© 2017 Copyright - Haijai.com
การรักษาทางการแพทย์จีน
การแพทย์แผนจีนถือได้ว่าเป็นศาสตร์การแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดศาสตร์หนึ่งของโลก โดยมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ถึงเมื่อ 4,000-5,500 ปีก่อน โดยมีหลักฐานการค้นพบ เข็มหิน คาดว่านำมาใช้ฝังเข็มรักษาโรค เข็มเล็กๆ ถูกทิ่มเข้าไปในร่างกาย ทำไมถึงรักษาโรคได้ ในร่างกายคนเราจะมีเส้นลมปราณหลัก 14 เส้นเชื่อมต่อกัน ระหว่างอวัยวะภายในและอวัยวะภายนอก เชื่อมต่อกันทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นที่อยู่ของชี่ เลือด สารน้ำและสารจำเป็นต่างๆ เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อฝังเข็มลงไปที่จุดชี่ จะถูกกระตุ้นปรับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานเป็นปกติ ผลักดันของเสียต่างๆ ที่สะสมอยู่ให้กระจายออกและขับออกไป
ก่อนจะทำการฝังเข็ม ต้องวินิจฉัยโรคให้ได้เสียก่อน แล้วจึงเลือกว่าจะใช้วิธีการรักษาอย่างไร หากเมื่อการวินิจฉัยต่างกัน จุดที่เลือกใช้ในการรักษาก็ต่างกัน ประสิทธิภาพที่ได้จากการรักษาก็ต่างกันด้วย การวินิจฉัยโรคของแพทย์แผนจีน ต่างจากการวินิจฉัยโรคของแผนตะวันตก แผนจีนมีทฤษฎีพื้นฐานที่สำคัญที่แผนตะวันตกไม่มีหลายอย่าง เช่น หยินหยาง ปัญจธาตุ อวัยวะภายใน ชี่ เลือด และสารน้ำ และที่สำคัญที่สุดคือทฤษฎีเส้นลมปราณ ความสัมพันธ์ของอวัยวะตันและอวัยวะกลวงคู่นอก-ใน เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝังเข็มเป็นอย่างมาก
การแมะหรือการจับชีพจร เป็นวิธีการตรวจโรคของการแพทย์แผนจีน (มอง, ดมฟัง, ถามอาการ, แมะสัมผัส) โดยจะจับที่ชีพจรบริเวณข้อมือทั้งซ้ายขวา โดยการเต้นของชีพจร จะสะท้อนถึงการทำงานของอวัยวะภายใน การไหลเวียนของพลัง สารต่างๆ ในร่างกาย แล้วนำมาผสมกับการมองสีหน้า ดูลิ้น ฟังเสียงหายใจ ถามอาการต่างๆ แล้วจึงวินิจฉัยว่าคนๆ นั้นเป็นโรคอะไร แล้วจึงเลือกวิธีการรักษา
การครอบแก้ว คือ การนำถ้วยแก้วมาพาความร้อนให้เป็นสุญญากาศ ครอบลงไปบนผิวหนัง ผิวหนังจะถูกดูดขึ้นมา หากมีเลือดเสียคั่งอยู่ รอยที่เกิดขึ้นจะเป็นสีม่วงคล้ำอยู่ในระดับลึก หากมีลมหรือชี่อุดกั้น รอยที่เกิดขึ้นจะเป็นเม็ดสีแดงเล็กๆ อยู่ในระดับตื้น นอกจากรอยที่เกิดขึ้นสามารถนำมาวินิจฉัยโรคได้แล้ว ยังรักษาโรคได้ด้วย เมื่อครอบแก้วผิดหนังถูกดูด รูขุมขนเปิดกว้าง ของเสียที่อยู่ตามผิวหนัง รูขุมขนจะถูกดูดออกมา
การกวาซา (gua) หมายถึงการขูด, (sha) หมายถึงรอยแดงที่เกิดขึ้นเมื่อขูด โดยเป็นของเสียที่คั่งในร่างกาย การขูดจะไม่แรงมาก แต่ไม่ควรเบาจนเกินไป ขูดตามแนวเส้นลมปราณ แรงลึกถึงระดับเส้นลมปราณ แต่ไม่แรงถึงระดับเส้นเลือด บางคนเข้าใจผิดว่าขูดแรงๆ ต้องมีรอยแดงเกิดขึ้น แต่ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะมีรอยแดง
แพทย์จีนฐิติพร จันทร์อัมพร
แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลมหาชัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)