Haijai.com


การผ่าตัดผ่านกล้อง


 
เปิดอ่าน 4587

ผ่าตัดผ่านกล้อง

 

 

หลายท่านคงรู้จัก หรือเคยได้ยิน หรือแม้แต่เคยมีประสบการณ์ ทั้งกับตนเองและญาติสนิทมิตรสหายเกี่ยวกับการผ่าตัดทางหน้าท้องผ่านกล้องกันมาบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังมีอีกหลายท่านที่แม้จะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง แต่ก็ยังมีข้อข้องใจ สงสัย และอยากหาคำตอบให้กับคำถามที่ค้างคาในใจ

 

 

การใช้กล้องส่องตรวจเพื่อหาพยาธิสภาพต่างๆ ในร่างกายของคนเรานั้น มีชื่อเรียกรวมๆ ในภาษาอังกฤษว่า endoscopy และเมื่อนำไปใช้ส่องตรวจอวัยวะใด ชื่อก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามอวัยวะนั้น เช่น ถ้าส่องตรวจกระเพาะอาหาร เรียกว่า gastroscopy ส่องตรวจลำไส้ เรียกว่า colonoscopy หรือส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ ก็เรียกว่า cystoscopy

 

 

ส่วนการส่องตรวจภายในช่องท้องที่เรียกว่า laparoscopy นั้น เริ่มมีรายงานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1910 และมีวิวัฒนาการก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยทั้งหมดนี้ล้วนถือเป็นการผ่าตัดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกายเพียงเล็กน้อย เราจึงเรียกการผ่าตัดเหล่านี้ว่า minimally invasive surgery หรือที่ชาวบ้านฝรั่งรู้จักกันดีในชื่อ การผ่าตัดแบบรูกุญแจ (keyhole surgery)

 

 

การผ่าตัดโดยการใช้กล้องในทางนรีเวช โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การผ่าตัดในโพรงมดลูกที่เรียกว่า hysteroscopy และการผ่าตัดในช่องท้องหรือในอุ้งเชิงกรานที่เรียกว่า laparoscopy ซึ่งทั้งสองอย่างสามารถใช้เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาได้ในคราวเดียวกัน

 

 

ข้อดีที่สำคัญของการผ่าตัดโดยใช้กล้องก็คือ หากส่องกล้องผ่านรูแผลขนาดเล็กเพียง 1 หรือ 2 ตำแหน่ง เข้าไปในช่องท้องแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ หรือพบความผิดปกติ แต่พยาธิสภาพที่พบรุนแรงกว่าที่คาดไว้ จนไม่สามารถทำการรักษาได้ในขณะนั้น และจำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น เพื่อมาร่วมให้การดูแลรักษาในภายหลัง แพทย์ก็ไม่ต้องเจาะรูแผลเพิ่มเติม หรือเปิดแผลขนาดใหญ่ ซึ่งนับเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนเจ็บแผลมากเกินความจำเป็น

 

 

พยาธิสภาพแบบไหนที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง

 

ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถของทีมแพทย์และพยาบาล ทำให้เราสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคทางนรีเวชได้เกือบทุกโรค พยาธิสภาพต่างๆ ในโพรงมดลูก ทั้งเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ พังผืด ติ่งเนื้อ เนื้องอกโพรงมดลูก รวมถึงห่วงคุมกำเนิดตกค้างในโพรงมดลูก ก็สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ โดยการใช้กล้องส่องตรวจ พร้อมๆ กับการสอดเครื่องมือขนาดเล็กผ่านทางช่องคลอดและปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อทำการผ่าตัดได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลหน้าท้องแต่อย่างใด

 

 

ส่วนพยาธิสภาพที่อยู่ในช่องท้อง ได้แก่ เนื้องอกผนัง มดลูก ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) การตั้งครรภ์นอกมดลูก มดลูกหรือช่องคลอดหย่อน ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม หรือแม้แต่มะเร็งในระยะเริ่มแรก ก็ล้วนสามารถใช้กล้องและเครื่องมือต่างๆ สอดผ่านรูแผลขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องเข้าไปทำการรักษาได้เช่นกัน

 

 

อย่างไรก็ตามการจะตัดสินใจว่าโรคหรือภาวะใดสมควรได้รับการผ่าตัดรักษาโดยการใช้กล้องนั้น ขึ้นกับความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด และความรุนแรงของพยาธิสภาพที่พบ ซึ่งมีผลต่อความยากง่ายของการทำผ่าตัดเป็นสำคัญ

 

 

การผ่าตัดผ่านกล้องเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง

 

หากอิงตามหลักการของการผ่าตัดโดยทั่วไปแล้ว การผ่าตัดโดยใช้กล้องนั้น มีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม นั่นคือ การตรวจหาพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ และตัดเอาส่วนที่มีพยาธิสภาพนั้นออกไป แต่การผ่าตัดโดยใช้กล้องมีข้อได้เปรียบอันหลากหลายและเห็นได้ชัดเจน คือ ขนาดของแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กกว่า จึงทำให้เจ็บแผลน้อยกว่า แผลหายเร็วกว่า มีโอกาสเกิดแผลแยก แผลเป็น หรือแผลติดเชื้อน้อยกว่า โอกาสเกิดพังผืดในช่องท้องน้อยกว่า อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถขยับเคลื่อนไหวและฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดได้เร็ว ทำให้ไม่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะหรือนอนในโรงพยาบาลนานๆ จึงช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ ปอดอักเสบติดเชื้อ และลิ่มเลือดที่ขาอุดตัน

 

 

และเนื่องจากการผ่าตัดผ่านกล้องนั้นใช้กล้องที่มีเลนส์ซึ่งมีกำลังขยาย จึงช่วยให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของพยาธิสภาพต่างๆ รวมถึงตำแหน่งของเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงพยาธิสภาพเหล่านั้น และอวัยวะสำคัญที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ชัดเจน ทำให้สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

 

 

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดผ่านกล้องจำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่มีความจำเพาะ ไม่ว่าจะเป็นกล้องส่องที่มีเลนส์ขยายภาพ (telescope) อุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณภาพไปยังจอมอนิเตอร์ และเครื่องมือผ่าตัดชนิดต่างๆ ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้เจาะรูแผลหน้าท้อง กรรไกร ตัวคีบจับเนื้อเยื่อ เครื่องจี้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การเย็บ ซึ่งหลายอย่างเป็นชนิดที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดผ่านกล้องค่อนข้างสูง

 

 

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะเฉพาะด้าน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนเกิดความชำนาญ เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

 

 

ข้อควรระวังของการผ่าตัดผ่านกล้อง

 

แม้ว่าการผ่าตัดทางหน้าท้องโดยใช้กล้องจะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่การผ่าตัดไม่ว่าประเภทใด ก็ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความเสี่ยงจากการผ่าตัดเอง และความเสี่ยงจากโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ดังนั้น ก่อนทำการผ่าตัดใดๆ ก็ตาม แพทย์จำเป็นต้องตรวจสืบค้นหาข้อบ่งชี้ที่ช่วยสนับสนุนความจำเป็นของการผ่าตัด

 

 

รวมทั้งทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วย หรืออาจต้องปรึกษาวิสัญญีแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด เพื่อให้การผ่าตัดสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ถึงแม้จะมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอันตรายต่ออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ ท่อไต ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ การเสียเลือดจากการผ่าตัด แผลผ่าตัดอักเสบติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนซึ่งสัมพันธ์กับการผ่าตัดผ่านกล้องโดยตรง นั่นคือ อาการเจ็บบริเวณสะบักหรือชายโครง โดยเฉพาะข้างขวา อันเป็นผลมาจากการตกค้างของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใส่ไว้ในช่องท้อง เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ในการทำผ่าตัด และการเล็ดลอดของก๊าซเข้าไปแทรกซ้อนตัวอยู่ในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous emphysema) ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจสร้างความไม่สุขสบายกาย และอาจใช้เวลา 2-3 วันกว่าที่ร่างกายจะดูดซึมได้หมด

 

 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนการผ่าตัดผ่านกล้อง

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดผ่านกล้องก็เหมือนกับการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดทางหน้าท้องทั่วๆ ไป นั่นคือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องงดดื่มน้ำและงดรับประทานอาหารเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด ในกรณีที่แพทย์คาดการณ์ว่าการผ่าตัดนั้นมีความยาก หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายต่อลำไส้ ก็อาจมีความจำเป็นต้องเตรียมลำไส้ไม่ให้มีสิ่งตกค้างก่อนการผ่าตัด (bowel preparation) ในกรณีนี้จะมีการให้คำแนะนำเพิ่มเติมเป็นพิเศษโดยทีมแพทย์และพยาบาล

 

 

ขั้นตอนต่างๆ ของการผ่าตัดผ่านกล้องมีอะไรบ้าง

 

โดยทั่วไปแพทย์มักใช้สะดือเป็นตำแหน่งสำหรับการใส่กล้อง เริ่มต้นด้วยการใช้เข็ม (Veress needle) เจาะรูขนาดเล็กบริเวณสะดือ เพื่อใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในช่องท้อง ซึ่งก๊าซจะทำให้ผนังหน้าท้องโป่งตึง และออกห่างจากอวัยวะภายใน จึงช่วยให้การเจาะรูเพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดในตำแหน่งอื่นๆ ทำได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

 

ในกรณีที่เป็นการส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว การเจาะรูแผลหน้าท้องเพียง 1 หรือ 2 ตำแหน่งก็ถือว่าเป็นการเพียงพอ แต่หากเป็นการส่องกล้องเพื่อผ่าตัดรักษา แพทย์มักจำเป็นต้องเจาะรูเพิ่มอีก 2 หรือ 3 ตำแหน่ง บริเวณหน้าท้องส่วนล่างนอกเหนือไปจากตำแหน่งสะดือ โดยรูแผลผ่าตัดนั้น มักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่เล็กมากเพียง 5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดสำหรับใส่เครื่องมือผ่าตัดชนิดต่างๆ ไปจนถึง 12 มิลลิเมตร ซึ่งมักเป็นขนาดที่ใช้สำหรับเป็นช่องทางสอดกล้องเข้าไปในช่องท้อง หรือนำเอาชิ้นเนื้อออกจากช่องท้องนั่งเอง และเมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น ก๊าซก็จะถูกปล่อยออกจากช่องท้อง และแพทย์จะทำการเย็บปิดบาดแผล ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเย็บแบบไม่ต้องตัดไหม จากนั้นจึงปิดแผลไว้ด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายได้ตามปกติ

 

 

ต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดนานแค่ไหน

 

โดยทั่วไปหากเป็นการผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลาไม่นาน และมีรูแผลผ่าตัดเพียง 1 หรือ 2 ตำแหน่ง ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่หากเป็นการผ่าตัดเพื่อการรักษา มักใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลราว 1-2 วัน ขึ้นกับความยากง่ายและระยะเวลาในการทำผ่าตัดเป็นสำคัญ หลังจาก 2 สัปดาห์ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

 

 

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาสำหรับการพักฟื้นเพื่อความสมบูรณ์ของร่างกายที่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำนั้น อยู่ที่ 4-6 สัปดาห์ ภายหลังการผ่าตัด และเนื่องจากการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการผ่าตัดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกายน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ผู้ป่วยจึงควรฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว และมีอาการดีขึ้นในทุกๆ วันหลังการผ่าตัด

 

 

แต่หากมีอาการใดๆ ที่น่าสงสัยหรือผิดแผกไปจากที่ควร ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์และแพทย์เองก็จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเฝ้าระวังและตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ให้การวินิจฉัยและรักษาภาวะแทรกซ้อนได้อย่างทันท่วงที

 

 

กล่าวโดยสรุป การผ่าตัดทางหน้าท้องโดยใช้กล้องนั้น นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มีคุณประโยชน์มากมายต่อการวินิจฉัยและรักษาโรค โดยมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการต่อยอดไปสู่การผ่าตัดผ่านกล้องแบบภาพสามมิติ การผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลผ่าตัดแผลเดียว การผ่าตัดผ่านกล้องแบบใช้ช่องทางธรรมชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง และการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่า นวัตกรรมที่ล้ำสมัย ไม่ได้มาพร้อมกับทักษะและความชำนาญในการผ่าตัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์

 

 

พญ.พัทยา เฮงรัศมี

สูตินรีแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)