© 2017 Copyright - Haijai.com
เบาหวานกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว
โรคเบาหวานกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว มีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากอาการของโรคเบาหวานทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดแดงส่วนปลาย เส้นเลือดจะมีความหนาตัวขึ้นทำให้การไหลเวียนของเลือดทำได้ช้าลง ซึ่งโรคเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวส่วนปลายได้มากกว่า
กลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวานร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว
• ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
• ผู้ที่สูบบุหรี่จัด เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดหดตัวและแข็งตัวได้
• ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
• ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง จะทำให้หลอดเลือดเกิดความผิดปกติ มีการสะสมของชั้นไขมันในเลือด
อาการเริ่มต้นของโรค
อาการนำของโรคในผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มตรวจได้จากบริเวณขาก่อนเป็นอันดับแรก โดยสังเกตจากอาการเดินได้สั้นลงคือปกติเดินระยะ 100 เมตร ยังไม่เหนื่อยหรือรู้สึกปวดขา แต่ต่อมาหากเดินได้แค่ 50 เมตรแล้วรู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกปวดขา บวกกับอาการปลายประสาทมีปัญหา เป็นต้น
ในขณะที่บางคนเส้นเลือดอาจเริ่มเสื่อมที่หัวใจมากกว่าที่ขา คนไข้ก็จะมาด้วยอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน หากโรคเบาหวานเกิดร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวจนกระทั่งอุดตัน อาจพบว่ามีโรคอื่นเกิดร่วมด้วยได้ เช่น โรคหัวใจ โรคสมองขาดเลือด เส้นเลือดหัวใจตีบ ภาวะเส้นเลือดที่ไตมีปัญหา และเส้นเลือดบริเวณลำไส้ตีบตันได้
การดูแลตัวเองให้ห่างจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว
• สำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ความดันตัวบนน้อยกว่า 140 ความดันตัวล่างน้อยกว่า 90 ต่อมิลลิเมตรปรอท
• ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อไม่ฝ่อ การไหลเวียนของเส้นโลหิตดีขึ้น การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ ควรออกกำลังกายให้ได้ครั้งละ 30 นาที ประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์ เช่น การเดิน การวิ่ง เพิ่มการคาร์ดิโอ เพื่อบริหารหัวใจและปอดให้แข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้
• หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เพราะจะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยาก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (LDL) เช่น ไขมันที่ได้จากสัตว์ หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ เพราะจะทำให้ระดับของ LDL สูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ส่วนไขมันที่ไม่อิ่มตัวถือเป็นไขมันชนิดดีสามารถรับประทานได้
สิ่งสำคัญคือการตรวจสุขภาพ ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ว่าเรามีความเสี่ยงแค่ไหน บางคนอาจไม่ได้เป็นเบาหวาน หรือสูบบุหรี่มาก่อน แต่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ก็มีภาวะเสี่ยงได้เช่นกัน
นพ.นพพร โตมงคล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)