” หรือ “กำลังสติ” เพื่อที่จะพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงดีกว่า เพราะนั่นหมายถึงความสุขแท้ที่ยั่งยืน
ไม่ลองก็ไม่รู้นะคะ
ดร.ณัชร สยามวาลา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)