© 2017 Copyright - Haijai.com
เสียงเปลี่ยนไปเมื่อวัยเปลี่ยนแปลง
เสียงของคนเราเกิดจากการสั่นสะเทือนของสายเสียง ซึ่งอยู่ที่กล่องเสียหรือลูกกระเดือก กลไกของการหายใจทำให้คุณภาพของเสียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไป ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล่องเสีย สายเสียง กล้ามเนื้อ ที่อยู่รอบกล่องเสียง
เสียงของคนเราจะเปลี่ยนเพราะเหตุหลายอย่าง เช่น การเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส จากกรดไหลย้อน จากเนื้องอก หรือมะเร็งในลำคอ จากโรคของระบบประสาท จากการที่สายเสียงขาดความชุ่มชื้น ฯลฯ นอกจากนี้ความชราก็เป็นสาเหตุตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง คนที่มีเสียงเปลี่ยนแปลงไป และเป็นอย่างนั้นอยู่นานเกิน 3 สัปดาห์ ควรจะไปให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ ควรไปหาหมอหูคอจมูกที่ชำนาญในการตรวจเรื่องนี้
ถ้าตรวจแล้วไม่พบอะไรผิดปกติเราก็สบายใจ และมีความหวังว่าเสียงจะกลับมาเหมือนเดิมอีก แต่ถ้าเสียงยังไม่กลับมาเหมือนเดิม และเราเป็นคนชอบพูด ชอบร้องเพลงโชว์ หรือมีอาชีพร้องเพลง หรือพิธีกร ควรไปหานักบำบัดการพูด ถ้านักบำบัดการพูดรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ในบางกรณีหมอหูคอจมูกอาจต้องทำหัตถการ เช่น ฉีดสารเสริมอวบสายเสียง หรือผ่าตัดรักษา
สำหรับคนสูงอายุทั่วไปที่อยากมีเสียงคงที่คงเดิม แนะนำให้ฝึกพูด อ่านออกเสียง ร้องเพลงคาราโอเกะบ่อยๆ อย่างเช่นนักร้องอาชีพทั้งหลาย จะทำให้คุณภาพของเสียดีขึ้น
เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นคนที่ชอบร้องเพลงมาก ร้องได้ดี เสียงดี จังหวะดี ไม่มีผิดคีย์ ด้วยความที่พอจะมีเงินเหลือและเพื่อความสนุก นานๆ ทีเขาก็ไปเข้าสตูดิโออัดเทปอัดซีดีเพลงที่เขาชอบ แล้วเก็บไว้เป็นที่ระลึกและแจกให้เพื่อนๆ ฟัง ผมฟังมาแล้วหลายคราวทำให้รู้สึกถึงตัวเองว่า คนเราเมื่ออายุมากขึ้นนอกจากร่างกายหน้าตาจะเปลี่ยนไปแล้ว เสียงก็เปลี่ยนไปด้วย
เสียงที่เปลี่ยนไปมากกว่า 3 สัปดาห์ หรือเสียงที่แย่ลงในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ อาจเกิดจากปัญหาทางสุขภาพ ควรไปพบแพทย์หูคอจมูกตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีโรคร้าย เช่น มะเร็งกล่องเสียง สำหรับเสียงที่เปลี่ยนไปในวัยชรามีประมาณ 10-30% ที่หาสาเหตุไม่พบ ซึ่งเสียงที่เปลี่ยนไปในวัยชราอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น พูดโทรศัพท์แล้วฟังไม่รู้เรื่อง หรือร้องเพลงแล้วขึ้นเสียงสูงไม่ได้ ทำให้หลายคนเลิกร้องเพลงคาราโอเกะในงานรื่นเริงไปเลยก็มี แต่ผู้รู้ได้กล่าวว่า พอจะมีวิธีรักษาเสียงให้ดีได้พอสมควร
เสียง
เสียงเกิดขึ้นโดยการสั่นสะเทือนของสายเสียง (vocal cords) ซึ่งตั้งอยู่ที่กล่องเสียงหรือลูกกระเดือก (ภาษาแพทย์เรียกว่า larynx หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า voice box หรือ Adam’s apple) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลอดลม ทำหน้าที่ให้ลมหายใจเข้าออก สายเสียงเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่ห่อหุ้มด้วยเยื่อเมือก เป็นอวัยวะคู่คล้ายปาท่องโก๋ (ตัวบางเหมือนลอดช่อง) มีร่องระหว่างกลาง (ให้ลมหายใจผ่านเข้าออก) ทำหน้าที่คล้ายวาล์วหรือลิ้น เวลาลมหายใจผ่านเข้าออก ถ้าช่องระหว่างสายเสียงแคบจะเกิดความสั่นสะเทือนเป็นเสียง เสียงจะสูงเมื่อช่องนั้นแคบ หรือ เสียงจะต่ำเมื่อช่องนั้นกว้าง
เวลาหายใจธรรมดาช่องจะเปิดกว้างจึงไม่มีเสียง (แต่ยังแคบอยู่เพื่อมีความเสียดทานที่จะทำให้เกิดความดันในหลอดลมในขณะหายใจออกจนสุด ซึ่งมีผลทำให้ถุงลมในปอดไม่แฟบลง มีผลดีต่อการหายใจ) การตึงหรือหย่อนของสายเสียงเราสามารถบังคับได้โดย ใช้กล้ามเนื้อรอบกล่องเสียงเป็นตัวช่วยบังคับ นอกจากนี้การออกเสียงยังขึ้นอยู่กับสุขภาพ (หรือโรค) ทางกายภาพของส่วนประกอบของการออกเสียง เช่น กล่องเสียง สายเสียง เส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียง กล้ามเนื้อที่อยู่รอบกล่องเสีย และการทำงานของปอด และระบบขับเคลื่อนลมหายใจเข้าออก (กล้ามเนื้อท้องและกระบังลม ฯลฯ)
ทำให้เราออกเสียงต่างๆ ขึ้นเสียงสูง เสียงต่ำได้ นอกจากโรคพยาธิแล้ว ความชราภาพก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เปลี่ยนแปลง เป็นผลให้เสียงเปลี่ยนไป
เสียงเปลี่ยน
อวัยวะใดที่ใช้น้อยจะฝ่อลง การทำงานของสายเสียงก็เช่นกัน เมื่อเราใช้มันน้อยลง สายเสียงก็เสื่อม ทำให้เสียงของเราเบาลง หรือแห้งลง หรือเสียงอาจจะสูงขึ้น พลังของเสียงก็ลดลงและอ่อนแรงลงได้ง่าย เช่น บางคนเคยร้องเพลงติดต่อกันได้หลายเพลง แต่พอไม่ได้ร้องนานๆ ร้องได้ไม่กี่เพลงก็หมดแรงออกเสียง
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของเสียคือ กล้ามเนื้อรอบกล่องเสียงที่ช่วยบังคับการออกเสียงฝ่อลง แข็งแรงน้อยลง บวกกับการที่สายเสียงเสื่อมลง ขาดความยืดหยุ่น ขาดความชื้น เมื่อสิ่งเหล่านี้เสื่อมลงมีผลให้สายเสียงหย่อนโก่งออกไปด้านข้างเหมือนคันธนู จะปิดลง (ขึ้นเสียงสูง) ได้ยากขึ้นหรือไม่ได้ ทำให้ลมออกไปได้ง่าย มีผลให้เกิดอาการหอบเหนื่อยง่ายเวลาพูดหรือโต้เถียง และทำให้การขึ้นเสียงสูงทำไม่ได้ เสียงจึงแหบลง
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของเสียงตามอายุ แต่เราสามารถลดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยการพยายามใช้เสียงบ่อยๆ หรือทุกวัน คนสูงอายุส่วนมากจะใช้เสียงน้อยลงกว่าตอนหนุ่มสาว เวลาพูดคุยหรือร้องเพลง จะทำให้เสียงหมดพลังได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าคุณมีการเปลี่ยนแปลงของเสียง เช่น แหบลงโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่ทราบสาเหตุ และเป็นอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์ คุณควรปรึกษาหมอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอหูคอจมูก เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
โรคกับการเปลี่ยนแปลงของเสียง
มีโรคหรือสภาวะหลายอย่างที่ทำให้เสียงเปลี่ยนไปได้ การติดเชื้อไวรัสทำให้เสียงแหบลงได้ แต่มักจะหายไปในไม่กี่วัน การใช้เครื่องพ่นสเตียรอยด์ โรคกรดไหลย้อน โรคแพ้ การดื่มสุราเมรัยมากไป หรือการไอเรื้อรัง เหล่านี้สามารถทำให้เสียงเปลี่ยนไปได้ มะเร็งในลำคอและโรคอื่นหลายโรค สามารถทำให้เสียงเปลี่ยนแปลงได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคต่อมไทรอยด์ multiple sclerosis (เกิดการแข็งตัวของเนื้อเยื่อ) กรดไหลย้อน หรือ gastroesophageal reflux disease (GERD ออกเสียงว่า เกิ๊ด)
โรคกรดไหลย้อนพบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน ที่จริงโรคนี้มีมานานแล้ว แต่สังคมไทยเพิ่งจะมาตื่นตัว กรดปกติจะหลั่งและอยู่ในกระเพาะอาหาร แต่ในบางกรณีเวลานอนกรดมีการไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารหรือสูงขึ้นถึงลำคอ และกล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงระคายเคือง อักเสบ และเกิดเสียงแห้งขึ้นมาทันที เมื่อไปทำงานในตอนเช้าเพื่อนร่วมงานอาจจะทักว่า “เสียงเซ็กซี่” สภาวะอย่างนี้ถ้ารักษาถูกต้องอาการคอแห้งเจ็บคอเสียงแห้งจะหายได้รวดเร็ว
เมื่อหมอตรวจพบโรคแล้วก็รักษาโรคนั้น อาการเสียงเปลี่ยนก็จะดีขึ้น แต่ถ้าหมอหูคอจมูกตรวจไม่พบอะไร ก็ไม่ต้องกังวลมาก แต่พูดไปแล้วคนบางคนก็ยังกังวลอยู่ดี เนื่องจากชอบพูด การพูดโทรศัพท์ฟังยาก ถ้าเป็นนักพากย์ นักร้อง นักจัดรายการก็ต้องเดือดร้อนในการทำมาหากิน ถ้าเป็นแบบเรื้อรัง หมอบางคนอาจจะพิจารณาส่งคนไข้ไปให้นักบำบัดการพูด เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา
การบำบัดการพูด
การรักษาหรือบำบัดการพูดเรียกว่า speech therapy นักบำบัดจะให้ความรู้แก่คุณ ให้คำปรึกษาถึงเป้าหมายของการบำบัดให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังเสียง แนะนำวิธีการฝึกซ้อม ในกรณีที่การบำบัดเสียงไม่ได้ผลดีขึ้น และหมอหูคอจมูกตรวจแล้วพบว่า มีการโก่งของสายเสียง หมอหูคอจมูกอาจจะทำหัตถการช่วย ทำให้สายเสียหายโก่ง เช่น การฉีดสารที่ทำให้สายเสียงอวบขึ้น ทำให้สายเสียงตรงขึ้น นอกจากนี้ในบางกรณีอาจจะจำเป็นต้องผ่าตัดลงไปแก้ไข การทำหัตถการแบบนี้ต้องอาศัยหมอหูคอจมูกที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ
คำแนะนำสำหรับการออกกำลังเสียง
การที่จะรักษาสภาพเสียงให้มีสุขภาพดีมีด้วยกันหลายองค์ประกอบ คือ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง พยายามให้สายเสียงมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเหล้าเบียร์ นักร้องดังบางคนเวลาเข้าห้องน้ำอาบน้ำฝักบัว เขาจะอ้าปากให้น้ำฝักบัวพุ่งเข้าในปากขณะที่หายใจทางปาก หมอหูคอจมูกที่ดูแลนักร้องอาชีพบางคน แนะนำวิธีนั้น
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการออกเสียงเป็นประจำ เช่น พูดหรือร้องเพลงทุกวัน อย่างแพรงค์ ซิเนตรา นักร้องดังผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยเล่าว่าเขาฝึกร้องเพลงทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง แม้จะไม่มีคอนเสิร์ตก็ตาม ผมว่าเราท่านทั้งหลาย สามารถฝึกออกเสียงได้ง่ายๆ แค่มีเครื่องคาราโอเกะร้องเพลงคาราโอเกะที่บ้าน ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก แต่คนที่ตัวตนมากต้องระวัง เพราะเครื่องบางเครื่องเวลาเราร้องจบ จะมีให้คะแนนหรือคำวิจารณ์ เช่น “คุณมัวทำอะไรอยู่” ผู้เขียนเคยโดนมาหลายทีแล้ว
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)