
© 2017 Copyright - Haijai.com
ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ต่อทารกในครรภ์
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการระบาดของโรคติดต่อไม่ว่าจะเป็น มือ เท้า ปาก ที่พบในเด็กๆ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนาความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าคนที่เป็นจะมีอายุเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว เชื้อนี้ยังสามารถพัฒนาความรุนแรงจนส่งผลถึงกับชีวิตเลยทีเดียวฟังข่าวก็น่าเป็นห่วง คนที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องระวังการติดเชื้อก็คือคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยนะครับ คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรหลีกเลี่ยง ป้องกันการสัมผัสเชื้อ โดยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ชุมชนและการล้างมือบ่อยๆ ก็จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงได้ครับ
สำหรับเชื้อไวรัสอีกชนิดที่ระบาดกันทุกปี ซึ่งก็มีความน่ากลัวพอๆ กัน นั่นก็คือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้นไม่นานมานี้มีการพัฒนาวัคซีนออกมาเพื่อป้องกัน แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันสำหรับการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งผลการศึกษาในระยะยาวอาจยังไม่ชัดเจน ก่อนการจะให้วัคซีนจึงมีการชั่งน้ำหนักความจำเป็นกับความเสี่ยงที่ยังไม่ทราบแน่ชัด เช่นในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด ก็เป็นการสมควรที่จะให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
แต่เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน JAMA ที่แสดงให้เห็นว่าการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ influenza A (H1N1) ในหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่ส่งผลใดๆ ต่อการเกิดความพิการของทารก หรือจำกัดการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรือการคลอดก่อนกำหนด
ในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของ H1N1 ในปี 2009 นั้น หญิงตั้งครรภ์ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของแม่โดยตรง และอาจส่งผลถึงทารกในครรภ์ในระดับที่รุนแรงด้วย หญิงตั้งครรภ์จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะต้องได้รับวัคซีนป้องกัน Influenza A (H1N1) pdm09 และได้มีการประเมินว่าหญิงตั้งครรภ์ เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวนั้น มีจำนวนมากถึง 2.4 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ในการศึกษาของคุณหมอ Bj rn Pasternak, M.D., Ph.D., อยู่ที่สถาบัน Statens Serum, Copenhagen, Denmark ได้ทำการศึกษาว่าการให้วัคซีน influenza A(H1N1) pdm09 ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ การเกิดการคลอดก่อนกำหนด และการเกิดความพิการรุนแรงในทารกแต่กำเนิด
นักวิจัยได้ทำการสำรวจทารกแรกเกิดในเดนมาร์กจำนวน 53,432 รายที่เกิดในเดือนพฤศจิกายน 2009 และกันยายน 2010 จากจำนวนทารกทั้งหมดนี้ 6,989 ราย (13.1%) มารดาได้รับวัคซีนขณะตั้งครรภ์ ทีมวิจัยพบว่าไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างอัตราการเกิดความพิการแต่กำเนิด อัตราการคลอดก่อนกำหนด และอัตราการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ระหว่างทารกเหล่านี้กับทารกที่มารดาไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
นักวิจัย พบว่า
• 5.5% ของทารกที่มารดาได้รับวัคซีน มีความพิการแต่กำเนิด ในขณะที่ทารกที่มารดาไม่ได้รับวัคซีนมีความพิการแต่กำเนิด 4.5% ซึ่งในทางสถิติถือว่าไม่แตกต่างกันนะครับ
• 9.4% ของทารกที่มารดาได้รับวัคซีน คลอดก่อนกำหนด ในขณะที่ทารกที่มารดาไม่ได้รับวัคซีน 7.3% คลอดก่อนกำหนด
ทารก 302 ราย คลอดก่อนกำหนด จากจำนวน 6,543 รายที่มารดาได้รับวัคซีนในระยะไตรมาสที่ 2-3 (4.6%) เปรียบเทียบกับทารก 295 รายคลอดก่อนกำหนด จาก 6,366 รายของมารดาที่ไม่ได้รับวัคซีน (4.6%)
นั่นหมายความว่า เมื่อประเมินจากอายุครรภ์แล้ว ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน ในมารดาที่ได้รับวัคซีนในระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์มีอัตราการคลอดก่อนกำหนด 7.6% เทียบกับ 9.4% ของกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ในขณะที่มารดาที่ได้รับวัคซีนในระยะไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์มีอัตราการคลอดก่อนกำหนด 9.7% เทียบกับ 9.9% ของกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
จึงสรุปได้ว่าการศึกษานี้พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติของการให้วัคซีน AS03-adjuvanted influenza A(H1N1) pdm09 ระหว่างการตั้งครรภ์ต่อผลเสียที่มีต่อทารก อย่างไรก็ตามการศึกษานี้จะอยู่ในพื้นที่จำกัด และต้องการการศึกษาอื่นๆ จากทั่วโลกเพิ่มเติม
นพ.ม.ร.ว.ทองทิศ ทองใหญ่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)