© 2017 Copyright - Haijai.com
โปแตสเซียม
โปแตสเซียมเป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ และพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อสัตว์ (เช่น ปลา ไก่) ผัก (เช่น ถั่วฝัก มะเขือเทศ มันฝรั่ง) ผลไม้ (เช่น กล้วย ส้ม มะนาว แคนตาลูป) ปริมาณโปแตสเซียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน แตกต่างกันไปตามอายุและสภาวะของร่างกาย โดยในผู้ใหญ่ต้องการโปแตสเซียมวันละ 4.7 กรัม และความต้องการโปแตสเซียมจะเพิ่มมากขึ้นในผู้ที่ให้นมบุตร โปแตสเซียมมีจำหน่ายในรูปแบบยาสำหรับรักษาภาวะโปแตสเซียมต่ำ และในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยอยู่ในรูปเกลืออะซิเตต เกลือไบคาร์บอเนต เกลือซิเตต และเกลือกลูโคเนต โดยมากโปแตสเซียมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะอยู่ในรูปแบบวิตามินรวม
ผลของโปแตสเซียมต่อร่างกาย
โปแตสเซียมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเซลล์ โดยทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ทำให้น้ำในเซลล์สามารถนำไฟฟ้าได้ จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการนำสัญญาณประสาทเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ โปแตสเซียมทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ร่วมกับโซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และคลอไรด์ โปแตสเซียมจำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อลาย จึงมีความสำคัญต่อการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และทางเดินอาหาร
ภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมากมักเกิดจากการสูญเสียโปแตสเซียมจากการถ่าย เช่น ท้องเสีย อาเจียน เหงื่อออกมากกว่าปกติ การขาดโปแตสเซียมจากการดูดซึมผิดปกติ หรือขาดสารอาหาร (เช่น ทุพโภชนาการ มีโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Crohn’s disease) พบได้ไม่บ่อยนัก สาเหตุหลักอีกประการเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ภาวะโปแตสเซียมต่ำทำให้เกิดอาการเพลีย เป็นตะคริว การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูงเกิดจากการขับโปแตสเซียมออกทางปัสสาวะน้อยกว่าผิดปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อระดับโปแตสเซียม เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และยาลดความดันบางชนิด นอกจากนี้การรับประทานโปแตสเซียมยังอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ท้องเสีย ระคายเคืองทางเดินอาหาร หากรับประทานในขนาดสูง อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอกได้
นอกจากโปแตสเซียมจะใช้เป็นยาสำหรับรักษาภาวะโปแตสเซียมต่ำแล้ว ยังอาจใช้เพื่อลดความดันโลหิต และมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการรับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง มีผลป้องกันภาวะกระดูกพรุนและโรคหลอดเลือดสมอง ไม่พบว่าการรับประทนโปแตสเซียมในรูปแบบที่ไม่ใช่อาหารมีผลป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ยาหลายชนิดมีผลต่อระดับโปแตสเซียม เช่น ยาลดความดันกลุ่ม angiotensin Converting Enzyme (ACE) Inhibitors ( เช่น captopril, fosinopril, lisinoprill) ยาลดความดันกลุ่ม Angiotensin Receptor Blockers กลุ่มยาขับปัสสาวะ (hydrochlorothiazide, chlorothiazide) กลุ่ม Beta-blockers (atenolol, metoprolol, propranolol) ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ สเตียรอยด์ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (heparin) ยากดภูมิคุ้มกัน (cyclosporine) ยาปฏิชีวนะ (cotrimoxazole, amphotericin B) ยา theophylline ยา digoxin ยาลดกรด ยาระบาย ซึ่งผลของยาเหล่านี้จะมีผลอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ
เนื่องจากโปแตสเซียมเป็นสารอาหารที่พบทั่วไปในอาหาร จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานโปแตสเซียมเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่อย่างใด นอกจากนี้โปแตสเซียมยังสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิดมาก และยังสามารถทำให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคไต หรือผู้ที่รับประทานยาหลายชนิด ต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทานโปแตสเซียม ในกรณีที่รับประทานโปแตสเซียมเป็นประจำเพื่อรักษา ต้องแจ้งเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนซื้อยารับประทานหรือใช้ยาใหม่ เนื่องจากแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับ
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)