© 2017 Copyright - Haijai.com
ครรภ์เป็นพิษ เสี่ยงหัวใจลูกผิดปกติ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) หมายถึง การที่หญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีความดันเลือดปกติ จู่ๆ ก็มีความดันเลือดสูง และมีปัสสาวะมีโปรตีน อาการอื่นๆ ที่อาจพบ ได้แก่ เกล็ดเลือดต่ำ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ ความอ้วน คนในครอบครัวหรือตัวของหญิงตั้งครรภ์เองเคยมีภาวะนี้ ช่องว่างระหว่างการตั้งครรภ์แต่ละครั้งสั้นเกินไป (น้อยกว่า 2 ปี) หรือยาวเกินไป (เกิน 10 ปี) การมีลูกแฝด การตั้งครรภ์ครั้งแรก เป็นต้น
ภาวะนี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งของแม่ เช่น ทวีความรุนแรงขึ้นจนมีอาการชัก หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น และทารกในครรภ์ ดังการศึกษาจากมณฑลควิเบก ประเทศแคนาดา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เดือนตุลาคมปีนี้ได้แสดงไว้
คณะนักวิจัยได้นำข้อมูลของทารกจำนวน 1,942,072 คน ที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปในช่วงปี พ.ศ.2532-2555 มาวิเคราะห์แล้วพบว่า ความชุกของหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดของทารกที่เกิดจากแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ จะมากกว่าทารกที่เกิดจากแม่ที่ไม่มีภาวะดังกล่าว (41.2 รายต่อ 100,000 ราย เทียบกับ 18.4 รายต่อ 100,000 ราย) ความผิดปกติของหัวใจที่พบได้มาก ได้แก่ tetralogy of fallot (การที่หัวใจมีความผิดปกติต่างๆ ได้แก่ การอุดตันของการไหลของเลือดออกจากหัวใจห้องล่างขวา ผนังกั้นหัวใจห้องล่างผิดปกติ หลอดเลือดเอออร์ตาผิดตำแหน่ง และหัวใจห้องล่างขวาโต) ความผิดปกติของผนังกั้นห้องหัวใจ และความผิดปกติของหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจไปสู่ปอด
ผู้วิจัยยังได้เปรียบเทียบความชุกของหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดในทารกที่เกิดจากแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่อายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์หรือตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป ผลปรากฏว่าการที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติ แต่กำเนิดของหัวใจทารกมากกว่าการที่มีภาวะดังกล่าว เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป
การที่ภาวะครรภ์เป็นพิษเกี่ยวข้องกับการที่ทารกมีหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดนั้น ผู้วิจัยคิดว่าสาเหตุอาจจะมาจากความไม่สมดุลของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลอดเลือดของแม่ ซึ่งมักมีระดับผิดปกติในแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ การพัฒนาเนื้อเยื่อหัวใจในตัวอ่อนเริ่มเมื่ออายุครรภ์ได้ 3 สัปดาห์ และโครงสร้างหลักของหัวใจจะเริ่มเป็นรูปร่างเมื่ออายุครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ เป็นไปได้ว่ากระบวนการที่เกิดจากความผิดปกติดังกล่าวนี้ จะไปกระทบกับพัฒนาการหัวใจของทารกในครรภ์ ซึ่งสังเกตได้ว่าแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษเร็วจะพบลูกที่มีหัวใจผิดปกติมากกว่าแม่ที่มีภาวะนี้ช้า (อย่างไรก็ตามสาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ระหว่างครรภ์เป็นพิษกับหัวใจผิดปกติ แต่กำเนิดคือการที่แม่ที่มีภาวะดังกล่าวมักจะรับการตรวจร่างกายจากสูตินรีแพทย์อย่างใกล้ชิด จึงมีโอกาสตรวจพบความผิดปกติของทารกได้มากกว่าแม่ที่เป็นปกติ)
ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับผู้เป็นแม่คือการหาความรู้ และหมั่นรักษาสุขภาพ และเมื่อมีชีวิตน้อยๆ อยู่ในครรภ์ก็ควรรีบไปฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์โดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดแก่แม่ และส่งผลต่อลูกไปทั้งชีวิต
(Some images used under license from Shutterstock.com.)