Haijai.com


ใช้ยาให้ตาปลอดภัย


 
เปิดอ่าน 3410

ใช้ยาให้ตาปลอดภัย

 

 

ยาเป็นสิ่งที่มีทั้ง “คุณอนันต์” และ “โทษมหันต์” การใช้อย่างไม่เหมาะสมย่อมก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่างต่อร่างกาย ดวงตานับเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ถูกคุกคามจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ยาบางชนิดอาจมีผลต่อสายตาได้ บทความนี้จะได้รวบรวมยาที่มีรายงานถึงอาการข้างเคียงต่อดวงตา อย่างไรก็ตามผู้อ่านพึงทราบว่าผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะห้ามปรามหรือแนะนำให้เลิกใช้ยาเหล่านั้น ในกรณีที่มีข้อบ่งใช้ เมื่อมีข้อบ่งใช้ก็ควรใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ เพียงแต่สังเกตและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาเหล่านี้ ถ้าหากมีความผิดปกติใดๆ โดยเฉพาะด้านสายตาให้รีบพบแพทย์ทันที

 

 

ทัมซูโลซิน (Tamsulosin)

 

ทัมซูโลซินเป็นยาที่ใช้รักษาอาการต่อมลูกหมากโต โดยการยับยั้งตัวรับแอลฟาที่ต่อมลูกหมาก ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมากคลายตัว และปัสสาวะไหลง่ายขึ้น ยานี้นอกจากจะทำให้ความดันเลือดตกเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งผู้ป่วยสามารถป้องกันได้โดยการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างช้าๆ หรือรับประทานยานี้ตอนก่อนนอน ยังมีรางายว่า ทัมซูโลซิน อาจเกี่ยวข้องกับอาการข้างเคียงที่ตา เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาต้อกระจก

 

 

เนื่องจากยานี้ยังสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับแอลฟาที่ดวงตา ดังเช่นงานวิจัยจากตุรกีที่ได้ศึกษาดวงตา 594 ดวงจากผู้ป่วย 579 คน (อายุระหว่าง 38-91 ปี) ที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาต้อกระจก พบว่าผู้ป่วย 15 คน เกิดความผิดปกติของม่านตาที่เรียกว่า intraoperative floppy iris syndrome (IFIS) ซึ่งเป็นความผิดปกติของม่านตาระหว่างการผ่าตัดที่ทำให้รูม่านตาไม่สามารถขยายตัวได้ตามปกติ จนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ ม่านตาบาดเจ็บ การสูญเสียวุ้นตา จอตาหลุดลอก เป็นต้น

 

 

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าผู้ป่วยที่เกิดอาการดังกล่าวเป็นผู้ป่วยที่ใช้ทัมซูโลซิน ถึง 12 คน โดยผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการมากกว่าผู้ไม่ใช้ยาถึง 99.3 เท่า

 

 

นอกจากนี้การศึกษาจากรัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดาพบว่า การใช้ยาทัมซูโลซินภายใน 14 วันก่อนเข้ารับการผ่าตัดรักษาต้อกระจก มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการข้างเยงภายหลังการผ่าตัด (เช่น จอตาหลุดลอก และการติดเชื้อในลูกตา) ในขณะที่การใช้ยานี้ก่อนเข้ารับผ่าตัด 1 ปี และไม่ใช้ยานี้ 14 วัน ก่อนเข้ารับการผ่าตัด หรือการใช้ยายับยั้งตัวแอลฟาชนิดอื่นไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการข้างเคียงหลังการผ่าตัดต้อกระจก

 

 

ดังนั้น ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่ใช้ยานี้ และมีความจำเป็นต้องรับการรักษาต้อกระจก จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์และแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

 

สเตียรอยด์ (Steroids)

 

สเตียรอยด์เป็นยาจำพวกหนึ่ง ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น บรรเทาอาการอักเสบ ใช้ทางผิวหนังเพื่อรักษาผื่นผิวอักเสบ ใช้สูดพ่นสำหรับโรคหอบหืด หรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสม และการใช้โดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ก็ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงได้

 

 

ซึ่งก็คือกลุ่มอาการคุชชิง ซึ่งมีอาการคือ หน้ากลม มีหนอกที่คอ อ้วน เหนื่อยง่าย ผิวหนังบาง ซึมเศร้า เป็นต้น ดวงตาก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของผลร้ายจากการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากสเตียรอยด์สามารถเพิ่มความดันในลูกตาจนทำให้เป็นต้อหินได้ ไม่เพียงเฉพาะยาหลอดตาสเตียรอยด์ที่เพิ่มความดันลูกตา แต่ยาสเตียรอยด์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ยาทา ถ้าหากทารอบๆ ดวงตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจเพิ่มความดันลูกตาได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากผิวหนังบริเวณรอบดวงตาสามารถดูดซึมสเตียรอยด์ได้ดีกว่าฝ่าเท้าถึง 300 เท่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอาการข้างเคียงที่ตาของยาทาสเตียรอยด์ ได้แก่

 

 ความแรงของยา ยาสเตียรอยด์แต่ละชนิดมีความแรงในการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน ยาทาสเตียรอยด์ที่แรงถึงแรงมาก ได้แก่ เบตาเมธาโซน 0.05% เดซ็อกซิเมธาโซน 0.25% โมเมทาโซน 0.1% เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการทารอบดวงตาติดต่อกันนานหลายเดือน ส่วนยาสเตียรอยด์ที่ออกฤธิ์อ่อน ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน 0.5% ไฮโดรคอร์ติโซน 0.5% ไตรแอมซิโนโลน 0.02% มีความปลอดภัยเมือ่ใช้กับผิวหนังบริเวณรอบดวงตา

 

 

 บริเวณที่ทา การทาสเตียรอยด์ในบริเวณอื่นโดยทั่วไป จะไม่ส่งผลต่อดวงตา อย่างไรก็ตามการทาสเตียรอยด์ที่มีความแรงมากในพื้นที่กว้างเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลกระทบต่อดวงตาได้

 

 

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันของลูกตาโดยสเตียรอยด์ ได้แก่

 

 ป่วยด้วยต้อหินมุมเปิด หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคต้อหินมุมเปิด งานวิจัยในออสเตรเลียที่ศึกษาประชาชนที่มีอายุระหว่าง 49-97 ปี จำนวน 3,654 คนพบว่า ผู้ที่ใช้ยาสูดสเตียรอยด์และมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคต้อหินมุมเปิด จะมีความเสี่ยงต่อการมีความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น หรือป่วยด้วยโรคต้อหินเป็น 2.6 เท่าของผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้

 

 

ส่วนผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคต้อหินมุมเปิด จะไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาสูดสเตียรอยด์กับความดันลูกตาที่เพิ่มขึ้น

 

 

 อายุ เด็กและผู้สูงอายุจะมีการเพิ่มขึ้นของความดันลูกตาจากสเตียรอยด์มากกว่าผู้ใหญ่

 

 

 สายตาสั้นมาก

 

 

 โรคเบาหวานชนิดที่ 1

 

 

 โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์

 

 

ไฮดร็ฮกซี่คลอโรควิน (Hydroxychloroquine)

 

ไฮดร็อกซี่คลอโรควินเป็นยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เอสแอลอี และไข้มาลาเรีย มีอาการข้างเคียงที่สำคัญ คือ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำให้เกิดการทำลายจอตาแบบถาวรได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาโดยนักวิจัยชาวฮ่องกง และงานวิจัยจากอเมริกาพบว่าอาการข้างเคียงต่อจอตาของยานี้พบน้อยมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับจอตาอาจไม่มีอาการ ยกเว้นจากการตรวจเจอความผิดปกติด้วยการส่องตา อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับตาของยานี้ ได้แก่ โรคกระจกตาแบบไม่อักเสบ ซึ่งพบน้อยมากและอาการดีขึ้นเมื่อหยุดยา เกิดจากการสะสมของยาที่กระจกตา โดยมากไม่รบกวนความชัดเจนของการมองเห็น แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการกลัวแสง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอตาจากยานี้ ได้แก่

 

 การได้รับยานี้มากกว่า 6.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวที่ไม่รวมไขมัน (lean body weight) 1 กิโลกรัมต่อวัน

 

 

 การใช้ยานี้ติดต่อกันมากกว่า 5 ปี

 

 

 ปริมาณไขมันในร่างกายสูง

 

 

 มีโรคตับหรือไต

 

 

 มีโรคอื่นๆ ที่จอตา

 

 

 อายุมากกว่า 60 ปี

 

 

ผู้ที่ใช้ยานี้จะต้องได้รับการตรวจตาพื้นฐานในปีแรกที่ใช้ และได้รับการตรวจตาเป็นระยะๆ ผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น แพทย์อาจจะนัดตรวจทุก 1 หรือ 2 ปี ในกรณีที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ส่วนผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจสายตาทุกปี หรืออาจจะถี่กว่านั้น ในกรณีที่ได้รับยาในขนาดสูง และในกรณีที่เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา ทั้งผู้ที่มีและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต้องรีบมาพบแพทย์ทันที

 

 

เอ็ทแธมบิวทอล (Ethambutol)

 

เอ็ทแทมบิวทอลเป็นยารักษาวัณโรค ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็นแบบชั่วคราวได้ การสำรวจผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ในไต้หวันระหว่างปี พ.ศ.2543-2551 พบผู้ป่วยโรคเส้นประสาทตาจากเอ็ทแทมบิวทอลจำนวน 231 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยานี้แต่ไม่มีอาการผิดปกติทางตา พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติที่ตา ได้แก่ อายุมาก ความดันเลือดสูง และโรคไต

 

 

ดังนั้น ก่อนเริ่มยานี้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจตา  และควรได้รับการตรวจตาเป็นระยะๆ ระหว่างการรักษา โดยเฉพาะถ้าได้รับยามากกว่า 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ควรได้รับการตรวจตาทุกเดือน และรีบมาพบแพทย์เมื่อมีปัญหาสายตา

 

 

จริงอยู่ที่ว่ายาหลายชนิด โดยเฉพาะที่กล่าวมาข้างต้น จะมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนเลิกใช้ยาหรืองดรับการรักษาจากแพทย์ การใช้ยาอย่างเหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร การสังเกตสุขภาพร่างกาย และการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง (ดังที่ปรากฏข้างต้นว่าปัญหาทางกายหลายอย่าง เช่น โรคตับและไต เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงของยาที่ตา) ย่อมเป็นกุญแจสำคัญต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

 

 

ภก.พลกิตต์ เบศรภิญโญวงศ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)