
© 2017 Copyright - Haijai.com
ทรามาดอล รักษาหรือเสพติด
“เมื่อวันที่ 24 เม.ย.56 นายวิรัช พาที ผอ.กกท จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ภาพพลาสติกที่เป็นสิ่งห่อหุ้มตัวยาชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Tramadol ลงในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า นี่คือยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่กำลังระบาดใน จ.ภูเก็ต โดยเปลือกยาทั้งหมดเก็บได้ที่ด้านหลังโรงยิมเนเซียม 1 ศูนย์กีฬาสะพานหิน ถ.ภูเก็ต อ.เมือง โดยยาดังกล่าวใช้ผสมกับน้ำอัดลม...” (ที่มา www.thairath.co.th/content/340755)
ข่าวข้างต้นนับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ยาในทางที่ผิดจนนำไปสู่ความสูญเสีย และมาตรการอันเข้มงวดในการซื้อขายยาดังกล่าว สำหรับในข่าว ยาที่กล่าวถึงคือ ทรามาดอล (tramadol) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่เกิดจากการนำโคเดอีนมาปรับปรุงสูตรโครงสร้าง จนได้เป็นสารใหม่ที่ยังคงมีฤทธิ์แก้ปวด แต่มีผลข้างเคียงและการเสพติดน้อยกว่าสารในกลุ่มโอปิออยด์ (เช่น มอร์ฟีน และโคเดอีน)
ข้อบ่งใช้ของยานี้คือการแก้ปวดระดับปานกลางจนถึงค่อนข้างรุนแรงในผู้ใหญ่ ขนาดยาที่ใช้กันโดยทั่วไปเริ่มต้นด้วยวันละ 100 มิลลิกรัม และเพิ่มขนาดยาตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน (แต่แหล่งข้อมูลจากต่างประเทศแนะนำว่า ไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน) รูปแบบที่จำหน่ายในท้องตลาดมีทั้งยาเดี่ยวและสูตรผสมกับพาราเซตามอล
แม้ว่าทรามาดอลจะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีน และโคเดอีน แต่หากใช้อย่างไม่เหมาะสมย่อมเกิดปัญหาได้ อาการข้างเคียงที่มักจะพบได้ของยานี้คือ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก ง่วงนอน หรือหลับยากในบางราย อย่างไรก็ตามยานี้อาจทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุขได้ จนนำไปสู่การใช้ในทางที่ผิดทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังเช่นการบันทึกกรณีศึกษาหนึ่งที่พบว่า ผู้ป่วยหญิงที่มีอาการซึมเศร้า ใช้ยานี้เพื่อให้เกิดภาวะเคลิ้มสุข
อันตรายที่สำคัญจากการใช้ทรามาดอลในปริมาณสูง คือ อาการชักและการกดการทำงานของระบบทางเดินหายใจ การเก็บข้อมูลจากต่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2543-2556 พบผู้ป่วยที่ใช้ทรามาดอลเกินขนาด 71 ราย ในจำนวนนี้ผู้ป่วย 8 รายมีอาการชัก โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามขนาดทรามาดอลที่ใช้ และมีผู้ป่วย 13รายที่พบปัญหาการหายใจ นอกจากนี้การใช้ทรามาดอลติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดการเสพติด และเมื่อหยุดยาโดยกะทันหัน หลังจากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเกิดอาการถอนยาได้ อาการถอนยาที่พบโดยมาก ได้แก่ ปวดท้อง นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และที่พบได้น้อย ได้แก่ ซึมเศร้า ตื่นตระหนัก ประสาทหลอน และชาบริเวณแขนขา
กรณีทรามาดอลจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ยาเป็นเหมือนดาบสองคม เราสามารถใช้คมด้านหนึ่งไปฟาดฟันกับโรคภัยก็ต่อเมื่อใช้ยานั้นอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นเราก็จะเอาคมอีกด้านแทงตัวเราจนบาดเจ็บ หรือซ้ำร้ายก็อาจล้มตายได้ ดังนั้น เมื่อคิดจะใช้ยาจึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์และเภสัชกร เวลาไปซื้อยาตามร้าน ควรมองหาร้านที่มีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาทำการ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
ภก.พลกิตต์ เบศรภิญโญวงศ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)