Haijai.com


ตรวจดวงตา ลดโรค


 
เปิดอ่าน 1783

ตรวจตา ลดโรค

 

 

ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ความผิดปกติของตาหลายอย่างเกิดจากความเสื่อมของร่างกายเมื่อมีอายุมากขึ้น เช่น ตาแห้ง จอตาเสื่อม หรือต้อกระจก อย่างไรก็ตามปัญหาของดวงตาหลายอย่างสามารถป้องกันและแก้ไขได้ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

 

 

ดวงตาของเราตั้งอยู่ภายในกระดูกเบ้าตา ประกอบด้วยส่วนประกอบต่างๆ นับตั้งแต่เยื่อบุตากระจกตา ม่านตา รูม่านตา เลนส์ตา จอตา และประสาทที่นำส่งสัญญาณไปแปลผลที่สมอง ความผิดปกติในการมองเห็นบางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากความผิดปกติที่ลูกตา แต่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมองไปกดประสาทตา หรือเกิดอุบัติเหตุศีรษะฟาดพื้น จนกระดูกไปกดทับประสาทตา ข้อควรจำก็คือ หากเกิดความผิดปกติกับการมองเห็นใดๆ ให้รีบพบจักษุแพทย์ทันที

 

 

1.ตาแห้ง

 

น้ำตาไม่ได้มีไว้แค่หลั่งเมื่อตอนดีใจหรือโศกเศร้าเท่านั้น แต่ยังหลั่งเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของลูกตาด้วย น้ำตาถูกสร้างจากต่อมน้ำตา ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้กระดูกบริเวณหางคิ้วจะสร้างน้ำตาที่เหลว และต่อมน้ำตาบริเวณเปลือกตาบนและล่างสร้างน้ำตาที่มีลักษณะเป็นเมือก น้ำตาเมื่อสร้างเสร็จก็จะไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงลูกตาแล้วลงไปที่จมูก อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความไม่สมดุลระหว่างการสร้างและการระเหยของน้ำตา ก็ทำให้ตาแห้งได้ ซึ่งมีอาการได้แก่

 

 เจ็บแปลบในตาเหมือนมีผงเข้า

 

 

 ระคายเคืองตาเหมือนมีเม็ดทรายในตา

 

 

 แสบตาบ่อยๆ เหมือนถูกพริก

 

 

 คันและเคืองตา

 

 

 ตาแดง

 

 

 มีน้ำตาไหลมากหลังจากแสบตา

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้การสร้างน้ำตาน้อยลงกว่าปกติ ได้แก่ เพศ วัย (ผู้สูงอายุ วัยหมดประจำเดือน) การใช้ยาบางชนิด โรคบางอย่างที่ทำให้สร้างน้ำตาลลดลง ส่วนปัจจัยที่ทำให้น้ำตาระเหยมากกว่าปกติ เช่น การใช้สายตามาก อากาศแห้ง อาการร้อน หรือความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

 

 

การรักษาอาการตาแห้งจึงมีทั้งการหลีกลเยงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ตาแห้ง การใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการระคายเคือง ในกรณีที่เป็นมากอาจต้องมีการอุดท่อน้ำตาไม่ให้น้ำตาไหลลงจมูก ส่วนการใช้อาหารเสริม เช่น วิตามินบางชนิด น้ำมันปลา หรือกรดไขมัน โอเมกา-3 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

 

 

2.ตาแดง

 

ตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบนั้นมีหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบมากที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาจมาจากการสัมผัสน้ำตาและขี้ตาของผู้ป่วย อาการคือน้ำตาเอ่อ แต่ขี้ตาน้อย มักจะเป็นประมาณ 2 สัปดาห์ ไม่เป็นอันตรายเว้นแต่เชื้อเข้าตาดำ สาเหตุที่พบได้รองลงมาคือ ภูมิแพ้ มีอาการเด่นคือคันตา ส่วนสาเหตุที่พบได้น้อยที่สุดคือการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยขี้ตาจะเป็นก้อนเขียว

 

 

การรักษาตาแดงจากแต่ละสาเหตุจะแตกต่างกัน เมื่อเป็นตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยต้องระวังไม่แพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น โดยการแยกที่นอน เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า หลีกเลี่ยงการใช้มือขยี้ตา แพทย์อาจให้ยาบรรเทาอาการระคายเคือง แต่ยาดังกล่าวจะไม่ทำให้หายเร็วขึ้น ตาแดงจากภูมิแพ้อาจบรรเทาอาการโดยการใช้ยารักษาภูมิแพ้ ส่วนตาแดงจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ข้อควรจำในการใช้ยาหยอดตาประการหนึ่งคือ ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์จะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่งสูงขึ้น จนเป็นต้อหินได้ จึงควรใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น

 

 

3.ต้อกระจก

 

ต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของดวงตา เมื่อมีอายุมากขึ้น โปรตีนที่เลนส์ตาจะมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เลนส์ขุ่นตามอายุที่มากขึ้น เราอาจแบ่งต้อกระจกออกตามตำแหน่งที่ขุ่นบนเลนส์ตาดังนี้

 

 ขุ่นตรงกลางเลนส์ตา พบมากสุดในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีปัญหาเวลามองไกล แต่มองใกล้จะเห็นชัดเจน

 

 

 ขุ่นตรงส่วนหน้าของเลนส์ตา พบได้น้อย ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากการขุ่นตรงจุดนี้รบกวนการมองเห็นช้า

 

 

 ขุ่นตรงส่วนหลังของเลนส์ตา ทำให้เวลาผู้ป่วยอยู่กลางแจ้งแล้วเจอแสงจะมองไม่เห็น หรือเห็นภาพเบลอ

 

 

 ขุ่นหมดเลนส์ เวลาเห็นภาพจะเห็นเฉพาะมือไหวๆ หรือเห็นแสงแค่พอแยกออกระหว่างกลางวันกับกลางคืน ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ อาจมีต้อหินเป็นภาวะแทรกซ้อน

 

 

การรักษาต้อกระจกทำโดยการผ่าตัดเอาเลนส์ต้อกระจกออกแล้วใส่เลนส์เทียมแทน วิธีการผ่าตัดโดยมากในปัจจุบันจะใช้เครื่องมือสลายต้อ อย่างไรก็ตามถ้าต้อแข็งหรือเป็นมานาน จักษุแพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดแบบธรรมดา (เอามีดกรีด แล้วนำเลนส์ต้อกระจกออก) เนื่องจากในกรณีดังกล่าวพลังงานจากเครื่องที่ใช้ในการสลายต้อจะสูงมาก จนกระทบต่อส่วนประกอบอื่นๆ ของลูกตา

 

 

4.ต้อหิน

 

ต้อหินเกิดจากการไหลเวียนที่ผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา จนความดันในลูกตาสูงขึ้น และไปกดประสาทตาในที่สุด ถ้าไม่รักษาอาจตาบอดได้ ต้อหินแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

 ต้อหินมุมเปิด ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด มีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ จึงควรตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง

 

 

 ต้อหินมุมปิด เกิดจากมุมในลูกตาแคบ การไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงจึงผิดปกติ ความดันในลูกตาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการจะเป็นอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยจะปวดตามากจนคลื่นไส้อาเจียน

 

 

 ต้อหินที่มีความดันลูกตาเป็นปกติ แต่ประสาทตามีลักษณะอย่างผู้ป่วยต้อหิน

 

 

การรักษาต้อหินมีทั้งการใช้ยา การผ่าตัด และใช้เลเซอร์ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตามการรักษาตลอดไป นับแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคนี้

 

 

5.ศูนย์กลางจอตาเสื่อม

 

โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อม มีทั้งแบบแห้งที่จอตาจะค่อยๆ บางลง การมองเห็นลดลงอย่างช้าๆ และแบบเปียกที่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติใต้จอตา ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว อาการเริ่มต้นของโรคนี้คือเห็นเส้นตรงขาด ไม่ตรง เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือภาพสีจางลง ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 50 ปี การสูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่จะป่วยด้วยโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี กรรมพันธุ์ ผิวขาว เพศหญิง

 

 

ดังนั้น การป้องกันโรคนี้จึงทำได้ด้วยการงดสูบบุหรี่ การป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตเข้าตา การควบคุมน้ำหนัก และการออกกำลังกาย

 

 

6.เบาหวานขึ้นตา

 

ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอตา ทำให้จอตาบวม มีเลือดออก หรือจอตาฉีกขาดได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ตาบอด ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเมื่อมีปัญหาในระดับหนึ่ง จักษุแพทย์อาจให้การรักษาโดยการใช้เลเซอร์ การฉีดยาเข้าในลูกตา หรือผ่าตัด ข้อสำคัญในการชะลออาการไม่ให้เป็นมากจนสูญเสียการมองเห็นคือ ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องดูแลตนเองให้ดี รักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป และออกกำลังกาย ซึ่งทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นจนภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดที่ดวงตาลดลง

 

 

7.อาการบำรุงสายตา

 

โภชนาการเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งสู่สุขภาพกายที่ดี ซึ่งรวมถึงสุขภาพของตาด้วย สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา ได้แก่

 

 เบต้า-แคโรทีน เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ โดยร่างกายจะนำไปใช้ในการสร้างสารโรดอฟซินที่จอตา ทำให้ตามีความสามารถในการมองเห็นตอลกลางคืน นอกจากนี้เบต้า-แคโรทีนยังช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตา ชะลอการเป็นต้อกระจก อาหารที่เป็นแหล่งของเบต้า-แคโรทีน ได้แก่ ผักที่มีสีเหลืองและส้ม (แครอต ฟักทอง ข้าวโพด ข้าวโพดอ่อน มะละกอสุก) และผักสีเขียว (ผักบุ้ง คะน้า ตำลึง บรอกโคลี มะระ ผักหวาน)

 

 

 ลูทีนและซีแซนทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคจอตาเสื่อม ช่วยเรื่องการมองเห็น  และชะลอการเป็นต้อกระจก พบในไข่ แครอต ข้าวโพด คะน้า บวบ ถั่วลันเตา พริก แตงกวา องุ่น แอปเปิ้ล

 

 

 วิตามินซี พบในฝรั่ง มะขาวป้อม ยอดอ่อนมะขาม ยอดสะเดา ใบและดอกขี้เหล็ก วิตามินอีพบในเมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ น้ำมันพืช ปลาแซลมอน ปลาทูน่า วิตามินทั้งสองเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย

 

 

 กรดไขมันโอเมกา-3 มีประโยชน์ต่อระบบประสาทสายตา และหลอดเลือด พบในผักใบเขียว ปลาชนิดต่างๆ เช่น แซลมอน ทูน่า ปลาทู ปลาตาเดียว ปลากะพง ปลาช่อน

 

 

สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากอวัยวะส่วนนี้มีปัญหาจะส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง การใช้สายตาที่มากเกินไปทั้งจากการทำงาน ดูสมาร์ทโฟน ดูโทรทัศน์เหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ จึงควรมีการพักสายตาบ้างเป็นระยะ และควรตรวจดวงตาด้วยตนเองทุกเช้าหลังตื่นนอน โดยการปิดตาทีละข้าง แล้วสังเกตว่าการมองเห็นยังชัดเจนดีหรือไม่ วิธีนี้คือการตรวจดวงตาอย่างง่ายๆ ซึ่งถ้าเราสามารถวินิจฉัยตัวเองได้เร็ว ก็จะช่วยให้เริ่มการรักษาได้เร็วขึ้น เป็นผลดีต่อดวงตาของเราเอง

 

 

พญ.อุไรวัลย์ ตินนังวัฒนะ

จักษุแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)