Haijai.com


วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ


 
เปิดอ่าน 2137

วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

 

 

ไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้น ที่วัคซีนมีความสำคัญ ในวัยรุ่น-วัยผู้สูงอายุก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีน การให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่เช่นกัน โดยวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดในช่วงอายุตั้งแต่ 19-64 ได้แก่

 

1.วัคซีนป้องกัน คอตีบและบาดทะยัก ควรรับการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปีต่อเนื่องจากวัยเด็ก เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย จะมีการลดลงตามอายุที่มากขึ้น

 

 

2.วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา เด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนนี้ในช่วงแรกเกิด แต่ในผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 หากตรวจเลือดแล้วพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ควรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ร่างกายเราไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบีขึ้นมาเองได้

 

 

นอกจากผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แบบเฉียบพลันมาก่อน และเมื่อหายจากโรค ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต แต่ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่ยังเด็ก โอกาสที่เป็นโรคแล้วหายจะน้อย คือ จะมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกายไปตลอด เรียกว่า เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี เนื้อเยื่อตับมีโอกาสจะถูกเชื้อไวรัสทำลาย โดยเฉพาะตอนที่ร่างกายอ่อนแอ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ

 

 

โดยปกติการให้วัคซีนนี้จะให้ทั้งหมด 3 เข็ม ในระยะเวลา 6 เดือน โดยทั่วไปแล้วไม่มีความจำเป็นต้องตรวจระดับภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน และไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนซ้ำอีก

 

 

3.วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จริงๆ แล้ว ผู้มีสุขภาพแข็งแรงในวัยผู้ใหญ่ ไม่ได้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่โดยตรง เมื่อเป็นแล้วมักจะหายได้เอง โอกาสที่จะเป็นโรครุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หรือเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ พบได้น้อย ความน่ากลัวของเชื้อในกลุ่มคนที่มีความแข็งแรงอาจไม่น่ากลัว

 

 

แต่ถ้าเมื่อใดที่เชื้อไปติดในกลุ่มเด็กเล็ก หรือกลุ่มคนที่มีโรคภูมิต้านทานน้อย มีโอกาสที่จะทำให้เสียชีวิตได้ แต่เดิมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ถูกแนะนำให้ฉีดเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ภูมิต้านทานน้อยเท่านั้น แต่เมื่อเกิดการระบาดในวงกว้าง ประชากรทั่วไปที่ถึงแม้จะใช่กลุ่มเสี่ยง ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนก็เท่ากับเป็นการช่วยกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นการจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ในวงแคบลง และกลุ่มเสี่ยงก็จะสัมผัสเชื้อน้อยลง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง และลดการสูญเสียได้มาก

 

 

โดยปกติเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ทุกปี ข้อแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไปคือ ควรรับวัคซีนนี้อย่างน้อยปีละครั้ง

 

 

4.วัคซีนป้องกันโรหัด คางทูม หัดเยอรมัน (Measles Mumps Rubbella Vaccine : MMR) สำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคหัด ได้แก่ ไม่เคยฉีดวัคซีน และไม่เคยเป็นโรคหัดมาในอดีตหรือตรวจไม่พบภูมิต้านทานต่อโรคหัด  หรือในหญิงที่วางแผนจะมีบุตร และตรวจไม่พบภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน หรือในกรณีผู้ที่เรียนระดับอุดมศึกษาสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหัด หรือในขณะนั้นกำลังมีโรคหัดระบาด รวมทั้งนักเรียนที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ 1 เข็ม และกระตุ้นอีก 1 เข็ม ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์

 

 

5.วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ช่วยป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งก่อโรคมะเร็งปากมดลูก ในกลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9-26 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้ โดยกลุ่มที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธุ์จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนผู้หญิงที่มีอายุเกิน 26 ปี ก็จะยังได้รับประโยชน์จากวัคซีนนี้ โดยควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนการรับวัคซีน

 

 

วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ

 

โดยทั่วไป เมื่ออายุย่างเข้า 65 ปี จะจัดว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติในร่างกายจะเริ่มลดลง ข้อแนะนำสำหรับวัคซีนที่จำเป็นในวัยนี้ ได้แก่

 

 ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยักทุก 10 ปี

 

 

 ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพราะในวัยผู้สูงอายุ ภูมิต้านทานโรคอาจน้อยลง หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาก็มีโอกาสที่จะมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้น

 

 

 อีกชนิดหนึ่งคือ วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) ซึ่งเป็นกลุ่มเชื่อแบคทีเรีย ซึ่งมีจำนวนหลายสายพันธุ์ที่ก่อโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักแสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นในผู้สูงอายุแล้ว เป็นชชนิดที่รุนแรง ก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้รับวัคซีน IPD ทั้งชนิด 13 และ 23 สายพันธุ์ เพียงชนิดละ 1 ครั้ง

 

 

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนต่างๆ ในปัจจุบันนี้ อาศัยข้อมูลจากในอดีตเป็นบทเรียน ว่าในสมัยก่อนเราต้องเจอกับโรคติดเชื้อร้ายแรงอะไรมาบ้าง มีอันตรายกับประชากรมากน้อยแค่ไหน กลุ่มแพทย์และกลุ่มนักวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันทำงานคิดค้น วิจัย และพัฒนาวัคซีนออกมาใช้เพื่อประโยชน์ในการลดความสูญเสียจากกลุ่มโรคติดเชื้อต่างๆ

 

 

ซึ่งในปัจจุบันการพัฒนาเรื่องวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรงต่างๆ ก็ยังไม่หยุด โดยในปี 2559 นี้ มีโอกาสที่จะมีการนำวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกมาใช้ในกลุ่มประชากรในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ในการติดเชื้อไข้เลือดออก ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย เราจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสารและหาโอกาสรับวัคซีนที่จำเป็นตามคำแนะนำ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อต่างๆ ที่มีความสำคัญ หรือจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาหากต้องเป็นโรคเหล่านั้นขึ้นมาจริงๆ

 

 

นพ.ณัฐพล โรจน์เจริญงาม

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชปฏิบัติทั่วไป

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)