© 2017 Copyright - Haijai.com
Slow Lifestyle ช้าแต่ชัวร์ ออกกำลังหัวใจ
หากชีวิตของคนเรา เปรียบเสมือนการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่ง “ความหมายของการเดินทางนั้น อยู่ที่สิ่งที่เราพบเจอระหว่างทาง หาใช้จุดหมายปลายทาง” การใช้ชีวิตอย่างช้าๆ เพื่อพิจารณาสรรพสิ่งๆ ต่างๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่ทุกคนควรกระทำ เพราะหากเราเร่งรีบเกินไป เราก็อาจพลาดพลั้งและละเลยความหมายดีๆ ที่เราพบเจอระหว่างทางเดินแห่งชีวิตก็เป็นได้
What is Slow Lifestyle?
Slow Lifestyle คืออะไร? ทำไมต้องช้า? ช้าๆ แล้วได้พร้าเล่มงาม หรือจะตามโลกไม่ทัน?? เมื่ออ่านชื่อเรื่องนี้ หลายคนคงมีความสงสัยกันไปต่างๆ นานา ช้าแล้วดีอย่างไร ทำไมต้องช้า มาหาคำตอบกันค่ะ
แนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตให้ช้าลงนี้ เริ่มต้นจากการประท้วงการเปิดตัวของแมคโดนัลด์ในบริเวณบันได สเปน Piazza di Spagna ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งผู้ประท้วงได้เริ่มก่อตั้งองค์กร Slow Food ขึ้น เช่นเดียวกับในหลายๆ พื้นที่ที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการใช้ชีวิตอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็น Slow Travel, Slow Shopping เป็นต้น งานวิจัยของศาตราจารย์ Guttorm Fløistad เรื่อง Challenges studies in the philosophy of slowness ระบุถึงหัวใจของการใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้าว่า
“สิ่งเดียวที่จริงแท้แน่นอนก็คือ ทุกสิ่งในโลกนี้ย่อมเปลี่ยนไป และความเปลี่ยนแปลงนั้นก็เพิ่มมากขึ้นทุกๆ วัน หากเราต้องการที่จะตามความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ทัน เราก็ต้องทำทุกอย่างในชีวิตให้เร็วขึ้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อและกระทำอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะดีไม่น้อยหากเราจะเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า ความต้องการขั้นพื้นฐานของคนเราไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับ ต้องการความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้มาก็จากการใช้เวลาจนก่อเกิดเป็นความผูกพันระหว่างมนุษย์เท่านั้น และการที่เราจะสามารถควบคุมความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรอบๆ ตัวเราได้ ก็น่าจะมาจากการค้นพบวิธีการให้เวลากับชีวิตให้มากขึ้นนั่นเอง”
เราหลายๆ คนอาจจะคุ้นชินกับความเร่งรีบ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และเมื่อสิ้นแสงสุดท้ายของวัน เราต่างก็พบว่าตัวเองเหนื่อยล้าเกินไป เกินกว่าที่จะตักตวงความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากเวลาว่างอันน้อยนิด เหนื่อยเกินไปที่จะเล่นกับลูก เหนื่อยเกินไปที่จะอ่านเล่านิทานให้ลูกฟัง ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอย่างนั้น เรามาเรียนรู้ที่จะให้เวลากับชีวิตให้มากกว่านี้กันดีกว่า
Learn to Slow Down
ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ที่เราจะใช้ชีวิตให้ช้าลงกว่านี้สักหน่อย ให้เวลากับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบๆ ตัวมากขึ้น หลายครั้งที่เราหลายคนต้องพบเจอกับความผิดพลาดจากการใช้ชีวิตที่รวดเร็วเกินไป เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกลายเป็นคนขาดการครุ่นคิดและยับยั้งชั่งใจ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ใหญ่รอบๆ ตัวพวกเขาต่างก็ใช้ชีวิตอย่างรวดเร็วเร่งรีบเช่นกันนั่นเอง
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่คุ้นเคย อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากแต่ก็ไม่ยากเกินกว่าจะทำได้คะ หากไม่รู้จะเริ่มอย่างไร วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ลองหาเวลาทำสิ่งเหล่านี้ดู แล้วคุณอาจรู้สึกดีอย่างไม่น่าเชื่อ
• นั่งริมหน้าต่าง แล้วใช้เวลาจิบชาสักแก้ว โดยไม่ต้องเร่งรีบ ชื่นชมสิ่งที่คุณเห็นผ่านหน้าต่างบ้าน
• ใช้เวลาดูแลตัวเองนานขึ้นอีกนิด ไม่ว่าจะอาบน้ำ สระผม ทาครีม หรือถ้ามีเวลามากหน่อยไปเข้าสปา นวดผ่อนคลาย ก็สบายไม่ใช่น้อยเหมือนกัน
• ตระหนักอยู่เสมอว่าการทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ได้ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น แต่จะยิ่งทำให้คุณวุ่นวายยิ่งขึ้นมากกว่า
• หากต้องตอบคำถามใครสักคน หรือตัดสินใจอะไรบางอย่าง อย่าปล่อยให้ใครหรือสิ่งใดมาเร่งรัดคุณ คุณควรค่อยๆ ใช้เวลาในการคิดให้ดีก่อนตอบ หรือก่อนตัดสินใจเสมอ
• หากเป็นไปได้ หาเวลานอนกลางวันบ้าง หรือจะให้ดีเมื่อตื่นแล้ว ลองนอนต่ออีกสัก 1 ชั่วโมงในวันหยุดที่ไม่ต้องรีบร้อนไปไหน ให้เวลาร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
Let’s go Slow Everything
ไม่ต้องบอกหลายๆ คนก็คงทราบดีว่าการใช้ชีวิตที่เร่งรีบนั้น ต้องใช้พลังงานมากเพียงไร และก็คงเป็นการยากที่เราจะให้เวลามากขึ้นกับสังคมที่มีความเร่งรีบในทุกๆ เรื่อง ทั้งอาหารการกิน ที่เรียกกันว่าฟาสฟู๊ดส์ การท่องเที่ยว การพูดคุย ทุกอย่างล้วนกระทำในเวลาจำกัด และเมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็อาจเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้แม้สักอย่างเดียว และนี่เองจึงเป็นที่มาของ The World Institute of Slowness และองค์กรปราศจากผลกำไรทั่วโลก (Non Profit Organization) ที่ทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนการให้เวลากับชีวิต โดยอาจแบ่งได้เป็นหัวข้อต่างๆ คือ
• Slow Food เกิดขึ้นท่ามกลางกระแส Fast Food ที่กำลังมาแรง แนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง Slow Food ก็คือการให้ความสำคัญกับอาหารประจำท้องถิ่น และการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ภายในพื้นที่ อย่างเป็นมิตรต่อธรรมชาติ นอกจากนี้ Slow Food ยังรวมไปถึง ความรู้สึกรื่นรมณ์ในการเตรียมอาหาร ความสุขในการกินอาหารพร้อมหน้าเพื่อนฝูง และครอบครัว นอกไปจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการให้ความรู้แก่เด็กๆ ในการที่หนูน้อยจะได้ลิ้มรสชาติแท้ๆ ของอาหารที่ปราศจากสารเคมีหรือกลิ่นสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการพัฒนาประสาทสัมผัสของเด็กๆ ด้วย
• Slow Travel การไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง ไม่ได้หมายความว่าไปเพื่อถ่ายรูป แวะซื้อของที่ระลึกแล้วก็กลับ ในแง่ของการใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้านั้น Slow Travel คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้นๆ หรืออย่างน้อยก็เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งศึกษาให้เข้าใจวัฒธรรมของที่นั้นๆ ด้วย
• Slow Book การอ่านเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คุณใช้ชีวิตช้าลงได้อย่างมีความสุข ทุกวันนี้เมื่อเรามีเวลาว่างเรามักจะใช้เวลาหมดไปกับการดูทีวี โดยหลงลืมไปว่าความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง และหลุดไปในโลกแห่งตัวอักษรนั้น เป็นอีกหนึ่งความสงบที่เราน่าจะมอบให้กับชีวิต นอกไปจากนี้ การอ่านหนังสือยังช่วยลดความเครียด กระตุ้นจิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ให้ความสนุก เสียงหัวเราะ ความรู้ และเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับชีวิต
• Slow School หรือ Slow Education อาจมีความหมายในหลายลักษณะ บางครั้งอาจหมายถึงโรงเรียนที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ Slow Food ในขณะเดียวกันบางแห่งก็ให้ความหมายไว้ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ การเชื่อมโยงระหว่างความรู้ วัฒนธรรม ศีลธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการมองเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิต ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนในปัจจุบัน ที่มักจะกันพ่อแม่และครอบครัวให้ห่างจากการเรียนรู้ของเด็กๆ และเน้นที่ผลการเรียน คะแนนสูงๆ และเกรดสวยๆ เป็นหลัก มากกว่าการเข้าถึงความรู้อย่างแท้จริง สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของ Slow Education น่าจะอยู่ที่ การเชื่อมโยงความรู้ และการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่ทักษะการใช้ชีวิต และความเคารพต่อสิ่งต่างๆ รอบกายนั่นเอง
นอกไปจากการออกกำลังกายแล้ว การใช้ชีวิตช้าลงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้สุขกาย ร่างกายของคุณแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข็งแรงจากภายใน ลองจินตนาการถึงเวลาที่คุณเร่งรีบอยู่ตลอดเวลานั้น หัวใจและสมองต้องทำงานหนักขนาดไหน และคุณต้องใช้พลังงานไปมากเพียงใด ดังนั้นนอกจากจะออกกำลังร่างกายแล้ว ก็อย่าลืมออกกำลังหัวใจ ใช้ชีวิตให้ช้าลงด้วยค่ะ
6 Steps to give your brain a break
1.ให้เวลาตัวเอง 10 นาที ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ก่อนเริ่มลงมือทำงานอะไรก็ตาม เพื่อให้สมองได้เตรียมรับมือกับการงานที่จะตามมาในแต่ละวัน
2.พักกลางวัน บางคนทำงานเพลินเสียจนละเลยช่วงเวลาพักกลางวัน ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งสำคัญมาก คุณควรใช้เวลาพักกลางวันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ทุกวัน เดินออกไปนอกออฟฟิซ สูดอากาศ เหมือนกับเป็นการพักยกให้สมอง ก่อนเริ่มงานต่อในช่วงบ่าย
3.หากคุณต้องทำงานที่ต้องออกไปข้างนอกบ่อยๆ แต่ละวันควรหาเวลาสงบอย่างน้อย 10 นาที แวะพักอ่านหนังสือ ชมวิวทิวทัศน์ หยุดคิดเรื่องงานอย่างน้อยสักพักหนึ่ง คงไม่ทำให้เสียเวลามากเกินไปนักค่ะ
4.ทำงานให้เสร็จทีละอย่าง กรณีที่มีงานเร่งหลายๆ สิ่ง ควรจัดลำดับความสำคัญให้ดี หากเป็นไปได้อาจขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น ขอให้พี่เลี้ยงช่วยดูลูก ขณะที่คุณต้องทำงาน เป็นต้น
5.จดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เป็น To DO List ทุกๆ เช้า โดยเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำด้วย สิ่งนี้จะช่วยให้คุณรู้สึกดีเป็นอย่างมาก เมื่องานแต่ละอย่างสำเร็จลุล่วง และยังเป็นแรงขับดันให้คุณทำงานชิ้นอื่นๆ ต่อไปได้ด้วย
6.หากรู้สึกว่าสิ่งที่คุณต้องทำมี “มากเกินไป” จนไม่รู้จะรับมืออย่างไรไหว ลองหยุดพักสักครู่ หันไปหากิจกรรมที่ผ่อนคลาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง เดินเล่น ให้สมองปลอดโปร่งแล้วค่อยกลับมาเรียงลำดับงาน และเริ่มทำงานอีกครั้งอย่างใจเย็น และถ้าเป็นงานที่คุณสามารถขอความช่วยเหลือ หรือมอบหมายให้คนอื่นทำได้ ก็น่าจะลองแจกจ่ายงานให้คนอื่นๆ ช่วยรับผิดชอบไปบ้าง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)