
© 2017 Copyright - Haijai.com
เรื่องไม่เล็กของเด็กไม่ชอบกินผัก
เชื่อว่าปัญหาหนักใจ ของคุณพ่อคุณแม่ไม่ว่าจะมือใหม่มือเก่าต้องเจอกับปัญหานี้ของลูกอย่างแน่นอน นั่นคือเจ้าตัวดี “ไม่ชอบกินผัก” ซึ่งหากย้อนไป เมื่อตอนที่ลูกอายุได้ 5-6 เดือนขึ้นไป คุณแม่ก็จะเริ่มบดข้าวกับไข่แดง, เนื้อสัตว์ และก็ผักป้อนให้ลูกทานและเป็นไปตามคาดว่าตอนที่ลูกเล็กๆ จะป้อนอะไรให้กินก็กินได้หมด ไม่มีเลือกที่สำคัญทานหมดเกลี้ยงชามทำเอาคุณแม่ยิ้มแก้มปริที่ลูกเจริญอาหาร แต่เอ๊ะ พอลูกโตขึ้นมาหน่อย ไม่ง่ายแล้วซิค่ะ ทำอะไรให้ลูกทานก็ไม่ยอมทานเหมือนเมื่อก่อน ที่หนักไปกว่านั้นคือพอเห็นผักปนมากับข้าวผัดกุ้งจานโปรดเจ้าตัวดีก็ทำโยเยไม่ยอมทานข้าวบอกให้คุณแม่เอาแตงกวา ต้นหอมซอยออกไม่งั้นจะไม่ทานข้าว อารมณ์คนเป็นแม่ที่กลัวว่าลูกจะไม่ยอมทานข้าว กลัวลูกหิวกลัวลูกขาดสารอาหาร ก็เลยต้องใจอ่อนยอมเอาผักออก เกมนี้ลูกก็เลยชนะไปค่ะ
เมื่อลูกอายุได้ตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป เขาจะสามารถรับรู้ได้แล้วว่าอาหารที่ทานอยู่นั้นรสชาติเป็นอย่างไร รู้ว่าเนื้อสัตว์ รู้ว่าผักที่เห็นนั้นเรียกว่าอะไร ถึงแม้ว่ารสชาติจะไม่ขม แต่ก็ไม่ขอกินผัก ขอทานแต่เนื้อสัตว์อย่างเดียว และเมื่อลูกอายุได้ 3 ขวบ คุณแม่ก็จะรับรู้ได้ว่าลูกจะเป็นเด็กที่ช่างเลือก ช่างต่อรอง เช่น “ถ้าแม่จะให้หนูกินแครอทในน้ำซุป ต้องเพิ่มไส้กรอกให้หนูอีกชิ้น” หรือ “ข้าวผัดจานนี้มีมะเขือเทศอยู่ด้วย หนูบอกแล้วว่าหนูไม่ชอบ หนูไม่กิน (ทั้งที่คุณแม่หั่นชิ้นเล็กๆ)” ถึงแม้ว่าในความจริงเราอยากจะให้ลูกทานผักมากแค่ไหน เพราะรู้ว่าในผักนั้นมีสารอาหาร มีวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าลูกไม่ยอมทานผักเลยสักชนิด ประโยชน์ดีๆ ที่มีอยู่ในผักก็จะไปไม่ถึงร่างกายลูก
ปัญหาลูกไม่กินผักเป็นเรื่องน่าหนักใจของคุณพ่อคุณแม่อย่างมาก เพราะหากลูกไม่กินผักบ้างเลย หรือกินผักได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก็จะนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพ นั่นคือจะมีความเสี่ยงสูงต่อการมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ เนื่องจากร่างกายขาดวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อความต้องการของร่างกายซึ่งมีมากในผัก เด็กที่ไม่กินผัก มักจะป่วยง่าย และระบบการขับถ่ายทำงานได้ไม่ค่อยดี การทานผัก รวมทั้งผลไม้อย่างเป็นประจำทำให้ร่างกายได้รับสารพฤกษาเคมี (Phyto Nutrient) ที่มีอยู่มากในผัก และผลไม้ สารดังกล่าวจะเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย
การฝึกให้ลูกทานผักจนเป็นบริโภคนิสัยที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรต้องเริ่มฝึกให้ลูกทานผักตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยบดกับข้าว ผักที่ทานง่าย กลิ่นไม่ฉุน ควรเริ่มจาก ผักตำลึง แครอทมะเขือเทศ ฟักทอง บร็อกโคลี่ ผักโขมกล้วย เป็นต้น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการทานผักผลไม้ให้ลูกเห็นเป็นประจำ เวลาที่ทานอาหารร่วมกัน ควรมีเมนูผักรวมอยู่ด้วย และต้องกินผักให้ลูกเห็นว่าพ่อกับแม่ก็ทานผัก ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยอายุประมาณ 3 ขวบขึ้นไป คุณแม่อาจต้องให้ลูกเป็นคนเลือกว่าเขาอยากทานผักอะไร ลองให้ลูกได้ออกความคิดเห็นบ้าง เพื่อจะได้ไม่เป็นการบังคับเขามากเกินไป พอลูกรู้สึกว่าเขาอยากทานผักที่อยากจะทานจริงๆ ทีนี้เวลาต้องทานจริงๆ ลูกก็จะมีความสุขกับการทานผัก และถ้าจะให้ได้ผลมากที่สุด ควรให้ลูกช่วยลงมือทำอาหารจานผักร่วมกับคุณแม่ด้วย เช่น หากลูกเลือกว่าอยากทานฟักทอง, แครอท คุณแม่อาจชวนลูกทำเป็นผักชุบแป้งทอด ทานคู่กับซอสมะเขือเทศ อาจดูเป็นเมนูง่ายๆ แต่เชื่อไหมคะว่า เด็กๆ ส่วนมากชอบทานผักชุบแป้งทอด (กลัวลูกได้ไขมันมากไป เวลาทอดเสร็จให้ซับด้วยกระดาษซับน้ำมัน)
ศ.พญ.วันดี วราวิทย์ อาจารย์ที่ปรึกษาภาควิชา กุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำเกี่ยวกับการทานผักของเด็กว่า
“เด็กๆ มักทำตามผู้ใหญ่ พ่อแม่อยากให้ลูกกินผักต้องกินผักกันทุกวันถือเป็นวัฒนธรรมของครอบครัว พูดง่ายๆ ว่าต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ความสำคัญของการกินผักนั้นกล่าวได้ว่า แม่ต้องกินผักตั้งแต่ระยะก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้กรดโฟลิก เพื่อป้องกันการสร้างเนื้อเยื่อประสาทผิดปกติ ผักที่ควรกินได้แก่ ผักคะน้า ผักที่แม่กินในระยะให้นมบุตร ลูกจะได้รับรสและรับกลิ่นไปด้วย เคยมีการศึกษาพบว่า เมื่อเริ่มให้อาหารเด็ก ลูกจะรับผักที่แม่กินในระยะให้นมได้ดีกว่าผักชนิดที่แม่ไม่ได้กิน เมื่ออายุ 6 เดือน แนะนำให้เริ่มป้อนข้าวบดก่อน เมื่อเด็กกินได้ดีจึงใส่ไข่แดงต้มสุก เริ่มให้น้อยๆ ก่อน โดยให้ไข่แดง ¼ ฟอง หรือเนื้อไก่บดละเอียด ½ ช้อนกินข้าว ต่อมาจะเริ่มให้ฟักทองต้มสุก หรือผักตำลึงบดละเอียด 1 ช้อนกินข้าว อย่างไรก็ตามอาหารเด็กที่แม่หรือคนเลี้ยงมักเอามาบดรวมกัน ทำให้เด็กไม่สามารถแยกรับรสและกลิ่นว่าเป็นรสหรือกลิ่นของอาหารอะไร การให้อาหารเด็กควรแยกส่วนโดยเตรียมอาหารใส่จานหลุม ใส่ข้าว 1 หลุม ไข่แดง 1 หลุม เนื้อสัตว์ 1หลุม ผัก 1 หลุม และผลไม้ 1 หลุม รวมเป็น 5 หลุม หลุมกลางใส่น้ำแกงจืดหรือน้ำซุป ตักอาหารป้อนสลับกันไป มีน้ำซุปช่วยในการกลืน เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ควรเป็นชนิดเดียวในมื้อนั้นดีกว่าเช่น มื้อนี้ให้ผักเป็นฟักทอง ไม่ควรให้ผักตำลึงร่วมด้วย เมื่อเกิดอาการแพ้หรือลูกรับไม่ได้จะได้ทราบว่ามาจากอาหารชนิดไหน”
การทานผักของลูกอาจจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจในตอนนี้ แต่เชื่อว่าหากคุณพ่อคุณแม่ให้ความใส่ใจ และพิถีพิถันในการเลือกทำอาหารเมนูผักอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ ไม่ตามใจลูกจนเสียนิสัยลูกก็จะค่อยๆ มีบริโภคนิสัยที่ดีในการทานผักค่ะ
ศ.พญ.วันดี วราวิทย์
อาจารย์ที่ปรึกษาภาควิชา กุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)