© 2017 Copyright - Haijai.com
ด่างขาว ในเด็กเล็ก
น้องมีมี่อายุ 7 ปี เป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน มีวงสีขาวๆ ขึ้นที่แก้มเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ตอนแรกคุณแม่เข้าใจว่าเป็นกลากน้ำนม จึงยังไม่ได้พาไปหาหมอ เนื่องจากน้องมีมี่ต้องซ้อมว่ายน้ำและตากแดดทุกวัน แต่หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ผื่นเริ่มลามไปที่ต้นแขนและศีรษะ จนถูกเพื่อนล้อว่าผมเปลี่ยนเป็นสีขาวคุณแม่เลยขอคำปรึกษาจากคุณหมอเด็กที่ฉีดวัคซีนให้ประจำ คุณหมอแนะนำให้ตรวจกับคุณหมอผิวหนังเด็กด่วน เพราะว่าน้องมีมี่มีอาการของ "โรคด่างขาว"
ด่างขาว หรือ Vitiligo เป็นโรคผิวหนังที่พบในเด็กที่กำลังจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พบได้น้อยในเด็กเล็ก แต่ก็มีรายงานพบด่างขาวในเด็กที่อายุ 6 เดือน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีประวัติครอบครัวที่เป็นด่างขาว สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีผิว (melanocyte) ถูกทำลาย ในผู้ใหญ่มักสัมพันธ์กับโรคของระบบออโตอิมมูน เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน และโรคโลหิตจาง
ลักษณะผื่นที่พบใน ด่างขาว
คือ มีผื่นจะเป็นวงสีขาว อาจมีขอบเรียบหรือขอบหยัก พบได้ทุกบริเวณของร่างกาย โดยจะพบมากในบริเวณที่โดนแสงแดด มักพบบริเวณใบหน้า รอบดวงตา ปลายนิ้วมือ และยังทำให้ขนที่อยู่บริเวณที่เป็นด่างขาวมีสีขาว ต่างจากกลาก เกลื้อน หรือกลากน้ำนม ที่ขนขึ้นตรงจุดๆ นั้นจะมีสีน้ำตาลปกติในเด็กๆ ที่แยกลักษณะผื่นได้ไม่ชัด อาจต้องใช้เครื่อง Wood’s lamp ตรวจดูเพิ่มเติม ปกติแล้วผู้ป่วยเป็นด่างขาวไม่ต้องใช้การตรวจทางห้องปฎิบัติการ ยกเว้นในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคออโตอิมมูน โรคที่มีผื่นเป็นวงขาวที่พบได้ในเด็กเล็ก เช่น ปานขาว กลากน้ำนม กลากเกลื้อน
การรักษามีหลายวิธี
• การทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ได้ผลในคนไข้บางราย แต่ต้องในปริมาณยาที่เหมาะสม เนื่องจากยามีผลข้างเคียงจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง
• ยาที่กระตุ้นการทำงานและการแบ่งตัวของเซลล์ สร้างสีเมื่อได้รับแสงอัลตราไวโอเลต โดยทายาหรือรับประทานยาแล้วไปตากแดดหรือฉายแสง
• ยาในกลุ่ม tacrolimus และ pimecrolimus ซึ่งใช้ได้ผลในการรักษาด่างขาวบริเวณใบหน้าและคอ
• การฉายแสงอาทิตย์เทียม ใช้รังสียูวีกระตุ้นเซลล์สร้างสีให้ทำงานการรักษามีแบบที่ใช้การทายาหรือกินยา แล้วไปฉายแสงยูวีเอ (Photochemotherapy PUVA) ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง เช่น แสบ คัน และมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี หรืออาจใช้การรักษาโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตบี ชนิดความยาวคลื่นแคบ (Narrow band UVB therapy) หรือการใช้เลเซอร์ (Excimer Laser)
• การปลูกถ่ายผิวหนัง โดยตัดผิวหนังบริเวณที่เซลล์สีปกติมาปลูกบริเวณที่เป็นด่างขาว (skin grafts) การรักษาวิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
วิธีการรักษาขึ้นกับอายุที่เริ่มเป็น ตำแหน่ง และขนาด เมื่ออาการดีขึ้น เม็ดสีผิวบริเวณที่เป็นด่างขาวจะกลับมามีสีอีกครั้ง ซึ่งเรียกว่า repigmentation โรคด่างขาวในเด็กจะรักษาค่อนข้างยากค่ะ มีโอกาสน้อยที่จะหายได้เองตามธรรมชาติ ใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ สิ่งสำคัญคู่ไปกับการรักษา คือต้องหลีกเลี่ยงแดดจัดๆ ทาครีมกันแดด กางร่ม หรือใส่เสื้อแขนยาว เพราะบริเวณที่เป็นด่างขาว มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าบริเวณอื่นนะคะ
พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)