
© 2017 Copyright - Haijai.com
ดื่มชา ลดกระดูกพรุน
ในบรรดาเครื่องดื่มที่มนุษย์นิยมดื่ม ชานับเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และอยู่คู่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมายาวนาน แม้ว่าการดื่มชาอาจจะมีผลเสียจากคาเฟอีนที่ทำให้นอนไม่หลับ แทนนินที่ทำให้ท้องผูก แต่ชาก็มีสารหลายตัวในกลุ่มโพลีฟีนอล หรือฟลาโวนอยด์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบหลอดเลือดหัวใจ ดังที่แสดงให้เห็นในการศึกษาต่างๆ ทว่าผลดีของชายังส่งผลต่อกระดูกอีกด้วย ดังการศึกษาจากออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ใน The American Journal of Clinical Nutrition เมื่อเร็วๆ นี้
คณะนักวิจัยนำทีมโดย Myers ได้เก็บข้อมูลการดื่มชาและรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของฟลาโวนอยด์ในผู้หญิงอายุมากกว่า 70 ปีจำนวน 1,188 คน หลังจากผ่านไป 10 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ดื่มชาไม่เกินสัปดาห์ละถ้วย และตัดอิทธิพลจากตัวแปรกวนอื่นๆ แล้ว (เช่น ดัชนีมวลกาย การใช้ยาบิสฟอสโฟเนต ซึ่งป้องกันกระดูกพรุน การใช้ยาสเตียรอยด์ การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย ข้อมูลด้านโภชนาการ)
ผู้ที่ดื่มชาสัปดาห์ละมากกว่า 1 ถ้วย แต่ไม่เกิน 3 ถ้วย จะมีความเสี่ยงกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกพรุนลดลง 13% และผู้ที่ดื่มชาตั้งแต่สัปดาห์ละ 3 ถ้วยขึ้นไป ความเสี่ยงจะลดลงถึง 30% ทีเดียว
สำหรับท่านที่ไม่ดื่มชาก็อย่าพึ่งเสียใจ เพราะความลับที่นำมาสู่ประโยชน์ของชาต่อกระดูกคือ ฟลาโวนอยด์ ซึ่งพบได้ในผักและผลไม้หลายชนิด ผู้วิจัยได้ลองประเมินถึงความสัมพันธ์ของปริมาณฟลาโวนอยด์ทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน และตัดอิทธิพลตัวแปรกวนอื่นๆ (เช่น ดัชนีมวลกาย การใช้ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต การใช้ยาสเตียรอยด์ การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย ข้อมูลด้านโภชนาการ) พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับฟลาโวนอยด์น้อยกว่า 864 มิลลิกรัมต่อวันแล้ว ผู้ที่ได้รับฟลาโวนอยด์ระหว่าง 864-1,461 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักลดลง 22% และเมื่อได้รับมากกว่า 1,461 มิลลิกรัมต่อวัน ความเสี่ยงจะลดลงถึง 35%
เนื่องจากฟลาโวนอยด์มีหลายกลุ่ม เมื่อแยกปริมาณฟลาโวนอยด์แต่ละกลุ่มออกมาศึกษาความสัมพันธ์กับความเสี่ยง ต่อการเกิดกระดูกหักก็พบว่า ฟลาโวนอยด์ในกลุ่มฟลาโวนอล ซึ่งพบในแอปเปิ้ล หน่อไม้ฝรั่ง ซอร์เรล เก๋ากี้ เป็นต้น และฟลาโวน ซึ่งพบในองุ่นแดง อาร์ทิโชก ผักชีฝรั่ง เป็นต้น มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก
การศึกษาในสัตว์ทดลองก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ฟลาโวนอยด์ในชาช่วยลดการขับแคลเซียมและฟอสเฟต (ซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระดูก) ออกทางปัสสาวะ เพิ่มการทำงานของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเนื้อกระดูก และลดการทำงานของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของเนื้อกระดูก อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างการดื่มชาหรือปริมาณฟลาโวนอยด์ที่ได้รับในแต่ละวันกับมวลกระดูก
เพื่อสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง วันนี้สนใจชาร้อนๆ (ไม่ใส่นมและน้ำตาล) สักถ้วย พร้อมกับผักผลไม้เป็นของว่างไหมครับ
ดื่มชาเขียวต้านโรคเหงือก - สุขภาพ - Haijai.com
ดื่มชาเวลาไหน ได้ประโยชน์สูงสุด - สุขภาพ - Haijai.com
สารสกัดจากชาเขียว - สุขภาพ - Haijai.com
ชาเขียว เครื่องดื่มยอดฮิต มีดีที่ตรงไหน - สุขภาพ - Haijai.com
(Some images used under license from Shutterstock.com.)