
© 2017 Copyright - Haijai.com
แก้ไขสายตาผิดปกติ
สายตาผิดปกติมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวตามอายุ แต่ที่พวกเราคุ้นเคยมักจะเป็น 3 ประเภทแรก ซึ่งเกี่ยวกับความผิดปกติของการมองในที่ไกล (ระยะอนันต์) ในขณะที่สายตายาวตามอายุ ซึ่งจะพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีสาเหตุมาจากการทำงานของกล้ามเนื้อลูกตาลดลง ทำให้การป่องตัวของเลนส์เมื่อมองใกล้เสียไป ผู้สูงอายุจึงต้องมองไกลเรื่อยๆ จึงจะเห็นชัด ได้รับเกียรติจาก รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาปัญหาสายตาผิดปกติเหล่านี้
เมื่อพิจารณาถึงความชุกแล้ว สายตาสั้นเป็นความผิดปกติของสายตาที่พบมากที่สุด โดยอาจมีสายตาเอียงร่วมด้วย ส่วนสายตายาวพบได้ค่อนข้างน้อย ในขณะที่สายตายาวตามอายุจะพบในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทุกคน
การรักษาสายตาผิดปกติ
ในกรณีของสายตาผิดปกติ 3 ประเภทแรก (สั้น ยาว และเอียง) มีวิธีรักษาต่างๆ ดังนี้
• การใช้แว่นสายตา นับเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไม่ต้องสัมผัสกับลูกตา โอกาสที่ลูกตาติดเชื้อจึงมีน้อย
• การใช้เลนส์สัมผัส สำหรับผู้ที่ไม่เหมาะกับการใช้แว่นสายตา เช่น ดารา นักแสดง นักกีฬาที่มีโอกาสแว่นถูกกระแทกจากการเล่นกีฬา อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีข้อเสียคือเลนส์สัมผัสจะติดกับตา ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าการใช้แว่น
• การผ่าตัดในอดีตใช้ใบมีดเพชรกรีดกระจกตาให้เป็นแฉกๆ เพื่อปรับกำลังของกระจกของตา อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะกรีดกระจกตาเข้าไปลึกเกือบ 100% จึงทำให้กระจกตาอ่อนแอ เมื่อมีอุบัติเหตุ กระจกตาจึงอาจแตกได้ ปัจจุบันจึงหันมาใช้เลเซอร์ฝนกระจกตาแทน
• การใส่เลนส์เทียมเสริมหรือแทนเลนส์ตา บางกรณีที่สายตาสั้น ยาว เอียงมากจนเกินกว่าที่จะฝนกระจกตาได้ เพราะฝนแล้วกระจกตาจะบางเกินไป จักษุแพทย์อาจพิจารณาใส่เลนส์เทียมซ้อนกับเลนส์ตาหรือนำเลนส์เทียมใส่แทนเลนส์ตา เพื่อปรับกำลังการรวมแสงให้เป็นปกติ
เลเซอร์เพื่อสายตา
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น เลเซอร์จึงได้กลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่จักษุแพทย์ใช้แก้ไขความผิดปกติของสายตาผู้ป่วย เทคนิคเลเซอร์ที่มีการใช้ ได้แก่
• PRK (Photorefractive keratectoty) ใช้แสงเลเซอร์ขูดผิวกระจกตกแล้วยิงเลเซอร์ไปที่กระจกตาโดยตรง หลังจากได้รับการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่เลนส์สัมผัส เนื่องจากจะมีแผลสดจากกระบวนการดังกล่าว ต้องใช้เวลาพักฟื้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ PRK มีข้อดีตรงที่ตาไม่แห้ง เหมือนหลังจากการทำ LASIK
• LASIK (Laser in-situ keratomileusis) ใช้เลเซอร์ตัดฝากระจกตาหนา 100-120 ไมครอน (กระจกตาโดยทั่วไปหนา 580 ไมครอน) จากนั้นจึงยิงเลเซอร์เข้าไปแล้วปิดฝา วิธีนี้ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า PRK คือ วันรุ่งขึ้นก็เห็นได้เกือบ 100% ของภาพที่ควรจะได้ ทั้งยังไม่ค่อยมีแผลถลอกและไม่ค่อยเจ็บ อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของวิธีนี้คือฝาที่เกิดจากการใช้เลเซอร์ตัด เพราะไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่นัก ถ้าผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุ ฝาอาจจะเลื่อนได้
• SMILE (Small Incision Lenticule Extraction) ใช้แสงเลเซอร์ตัดชิ้นเนื้อข้างในออกมาเล็กน้อย ใช้ปากคีบดึงชิ้นเนื้อดังกล่าว วิธีนี้จะให้แผลที่เล็ก พบปัญหาหลังทำน้อย ไม่ค่อยพบปัญหาแสงแตกหรือการมองเห็นในที่มืด แต่เห็นผลการรักษาช้ากว่า LASIK อนึ่ง SMILE ยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ จึงยังไม่ครอบคลุมการรักษาปัญหาสายตามากเหมือนกับ PRK และ LASIK
ในกรณีรักษาสายยาวตามอายุด้วยวิธีอื่นนอกจากการใช้แว่นสายตานั้น จักษุแพทย์จะใช้คอมพิวเตอร์ฝนกระจกตา แล้วใช้เทคนิค PRK หรือ LASIK ในการปรับเปลี่ยนกระจกตาหรือเลนส์ตาให้เหมาะสมตามซอฟต์แวร์ เช่น สร้างวงนอกสำหรับมองไกล วงในสำหรับมองใกล้ เป็นต้น หรืออาจใช้วิธีฝังเลนส์หน้าแก้วตา (การวงเลนส์ติดแก้วตาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก) เพื่อเป็นการปรับแสง
ข้อปฏิบัติในการเข้ารับการรักษา
ก่อนเข้ารับการรักษา จักษุแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยงดใช้เลนส์สัมผัสเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์สำหรับเลนส์แบบแข็งหรือ 3 วัน – 1สัปดาห์สำหรับเลนส์แบบอ่อน เนื่องจากเลนส์สัมผัสจะกดกระจกตา ทำให้กระจกตาบี้ ค่าที่วัดได้ จึงอาจไม่เป็นจริง เมื่อมาตรวจร่างกาย แพทย์จะเก็บข้อมูลโรคประจำตัว (โดยเฉพาะไวรัสติดเชื้อ) ยาที่ใช้ เพราะยาบางตัวอาจทำให้ตาแห้ง หรือการสมานตัวของเนื้อเยื่อลดลง นอกจากนี้บางโรคอาจทำให้กระจกตาโก่ง ทำให้เหมือนสายตาสั้น จักษุแพทย์จะต้องคัดกรองโรคพวกนี้ออกมา ที่สำคัญคือการตรวจระดับสายตา ผู้ป่วยต้องมีระดับสายตาที่ “คงที่” จึงจะรับการรักษาได้
จากนั้นจักษุแพทย์จะหยอดยาคลายกล้ามเนื้อ และตรวจสภาพจอตา และทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมในช่วงที่รักษา ผู้ป่วยควรงดการใส่เครื่องหอม เนื่องจากแอลกอฮอล์ในเครื่องหอมอาจมีปฏิกิริยากับเลเซอร์ได้ หลังจากเสร็จสิ้นการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเอง ตลอดจนยาหยอดตาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และช่วยในการสมานเนื้อเยื่อ
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน การแก้ไขสายตาให้กลับมาดีเหมือนเดิม โดยไม่ต้องอาศัยแว่นจึงไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความรู้ทั้งจากผู้ป่วย และจักษุแพทย์ผู้เชียวชาญ ในการแก้ไขดังกล่าว เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ
หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาลงกรณ์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)