© 2017 Copyright - Haijai.com
Good Answer Sorry Seem to Be the Hardest Word ทำไมต้องขอโทษ?
“นี่แหนะ!” เจ้าตัวดีวัยป่วนเอามือปัดแก้วน้ำบนโต๊ะอาหารตกลงมาแตก “อ้าว ทำไมทำอย่างนี้ละครับลูก” คุณพ่อทำหน้างงๆ กับพฤติกรรมของเจ้าตัวดี “ก็พ่อไม่กินน้ำให้หมด” เจ้าตัวดีตอบทำหน้าท้าทาย “ก็คุณพ่อยังกินไม่เสร็จเลยนี่ครับ” หนูน้อยทำท่าไม่สนใจ แถมยังทำหน้าล้อเลียน คุณพ่อเดินไปหยิบผ้าเพื่อจะมาเช็ดน้ำที่หกเกลื่อนพื้น ก่อนจะก้มลงเช็ดก็เอ่ยปากบอกลูกว่า “ลูกทำน้ำหก ต้องขอโทษก่อนนะครับ” “ม่ายๆ” เจ้าตัวดีส่ายหน้า ตามมาด้วยคำถาม “ทำไมต้องขอโทษ”
Good Answer
สำหรับหนูน้อยวัยก่อนเข้าเรียนจนถึงวัยเข้าเรียน คำถามที่ว่า “ทำไมต้องขอโทษ” อาจไม่ใช่คำถามยอกย้อน แต่น่าจะเป็นคำถามเพื่อสร้างความเข้าใจมากกว่า ที่นี่ก็คงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะคะ ที่จะอธิบายความสำคัญของการกล่าวคำว่าขอโทษ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้เข้าใจว่า “ทำไมต้องขอโทษ”
คุณอาจอธิบายให้ลูกฟังว่า การกล่าวขอโทษ จะเกิดขึ้นเมื่อลูกทำให้ใครบางคนได้รับบาดเจ็บ เสียใจ หรือทำให้ข้าวของของคนคนนั้นเกิดความชำรุดเสียหาย ไม่ว่าลูกจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่การกล่าวขอโทษก็จะถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรทำ นอกไปจากนั้น การกล่าวขอโทษ ยังหมายความว่า ลูกจะพยายามไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย
Bad Answer
“ลูกต้องขอโทษ เพราะนี่เป็นคำสั่ง” หรือ “ลูกต้องขอโทษ เพราะลูกได้ทำสิ่งที่แย่มากๆ” แทนที่จะอธิบายถึงความสำคัญของการขอโทษ การขู่ และกล่าวโทษ จะทำให้เด็กๆ ต่อต้านการขอโทษค่ะ หากคุณบอกให้ลูกเอ่ยขอโทษแล้วลูกไม่ทำ สิ่งที่คุณควรทำคือ ละความสนใจจากเจ้าตัวเล็ก โดยอาจบอกว่า “แม่จะให้เวลาลูกคิดว่าสิ่งที่ลูกทำ ควรต้องกล่าวคำขอโทษหรือไม่ และแม่พร้อมเสมอถ้าลูกพร้อมจะเอ่ยคำขอโทษ” ว่าแล้วก็ปล่อยให้เจ้าตัวดีสงบสติอารมณ์สักพัก โดยที่คุณนิ่งเฉยและไม่ให้ความสนใจลูกอย่างสิ้นเชิง เชื่อแน่ว่าไม่นานลูกน้อยจะเข้ามาขอโทษคุณแต่โดยดี
แต่รู้ไหมค่ะว่า การเอ่ย คำขอโทษนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการเห็นตัวอย่างด้วย ฉะนั้น คุณก็ควรเอ่ยคำขอโทษเมื่อทำผิด แม้กระทั่งผิดต่อลูก เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งที่คุณทำค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)