© 2017 Copyright - Haijai.com
เที่ยวป่าระวังภัย โรคไข้มาลาเรีย
“อันตรายจายุงป่า คุณอาจได้รับเชื้อมาลาเรียโดยไม่รู้ตัว หากรักษาช้าอาจเกิดโรคแทรกซ้อน และทำให้เสียชีวิตได้”
ใกล้สิ้นปีอาการเย็นๆ แบบนี้ ถ้าเราใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวตามป่าเขา ขึ้นภูชมดอย ดูทะเลหมอก พระอาทิตย์ตกดิน ได้สัมผัสกับธรรมชาติในบรรยากาศเย็นสบาย คงรู้สึกดีไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงระหว่างท่องผืนป่าก็คือ “ความปลอดภัยและสุขภาพของเรา” นั่นเอง
• ยุง เป็นภัยร้ายสำคัญอย่างหนึ่งที่แฝงตัวมาคอยกวนใจนักท่องเที่ยว หนึ่งในนั้น คือ “ยุงก้นปล่อง” พาหะนำโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งพบได้ในพื้นที่ป่าบริเวณชายแดน โดยเฉพาะชายแดนระหว่างไทย-พม่า ได้แก่ จังหวัดแม่ฮองสอนลงมาจนถึงระนอง และชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ลงมาจนถึงตราด
• ไข้มาลาเรีย เป็นโรคที่ติดเชื้อจากโปรโตซัว โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการของโรคจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 7-14 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้สูงหนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ หากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อาจมีภาวะซึม ชัก ปัสสาวะออกน้อยลง หรือมีภาวะช็อกเกิดขึ้นได้
การกินยาก่อนเข้าไปในแหล่งระบาดหรือพื้นที่เสี่ยง ไม่มีผลในการป้องกันโรคไข้มาลาเรียแต่อย่างใด เนื่องจากเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยดื้อต่อยาหลายขนาน การกินยาเป็นเพียงแต่กดอาการไว้เท่านั้น จึงไม่แนะนำให้กินยาป้องกัน แต่ให้เน้นมาตรการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดด้วยวิธีต่างๆ เช่น สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ทายากันยุงทุกๆ 4 ชั่วโมง นอนในมุ้ง
สำหรับใครที่วางแผนจะไปเที่ยวป่าในช่วงสิ้นปีนี้ ก็อย่าลืมระวังและป้องกันตัวเองกันด้วยนะครับ ไข้มาลาเรียไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวจนทำให้หมดสนุก ถ้าหากเรามีวิธีป้องกันที่ถูกต้องและเหมาะสม
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวปลายปีนี้กันนะครับ
ร้อยตรี นายแพทย์ปกรณ์ คุปต์กาญจนากุล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)