© 2017 Copyright - Haijai.com
กินยาผิดวิธี ทำร่างกายดื้อยาไม่รู้ตัว
เชื่อแน่ว่าใครหลายคนคงคุ้นชินกันการเลือกซื้อยาบรรเทาอาการต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด แก้มึนเมา หรือกระทั่งยาลดไข้ ลดหวัด หากเป็นเพียงอาการปวดหัวหรือปวดกล้ามเนื้อทั่วไป คงไม่ส่งผลระยะยาวอะไรมาก แต่หากอาการหนักขึ้น การบรรเทาเริ่มกลายเป็น “การรักษา” วิธีจ่ายยาย่อมต้องใช้ความชำนาญมากขึ้น จึงไม่แปลกที่การรับประทานยาด้วยตนเองในบางครั้ง กลับไม่ทำให้อาการเหล่านั้นทุเลาลงได้ ไม่ใช่เพราะฤทธิ์ยาไม่ดี แต่เป็นเพราะการรับประทานยาผิดวิธีเสียมากกว่า
รับประทานยาเท่าไร ไม่หายสักที เป็นเพราะอะไร
1.การซื้อยารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะ ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบที่เราเรียกกัน ซึ่งมีฤทธิ์เพียงการแก้อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ซึ่งจริงแล้ว เราสามารถรับประทานยาสามัญประจำบ้านเพื่อรักษาตนเองดูก่อนได้
แต่เมื่อรักษาด้วยตนเองไม่หายจึงควรพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเรารับประทานยาตรงกับโรค หรือเกิดจากการใช้ยารักษาที่ไม่ตรงกับโรคเป็นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนไข้ป่วยเป็นหวัด (ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส) แต่รับประทนยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะเข้าไป ทำให้ไม่เกิดการตอบสนองต่อการรักษาโรคชนิดนั้นๆ และจะพาลเข้าใจว่าร่างกายดื้อยา หรือมีการติดเชื้อดื้อยาทำให้ต้องการยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์แรงหรือกว้างขวางกว่าเดิม
2.รับประทานยาโดยไม่จำเป็น เป็นกรณีที่พบได้บ่อย เนื่องจากคนไข้บางส่วนมักได้รับยาปฏิชีวนะจากแพทย์ หรือซื้อรับประทานเองโดยไม่จำเป็น หรืออีกกรณีหนึ่งคือการบริโภคยาปฏิชีวนะโดยไม่รู้ตัว เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในปศุสัตว์ ยาเหล่านั้น ซึ่งมีการสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสัตว์ จึงตกมาถึงกลุ่มผู้บริโภคด้วย
นอกจากนี้ระยะเวลาในการใช้ยาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการดื้อยาหรือติดเชื้อดื้อยาได้ เช่น รับประทานยาไม่ครบตามแพทย์สั่ง หรือรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น กล่าวคือ หยุดยาเองเมื่อเห็นว่าอาการทุเลาลง โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ รวมถึงการรับประทานยาไม่เป็นเวลา หรือไม่ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง เกิดเป็นการสะสมเชื้อดื้อยาในอนาคตได้ อีกทั้งปัจจัยร่วมจากตัวคนไข้เอง เช่น อายุ สุขภาพ และภูมิคุ้มกัน เป็นสิ่งสำคัญของการตอบสนองต่อการใช้ยารักษาชนิดนั้นๆ ด้วย
ยาแก้อักเสบ ไม่ใช่ ยาปฏิชีวนะ
การดื้อยาปฏิชีวนะมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในร่างกายที่ดื้อยาด้วยตัวเอง โดยมีการพัฒนาการดื้อยาจากสารพันธุกรรมของตนเอง หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นมาเป็นเวลานาน หรือ การรับสารพันธุกรรมดื้อยามาจากเชื้อแบคทีเรียตัวอื่น ที่มีการดื้อยาอยู่ก่อนแล้ว โดยคนไข้ที่มีการดื้อยาส่วนใหญ่จะมาจากสาเหตุ จากการใช้ยารักษาแบบผิดๆ
ไม่เข้ากันกับโรคหรือเชื้อโรคชนิดนั้น ซึ่งคนไข้มักมีความเข้าใจว่า ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) คือ ยาแก้อักเสบ ทั้งที่ยาแก้อักเสบ คือ ยาต้านอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) “ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ” เพราะยาปฏิชีวนะไม่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ถ้าการอักเสบนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อ และเอ็นอักเสบจากการเล่นกีฬา เป็นต้น แต่เรามักจะได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่ คือ การได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษาไข้หวัด และจากอาหารที่มีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ (จากการเลี้ยงสัตว์โดยใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคพืช ทำให้มีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม และทำให้เริ่มมีการตรวจพบแบคทีเรียที่มีการดื้อยาปฏิชีวนะ ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ)
ทำให้เกิดการส่งเสริมเชื้อแบคทีเรียทั้งในช่องปาก ลำไส้ และอวัยวะอื่นๆ เกิดการพัฒนาการดื้อยาขึ้นมาได้ ทั้งยังไม่ทำให้หายขาดจากโรคเดิมที่เป็นอยู่ด้วย เมื่อร่างกายเกิดได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคขึ้นมาจริงๆ แบคทีเรียที่รับเข้ามาใหม่ที่ไม่มีการดื้อยา มีการแลกสารพันธุกรรมกับแบคทีเรียที่มีการดื้อยาปฏิชีวนะ ที่อยู่ในร่างกายเราแต่ไม่ก่อโรคก็ส่งผลให้แบคทีเรียที่เรารับมาใหม่ เกิดการดื้อยาขึ้นมาได้เช่นกัน
ดังนั้น เราสามารถป้องกันการมีเชื้อดื้อยาในร่างกายได้ โดยไม่รับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น สำหรับผู้ที่มีประวัติเคยมีเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมาก่อน เมื่อเลิกใช้ยาไปประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี เชื้อที่เคยดื้อยาอาจมีจำนวนลดลงจนหายไปได้ ยกเว้นแต่เรายังรับประทานยาชนิดนั้นอยู่เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็น ก็ยังสามารถมีเชื้อดื้อยาอยู่ในร่างกายต่อไปได้ ดังนั้น เราไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
นพ.ไพศาล เตชะวลีกุล
อายุรแพทย์และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาชาโรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลกรุงเทพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)