© 2017 Copyright - Haijai.com
วัคซีนแต่ละช่วงวัย ฉีดไว้ ไกลโรค
เนื่องด้วยภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เชื้อโรคหลายชนิดมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โรคติดเชื้อบางอย่างได้หายไปจากโลกนี้ ขณะที่มีการเกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ร่างกายของเราก็มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด แต่ก็มีเชื้อโรคบางชนิดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจไม่สามารถสร้างขึ้นได้อย่างเพียงพอ ในการป้องกันหรือต่อสู้กับโรคนั้นๆ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพที่รุนแรงหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงเป็น สิ่งจำเป็นที่เราไม่ควรมองข้าม อย่าคิดว่า ร่างกายแข็งแรงดี หรือ เคยได้รับวัคซีนในวัยเด็กแล้ว ภูมิคุ้มกันโรคทุกอย่างจะอยู่ได้ยาวนานตลอดชีวิต
วัคซีนสำหรับเด็ก
ในวัยเด็กภูมิต้านทานส่วนใหญ่จะได้รับจากคุณแม่ตอนตั้งครรภ์ แต่การฉีดวัคซีนในช่วง 6 เดือนแรกก็สำคัญเช่นกัน เพราะเชื้อหลายๆ ชนิดสามารถก่อโรคได้ทันทีตั้งแต่แรกเกิด โดยเด็กไทยทุกคนที่เกิดมาควรจะได้รับวัคซีนเหล่านี้
1.ช่วงแรกเกิด – 1 เดือน เมื่อแรกเกิดภายใน 24 ชั่วโมงแรก ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคและวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี (BCG) ครั้งที่ 1 และ เมื่ออายุ 1-2 เดือนรับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ครั้งที่ 2 (กรณีแม่เป็นพาหะตับอักเสบ รับที่ 1 เดือน)
2.ช่วงอายุ 2 เดือน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP วัคซีนฟรีชนิดหยอด) และ Hib (Haemophilus influenza type B vaccine) ครั้งที่ 1 เป็นวัคซีนเสริมที่ควรฉีด ที่หากฉีดพ่อแม่ต้องจ่ายค่าวัคซีนเอง (Hib เป็นวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มักก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากปล่อยไว้เด็กอาจมีไข้สูงหรือชักได้)
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า (Rota Virus Vaccine) เป็นวัคซีนเสริมแบบหยอดโรต้า คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เด็กมีอาการท้องเสีย โดยเด็กจะถ่ายเป็นน้ำในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนาสมัยก่อน เด็กมีอาการท้องเสียและถ่ายท้องมากจนเสียชีวิต โดยไม่ใช่เชื้ออหิวาต์ แต่กลับพบว่าเป็นเชื้อไวรัสโรต้านี่เอง วัคซีนการป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ IPD เป็นวัคซีนเสริมที่ควรฉีด โดยเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรค จะเล่นงานที่เยื่อหุ้มสมอง ปอด แก้วหู หูชั้นใน หูชั้นกลาง โดยอาจทำให้เป็นหูน้ำหนวก หูเป็นหนอง ปอดอักเสบติดเชื้อ หรือปอดบวม หากมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็จะทำให้เด็กมีพัฒนการช้า
3.ช่วงอายุ 4 เดือน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP วัคซีนฟรีชนิดหยอด) ครั้งที่ 2 และถ้าผู้ปกครองตัดสินใจฉีดวัคซีนเสริมอย่าง Hib โรต้า และ IPD ในครั้งแรกแล้วก็ควรได้รับการฉีดต่อเนื่อง
4.ช่วงอายุ 6 เดือน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP วัคซีนชนิดหยอด) ครั้งที่ 3 และถ้าผู้ปกครองตัดสินใจที่จะฉีดวัคซีนเสริมอย่างวัคซีน Hib โรต้า และ IPD ในครั้งที่สองแล้ว ก็ควรได้รับการฉีดต่อเนื่อง
รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ควรมีการฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ในช่วงปีแรกจะฉีด 2 เข็ม คือ ถ้าฉีดเข็มแรกตอนอายุ 7 เดือน จะฉีดเข็มที่สองเพื่อกระตุ้นตอนอายุ 8 เดือน โดยทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน โดยจะฉีดในปริมาณน้อยเพียง 0.25 ml หลังจากนั้นก็เว้นระยะห่างไป 1 ปี จึงจะฉีดอีกครั้ง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ต้องฉีดกระตุ้นทุกๆ 1 ปี เพราะไข้หวัดใหญ่ที่เกิดในแต่ละปี สายพันธุ์ที่ระบาดจะไม่ค่อยซ้ำกัน
5.ช่วงอายุ 12 เดือน (1 ขวบ) ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ครั้งที่ 1 และฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ (JE วัคซีนฟรี) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ (วัคซีนเสริม) เริ่มตั้งแต่อายุ 12 เดือนขึ้นไป ห่างกัน 6-12 เดือน
วัคซีนสุกใสจะเริ่มฉีดที่อายุ 12 เดือน และกระตุ้นตอนอายุ 4-6 ขวบ อีกหนึ่งเข็ม ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันได้จนเป็นผู้ใหญ่ เชื้อสุกใสมีโอกาสก่อให้เกิดโรครุนแรง โดยเฉพาะในเด็กที่ภูมิต้านทานไม่ดี หากเชื้อขึ้นสู่สมองหรือมีปอดอักเสบ เด็กจะมีอาการรุนแรง ซึ่งมีรายงานว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้แต่เป็นส่วนน้อยมากเท่านั้น ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะหายได้เอง
6.อายุ 18 เดือน (1 ขวบครึ่ง) ฉีดกระตุ้นวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (ชนิดทั้งเซลล์ ก่อให้เกิดภูมิต้านทานดี แต่ว่าเด็กมักมีไข้สูงได้หลังฉีด) รวมถึงโปลิโอ (ชนิดหยอดในวัคซีนฟรี)
7.ช่วงอายุ 4-6 ขวบ ฉีดวัคซีนกระตุ้นคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หยอดหรือฉีดวัคซีนโปลิโอ ฉีดวัคซีนกระตุ้นหัด หัดเยอรมัน คางทูม ฉีดวัคซีนกระตุ้นไข้สมองอักเสบ JE และฉีดวัคซีนกระตุ้นสุกใส
8.ช่วงอายุ 9-11 ปี ควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV (วัคซีนเสริม) เป็นเพราะปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมเริ่มเปิดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องวัยรุ่นกับเพศสัมพันธ์เริ่มพบได้มากขึ้น สมัยก่อนสำรวจพบว่าเด็กมีเพศสัมพันธ์ที่อายุเฉลี่ยประมาณ 13-14 ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยต่ำลงไปกว่านั้น รวมทั้งในเรื่องของชายรักชายที่เพิ่มขึ้น การฉีดวัคซีน HPV ในผู้หญิงสัมพันธ์กับการลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ในผู้ชายการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหูดหงอนไก่ โดยขึ้นเป็นหูดที่บริเวณอวัยวะเพศ ถ้านำมาติดผู้หญิงก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคหูดหงอนไก่เช่นกัน รวมถึงโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้วัคซีนได้เร็วสุด เมื่อเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 9 ปี ถึงแม้เด็กอาจไม่ได้ติดเชื้อหรือมีปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ถือเป็นการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต
เด็กมีภูมิต้านทานที่ยังไม่ดีมากนัก โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก การได้รับวัคซีนจึงมีความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน โดยจะมีการฉีดให้ฟรีในวัคซีนจำเป็น ยกเว้นวัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก แต่คุณพ่อคุณแม่อาจรับวัคซีนฟรีจากภาครัฐแล้วเพิ่มวัคซีนทางเลือกก็ได้ เป็นการประหยัด ข้อดีของการรับวัคซีนทางเลือกคือ วัคซีนหลายๆ ตัวเมื่อฉีดแล้ว ลดการเกิดไข้สูงในเด็ก การเกิดไข้ชักจะน้อย รวมถึงวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อยุคปัจจุบันที่มีในวัคซีนเสริม แต่ไม่มีในวัคซีนฟรี
หมายเหตุ มีวัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ บาดทะยัก Hib ซึ่งช่วยลดภาวะไข้สูงได้
พญ.อนงค์พร ผาภูมิ
กุมารแพทย์
โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช
(Some images used under license from Shutterstock.com.)