
© 2017 Copyright - Haijai.com
ต้องให้ลูกกินนมบ่อยแค่ไหน
คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมอิ่มหรือเปล่าในแต่ละมื้อ แล้วจะต้องให้ลูกกินนมนานแค่ไหนถึงจะรู้ว่าลูกอิ่ม เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของคุณแม่มือใหม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้ลูกดูดนมแม่อาจจะดูยากกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมขวด ที่จะมีปริมาณบอกไว้ว่าลูกอายุเท่านี้ ต้องกินนมกี่ออนซ์ หากมีความสงสัยว่าลูกจะต้องกินนมบ่อยแค่ไหน ให้นมแค่ไหนลูกถึงอิ่ม ลองมาสังเกตจากสิ่งเหล่านี้กันค่ะ
• ท่าทางลูกพึงพอใจเมื่อดูดนมคุณแม่เสร็จ
• เมื่อดูดนมอิ่ม จะสังเกตเห็นว่าพุงลูกดูกลม
• ลูกมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
• ผิวหนังลูกนุ่ม และดูชุ่มชื้นดี
• ในช่องปากลูกเป็นสีชมพู และเปียกชุ่ม
ให้นมลูกบ่อยแค่ไหนดี?
เป็นคำถามที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้กันมากๆ ค่ะ เพราะกังวลว่าถ้าลูกดูดนมแป๊บเดียว เดี๋ยวลูกก็ร้องกินนมอีก หรืออย่างเด็กบางคนจะร้องกินนมทันทีหลังตื่นนอน ทีนี้ก็มีอยู่ว่าเจ้าตัวเล็กร้องไห้ทุกๆ 15 นาที ซึ่งคุณแม่ก็อย่าเพิ่งเอาเต้านมให้ลูกดูดในทันทีนะคะ เพราะที่ลูกร้องอาจเป็นเพราะฉี่ หรืออึออกมาก หรือไม่ก็อุณหภูมิในห้องนอนร้อนไป หนาวไป และหรือเจ้าตัวเล็กมีอาการไม่สบาย สิ่งเหล่านี้มักทำให้ลูกร้องได้ตลอดเวลาค่ะ ฉะนั้นการให้นมลูกคุณแม่ควรปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยไม่ต้องพะวงเรื่องระยะห่างของมื้อนมที่ให้ลูก
• แรกเกิด ให้ลูกดูดครั้งแรกทันทีตั้งแต่แรกเกิด แม้ว่าลูกยังไม่แสดงอาการหิวออกมาก็ตาม
• วันที่ 1 24 ชั่วโมงแรก ลูกมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับในช่วงนี้ลูกจะดูดนมราวๆ 3 ครั้ง
• วันที่ 2-5 เวลาลูกตื่น จะตั้งใจดูดมากขึ้น และอาจจะกินเป็นสิบมื้อในแต่ละวัน การดูดบ่อยของลูก จะยิ่งช่วยกระตุ้นเต้านมของคุณแม่ให้มีการผลิตน้ำนมมากขึ้น
• ครบ 1 สัปดาห์ ลูกมักจะดูดนมราวๆ 8 มื้อต่อวัน
ให้กำลังใจเมื่อลูกไม่เต็มใจดูดนม
ก็มีบ้างค่ะที่ลูกมักจะบ่ายเบี่ยง งอแง ทั้งๆ ที่ก็หิวนม แต่พอคุณแม่เปิดเต้าเตรียมให้นมลูกเจ้าตัวเล็กกลับทำเป็นไม่อยากดูดขึ้นมา คุณแม่อย่างเพิ่งท้อ และใจเสียค่ะ จำไว้ว่าตื้อเท่านั้นที่ครองโลก ที่สำคัญยังช่วยให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่สำเร็จด้วยนะคะ
• ทำให้ลูกตื่นเต็มตาก่อนที่จะเริ่มให้นม ทำให้ลูกอารมณ์ดี คุณแม่ควรพูดและเล่นกับลูกก่อนให้นม
• ระหว่างที่คุณแม่ให้นมลูก คุณแม่ต้องคอยกระตุ้นให้ลูกตื่น เช่น เอามือลูบแก้มลูกเบาๆ คลำมือ คลำเท้าลูกไปด้วย เพื่อให้รู้สึกว่ามืออุ่นๆ ของคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลาที่กำลังดูดนม
• ลูกดูดนมไปนิดเดียว แล้วทำถ้าเหมือนจะหลับ พร้อมกับปล่อยหัวนมคุณแม่ออกจากปาก ก็ให้คุณแม่ค่อยๆ พยุงลูกขึ้นมานั่งหลังตรง ตบหลังลูกเบาๆ ให้ลูกตื่นเพื่อให้ลูกดูดนมต่อ
ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจค่ะ เพราะถ้าคุณแม่ตั้งใจจริง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่มีเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น หัวนมบอด หัวนมอักเสบ น้ำนมน้อย หรือลูกไม่ยอมดูดนมจากเต้า ฯลฯ ก็จะช่วยให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างสำเร็จลุล่วงค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก ชุดคู่มือเลี้ยงลูกคุณภาพ Breastfeeding (PRACTICAL PARENTING)
(Some images used under license from Shutterstock.com.)