© 2017 Copyright - Haijai.com
เชื้อ GBS ภัยเงียบของสตรีตั้งครรภ์
ช่วงเวลาแหงการตั้งครรภ์เป็นระยะความทรงจำที่คุณแม่ควรให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะการให้ชีวิตคนพร้อมองค์ประกอบทางสุขภาพอย่างครบถ้วน ถือเป็นการให้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่กว่าจะสัมฤทธิ์ผลผลิตคนขึ้นมาได้ คุณแม่ทั้งหลายยังต้องเผชิญอุปสรรค์ต่างๆ มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นอาการระหว่างตั้งครรภ์ กิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป รวมถึงภาวะความเสี่ยงที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลา 9 เดือน แต่หากเราได้ทราบถึงวิธีป้องกันและหมั่นดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าคุณแม่และอีกหนึ่งลมหายใจจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่ผ่านเข้ามาได้อย่างปลอดภัยแน่นอน
เชื้อ GBS คืออะไร
ต้องอธิบายก่อนว่าโดยธรรมชาติของร่างกายแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรียในร่างกายอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเพราะหน้าที่หลักในการช่วยปกป้องไม่ให้ระบบภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ หรือมีอาการเจ็บป่วยขึ้น ซึ่งเชื้อ Streptococcus กลุ่ม B หรือ GBS (Group B streptococcus) ก็เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในร่างกายของเราอยู่แล้วเช่นกัน ทั้งยังพบได้ในทั้งเพศชายและหญิง โดยจะอาศัยอยู่ในบริเวณลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ช่องคลอดและก้น พบเชื้อได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
โดยปกติแล้ว เชื้อ GBS จะไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย เว้นเสียแต่บุคคลนั้นมีอายุเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและส่งผลให้เกิดเป็นโรคต่างๆ ได้ เช่น ปอดอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น รวมถึงกลุ่มคนที่มีสุขภาพทางภูมิคุ้มกันทีค่อนข้างอ่อนแอ ตลอดจนในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์
รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ GBS
เชื้อ GBS จะเสี่ยงเป็นอันตรายในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งการให้กำเนิด เช่น การคลอด เนื่องจากจำนวนเชื้อที่พบได้มากตรงบริเวณช่องคลอด หากทารกได้รับเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดผ่านน้ำเดิน (ถุงน้ำคร่ำแตก) ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นพิษ และอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง ถึง 1 สัปดาห์ อาการแสดงที่บ่งชี้ว่าทารกติดเชื้อ GBS ได้แก่
• อาการซึม
• ไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว
• ไม่มีแรง ไม่ร้องหรือส่งเสียง
แต่ไม่ใช่ทุกครั้งของการคลอด ที่เด็กจะมีโอกาสติดเชื้อชนิดดังกล่าว จากสถิติพบว่ามีเพียงร้อยละ 20 ของทารกแรกเกิดที่มีโอกาสติดเชื้อ GBS ระหว่างคลอด และหนึ่งในนั้นอาจจะต้องเสียชีวิตลง ทารกแรกคลอดจะมีโอกาสติดเชื้อ GBS อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 คน แม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีความรุนแรงถึงขั้นคร่าชีวิตทารกลงได้ในทีเดียว
วิธีป้องกัน คือ การตรวจเพาะหาเชื้อ ซึ่งคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 35-37 สัปดาห์ (ประมาณ 8-9 เดือน) สามารถเริ่มทำได้ โดยการเพาะเชื้อจะใช้ระยะเวลาราว 3 วัน และจะถูกนำไปใช้เมื่อถึงเวลาใกล้คลอดแล้วเท่านั้น
เนื่องจากเชื้อ GBS เป็นเชื้อที่มีการตอบสนองต่อการถูกฆ่าในทันที และพร้อมที่จะกลับมาเกิดใหม่ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ฉะนั้นการให้ยาฆ่าเชื้อในช่วงก่อนคลอด 4 ชั่วโมง จึงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมและส่งเสริมความปลอดภัยแก่ทารกได้มากที่สุด
สำหรับกลุ่มทารกที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ GBS ได้ง่ายคือ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือคลอดก่อน 37 สัปดาห์ ถูกจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แพทย์สามารถให้ยาฆ่าเชื้อได้ในทันทีโดยไม่ต้องผ่านการเพาะตรวจหาเชื้อแต่อย่างใด โดยแพทย์ต้องคอยติดตามผลจากให้ยาฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่อาจทราบได้ว่าทารกจะแพ้ยาชนิดนั้นด้วยหรือไม่
แม้ว่าการติดเชื้อ GBS จะเป็นกรณีที่พบได้ยากในทั่วโลก แต่ก็ยังเป็นการติดเชื้อที่พบได้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การที่คุณแม่จะเข้าไปฝากครรภ์กับแพทย์แต่เนิ่นๆ จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงลงได้ในระดับหนึ่ง เพราะไม่ใช่เพียงแต่จะอยู่ในสายตาแพทย์เท่านั้น หากแต่ยังมีอุปกรณ์ชนิดต่างๆ ที่พร้อมจะเป็นกระบอกเสียงส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้ากันได้อีกด้วย
รศ.นพ.รสิก รังสิปราการ
สูติ-นรีแพทย์
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)