© 2017 Copyright - Haijai.com
แกะรอยอัลไซเมอร์
กลุ่มอาการสมองเสื่อม (dementia) เป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยในสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคสมองเสื่อมก็คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โดยโรคนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว แม้ในปัจจุบันเรายังต้องยอมรับว่ายังมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้ และรวมถึงเรายังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตามการมองย้อนกลับไปในเส้นทางที่เราได้ผ่านมาแล้วนั้น ช่วยให้เราได้เห็นว่าเราเดินมาได้ไกลเพียงใด โดยในบทความนี้จะเล่าประวัติศาสตร์แบบย่นย่อของโรคอัลไซเมอร์ ตั้งแต่ ดร.อัลไซเมอร์ ได้กล่าวถึงโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1906
ยุคเริ่มต้น
• 1906 ดร.อัลไซเมอร์ (Alois Alzhimer) ประสาทแพทย์ชาวเยอรมันได้บรรยายถึงผู้ป่วยหญิงอายุห้าสิบปีเศษคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า Auguste D โดยเธอมีอาการหลงลืมอย่างมาก ร่วมกับมีอาการหวาดระแวงและประสาทหลอน ซึ่งหลังจากเธอเสียชีวิต ดร.อัลไซเมอร์ ได้ทำการศึกษาสมองของเธอและพบว่า เนื้อสมองมีการฝ่อลงพร้อมกับเซลล์ประสาทที่น้อยลง
• 1910 ดร.เอมิล เครเพลิน (Emil Kraepelin) เพื่อนร่วมงานของ ดร.อัลไซเมอร์ ได้ตั้งชื่อโรคนี้ว่า “โรคอัลไซเมอร์” ตามชื่อของ ดร.อัลไซเมอร์ นั่นเอง และได้เขียนลงไปในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “Psychiatrie”
• 1915 ดร.อัลไซเมอร์ได้เสียชีวิตลง โดยที่เจ้าตัวคงไม่คาดคิดมาก่อนว่า สิ่งที่ตัวเองค้นพบในตอนนั้น จะกลายเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนหลายสิบล้านคน และกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกในอีกหนึ่งร้อยปีต่อมา
• 1968 แบบประเมินพุฒิปัญญา (cognitive measurement) ถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้นักวิจัยสามารถประเมินการทำงานของสมองได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ยุคใหม่และการตระหนักรู้
• 1976 แพทย์ด้านประสาทวิทยา Dr.Robert Katzman ได้ประกาศว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มอาการสมองเสื่อม และได้เขียนบทความลงในวารสารการแพทย์ชื่อดัง Archives of Neurology ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำมา ซึ่งความสนใจของแพทย์และนักวิชาการ และก่อให้เกิดงานวิจัยเกิดขึ้นตามมาเป็นจำนวนมาก
• 1980 มีการก่อตั้งสมาคมโรคอัลไซเมอร์ขึ้น (The Alzheimer’s Association) ซึ่งต่อมาเป็นองค์กรระดับนานาชาติ ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัย ให้ความรู้ และการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
• 1983 เดือนพฤศจิกายนได้ถูกประกาศว่าเป็นเดือนโรคอัลไซเมอร์เป็นครั้งแรก (the first National Alzheimer’s Disease Month) เพื่อเป็นการตระหนักถึงโรคอัลไซเมอร์
ยุคแห่งการรักษา
• 1987 มีการค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์เป็นครั้งแรก ได้แก่ amyloid precursor protein พบบนโครโมโซมคู่ที่ 21 ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดปกติของยีนที่เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์
• 1993 องค์กรอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุมัติยาต้านโรคอัลไซเมอร์เป็นตัวแรกของโลก ชื่อ “tacrine” (ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีการใช้แล้ว) และในอีกทศวรรษต่อมามียาอีก 4 ตัว ที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมและยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้
• 1994 อดีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โรนัล เรแกน และครอบครัว ได้ออกมายอมรับว่าเขาป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งทำให้สาธารณชนสนใจโรคนี้เพิ่มขึ้น และในปีเดียวกันได้มีการประกาศ วันอัลเซอมร์โลก เป็นครั้งแรก ประธานาธิบดีเรแกนได้เสียชีวิตลงในปี 2004 จากโรคปอดบวมและภาวะแทรกซ้อน ขณะที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรง
• 1999 วัคซีนโรคอัลไซเมอร์ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในหนูทดลอง แต่ต่อมาล้มเหลวในการทดลองในคน และยังไม่ประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน
ยุคความหวังและอนาคต
• 2003 สถาบันผู้สูงอายุของสหรัฐอเมริการ่วมกับสมาคมโรคสมองเสื่อม เริ่มทำการศึกษาระดับชาติในเรื่องของกรรมพันธุ์กับโรคอัลไซเมอร์ (Nation Alzheimer’s Disease Genetic Study) โดยคาดหวังว่าจะค้นพบยีนที่เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ทั้งหมด (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากรรมพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งของการเกิดโรคอัลไซเมอร์อย่างแน่นอน โดยพบว่ามียีนที่มีความสำคัญต่อการเกิดโรคแล้วไม่น้อยกว่า 4 ตัว)
• 2005 มีวารสารทางการแพทย์สำหรับโรคอัลไซเมอร์โดยเฉพาะเกิดขึ้น ชื่อ “Alzheimer’s Dementia’
• 2008 มีการก่อตั้งองค์กรระดับนานาชาติที่มีเป้าหมายในการศึกษาวิจัยโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น Healthy Brain Initiative, International Society to Advance Alzheimer Research and Treatment และอื่นๆ อันแสดงให้เห็นว่านานาประเทศต่างเห็นความสำคัญของโรคนี้ และเอาจริงกับการต่อสู้กับโรคดังกล่าว
• 2010 โรคสมองเสื่อมกลายเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดอันดับที่ 6 ในสหรัฐอเมริกา
พุฒิปัญญา หรือ “cognition” หมายถึง การทำงานของสมองในด้านที่เกี่ยวกับความจำ ภาษา สมาธิ การคิด และการตัดสินใจ ซึ่งพบว่าในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระยะแรกจะมีปัญหาที่เด่นชัดในเรื่องของความจำ และการใช้ภาษา และเมื่ออาการเป็นมากขึ้น การทำงานของสมองด้านอื่นๆ ก็จะแย่ลงไปทั้งหมด โดยการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะต้องใช้แบบประเมินพุฒิปัญญาร่วมด้วยเสมอ
• 2011 ประธานาธิบดีโอบามาประกาศว่า โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นวาระแห่งชาติ และจัดอยู่ในแผนดำเนินงานเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก
• 2013 กลุ่ม G8 ได้ตั้งกลุ่มโรคสมองเสื่อมขึ้นชื่อ “The G8 Dementia Summit” โดยมีเป้าหมายเพื่อหาการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้ได้ก่อนปี 2025
• 2015 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ทั่วโลกกว่า 45 ล้านคน ในประเทศไทยประมาณการณ์ว่า มีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าสีแสนคน โดยตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ค่าใช้จ่ายที่เกดจากโรคสมองเสื่อมทั่วโลก คิดเป็นเงินกว่า 21 ล้านล้านบาทต่อปี และหากยังไม่พบวิธีป้องกันหรือรักษาให้หายขาดคาดว่าในปี 2030 จะมีจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกสูงกว่า 76 ล้านคน
ณ วันนี้ความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ก้าวหน้าไปมาก ยีนที่เป็นความเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจำนวนมากถูกค้นพบ กลไกการเกิดโรคและแนวทางการรักษาป้องกันถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แพทย์และนักวิจัยจำนวนมากทั่วโลกล้วนมองไปข้างหน้า ถึงวันหนึ่งที่เราจะสามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ โดยไม่ต้องรอถึงอีก 100 ปี
นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
จิตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)