Haijai.com


เสริมสร้างให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตนเอง


 
เปิดอ่าน 4727

เสริมสร้างให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตนเอง

 

 

ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self Esteem) หมายถึง ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองว่าตนเองเป็นคนมีคุณค่า มีความสุขในสิ่งที่ตนเองมีและในสิ่งที่ตนเองเป็น อีกทั้งภูมิใจในความสามารถด้านต่างๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถทางด้านศิลปะ ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านวิชาการและความถนัดในด้านต่างๆ หากถามว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่จึงต้องเสริมสร้างให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตนเอง เหตุผลก็เพราะ เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง (High self-esteem) จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย มีอารมณ์ดี ร่าเริง แจ่มใส รู้สึกพอใจในตนเอง มีความมั่นใจในการที่จะกล้าทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย ขี้น้อยใจ ชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น กังวลและวิตกกังวลง่าย มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ไม่กล้าตัดสินใจ ลังเล ขี้อาย มองเห็นแต่ข้อด้อยของตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ ในช่วงอายุ 1-6 ขวบถือเป็นช่วงวัยที่สำคัญในการปลูกฝังและพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเองให้ เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการดังนี้

 

 ให้ความรักกับลูกอย่างเต็มที่ ความรักในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับเด็ก เพราะการได้รับความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่จะทำ
ให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง ซึ่งจะส่งผลให้ลูกเป็นคนกล้าคิดกล้าทำและมีความมุ่งมั่นในการกระทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยตนเอง นอกจากนี้เด็กที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่นจะเป็นคนที่มีอารมณ์ดี สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสังคมได้ง่าย เข้าใจบทบาทของตนเอง สามารถเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

 

 

 ไม่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์หรือการเปรียบเทียบความสามารถของลูกกับคนอื่น ไม่ว่าจะในระหว่างพี่น้องหรือเพื่อนของลูก อย่างเช่นในกรณีที่ในครอบครัวมีลูกหลายคน พ่อแม่ควรระมัดระวังเป็นอย่างมากในการพูดจาเปรียบเทียบลูกแต่ละคน เป็นต้นว่า

 

“ทำไมเราถึงคิดเลขไม่เก่งเหมือนพี่เขาเลยนะ”

 

 

“ดูซิ... โตขนาดนี้แล้วยังอ่านหนังสือไม่คล่องอีก สู้น้องก็ไม่ได้”

 

 

คำพูดต่างๆ เหล่านี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่พูดย้ำกับลูกอยู่บ่อยๆ มันจะกลายเป็นแผลที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของลูก ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง รู้สึกอับอาย อิจฉาและจะทำให้เขากลายเป็นคนคิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเช่นกันว่าตนด้อยกว่าคนอื่น ซึ่งจะทำให้ลูกกลายเป็นคนไม่กล้าแสดงออกและรู้สึกว่าตนเองมีข้อบกพร่องอยู่ตลอดเวลา

 

 

 ค้นหาความสามารถของลูก หน้าที่ซึ่งสำคัญอย่างหนึ่งของคนที่เป็นพ่อแม่ก็คือ การมองหาว่าลูกมีความถนัดและความสามารถในด้านใด โดยดูได้จากการที่เขามีความสุขในการทำสิ่งนั้นและสามารถทำสิ่งนั้นออกมาได้ดี เช่น มีความถนัดหรือเก่งในเรื่องภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กีฬา ดนตรี ศิลปะ การประดิษฐ์ การทำอาหาร ซึ่งเมื่อพ่อแม่รู้แล้วว่าลูกมีความสามารถในด้านใดก็สนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ เช่น เมื่อพบว่าลูกชอบวาดรูป ก็หาอุปกรณ์กระดาษ ปากกา ดินสอสีมาให้ลูก วันหยุดก็พาลูกไปดูนิทรรศการศิลปะ หรือพาลูกไปเรียนศิลปะเพิ่มเติม ซึ่งการสนับสนุนความสามารถของลูกนั้นถือเป็นวิธีการเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้ลูกโดยตรง เมื่อลูกทำดีทำได้เขาจะมีความภาคภูมิใจในตนเองและพยายามจะทำสิ่งเหล่านั้นให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

 

 

 ให้ลูกเข้าสังคม คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกมีเพื่อนทั้งต่างวัยและในวัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในหมู่ญาติพี่น้องวัยใกล้เคียงกัน ตลอดทั้งเพื่อนบ้านและเพื่อนที่โรงเรียน เพราะการให้ลูกได้มีเพื่อนและรู้จักเข้าสังคมจะทำให้ลูกเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รู้จักการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและรู้บทบาทของตนเองในสังคม ซึ่งจะทำให้ลูกมีความสุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่รู้สึกแปลกแยก เมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีทัศนคติที่ดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เข้าใจถึงบทบาทของการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

 

 

ดร.แพง ชินพงศ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)