
© 2017 Copyright - Haijai.com
ถอดรหัสความปวด ยาแก้ปวดวิธีรักษาอาการปวด
ความปวด คือ ความรู้สึกและอารมณ์ที่ไม่พอใจ เป็นสัญญาณที่เตือนว่าร่างกายกำลังตกอยู่ในภาวะที่กำลังได้รับบาดเจ็บ หรืออาจมีอันตราย เช่น โดนของร้อนลวก หรือถูกของมีคม เพื่อจะได้ตอบสนองต่ออาการดังกล่าว ร่างกายที่ไม่รู้สึกปวด จึงเปรียบเสมือนกับบ้านที่ไม่มีสัญญาณเตือนภัย เราจึงควรทำความรู้จักกับ ความปวด มิตรแท้อย่างลึกซึ้ง
ประเภทของความปวด
การแบ่งประเภทของความปวด ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุได้ง่ายขึ้น โดยมีการแบ่งตามระยะเวลาที่ปวด หรือแบ่งตามสาเหตุ
แบ่งตามระยะเวลาที่ปวด
1.อาการปวดเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นทันทีทันใด หลังจากการบาดเจ็บ เนื่องจากความปวดเป็นกลไกตามธรรมชาติที่คอยเตือนร่างกายว่า เกิดความผิดปกติ อาการปวดแบบนี้ อาจทำให้กระสับกระส่ายและเครียดได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยก็คือ การคลอดบุตร อาการปวดเฉียบพลัน อาจปวดไม่รุนแรงและปวดในระยะสั้น หรืออาจปวดอย่างรุนแรงและยาวนานก็ได้ แต่ส่วนมากจะหายไปหลังจากรักษาโรคหรืออาการที่เป็นต้นเหตุ
2.อาการปวดเรื้อรัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นแม้ว่าอาการบาดเจ็บ หรือโรคที่เป็นสาเหตุของการปวดจะหายไปแล้ว อาจเกิดจากโรคเรื้อรัง หรือเกิดขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุอาการปวดดังกล่าว อาจยาวนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือกระทั่งเป็นปี จึงมีผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิต
แบ่งประเภทของความปวดทำให้แพทย์ สามารถวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุได้ง่ายขึ้น โดยมีการแบ่งตามระยะเวลาที่ปวด หรือแบ่งตามสาเหตุ
1.สัญญาณความปวดถูกส่งผ่านเข้าเส้นประสาทตรงจุดที่ถูกกระตุ้น
2.สัญญาณความปวดเคลื่อนเข้าสู่เส้นประสาทไขสันหลัง
3.สัญญาณความปวดผ่านเข้าสู่สมองในช่องทางที่รับรู้ความรู้สึกปวด
4.เมื่อสมองได้รับสัญญาณความปวด จะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนอง รวมทั้งหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา เพื่อบรรเทาความปวดให้ลดลง
5.ช่องทางที่เชื่อมสัญญาณความปวดจะถูกปิดลง
แบ่งตามสาเหตุ
1.ปวดจากตัวรับความปวดส่งสัญญาณความปวด โดยบริเวณที่บาดเจ็บกระตุ้นรับความปวดให้ส่งสัญญาณความปวดเข้าสู่สมอง
2.ปวดจากโรคเส้นประสาท เกิดจากการบาดเจ็บของระบบประสาทนำสัญญาณความรู้สึก ทำให้เกิดสัญญาณความปวดขึ้นเอง อาการปวดแบบนี้ จะทำให้รู้สึกชา รู้สึกเหมือนเป็นเหน็บ หรือโดนไฟช็อต พบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เส้นประสาทปลายมือปลายเท้าถูกทำลาย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ตัวอย่างโรคที่พบบ่อยที่เกี่ยวข้องกับ “ปวด”
1.โรคข้อ ที่พบได้บ่อย คือ
• โรคข้อเสื่อม พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใช้งานข้ออย่างหนัก ส่วนมากมักเป็นข้อสะโพก เข่า มือ และหลัง โดยจะเกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนระหว่างข้อสึกกร่อน ทำให้ข้อเสียดสีกันและกร่อน จึงมีอาการข้อขัด ปวด และเคลื่อนไหวยาก
• โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวบวม ขัด และปวด รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด ระบบประสาท และดวงตา
• โรคเกาต์ เป็นโรคข้อเสื่อมที่เกิดจากกรดยูริกในเลือดตกผลึกในข้อ ทำให้ข้ออักเสบ
2.โรคเส้นประสาทส่วนปลาย เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทส่วนปลายบริเวณหนึ่ง หรืออาจจะหลายบริเวณ อาจเนื่องมาจากเบาหวาน การบาดเจ็บ หรือการติดเชื้อ อาการเริ่มต้นจะรู้สึกปลายมือปลายเท้า เหมือนเป็นเหน็บและปวดแสบที่ส่วนปลายก่อนที่จะปวดมากขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้บริวเณที่ปวดสูญเสียความรู้สึก
3.โรคปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย (fibromyalgia) เป็นความปวดเรื้อรังทั่วร่างกาย อาจปวดไม่รุนแรงจนถึงรุนแรง ร่วมกับอาการบวมและกดเจ็บที่คอไหล่ หลัง สะโพก แขน และขา อาการอื่นที่อาจพบ เช่น ล้า มีปัญหาเรื่องการนอน ปวดศีรษะ วิตกกังวล และซึมเศร้า เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดหลังจากการผ่าตัด ติดเชื้อ หรือเครียด
4.โรคข้อต่อขากรรไกร (temporomandibular joint disorders) เกิดจากกล้ามเนื้อ และข้อต่อที่เชื่อมกรามล่างและกะโหลก หรือโครงสร้างรอบข้าง เช่น กระดูกอ่อนของข้อ กล้ามเนื้อกราม หน้า คอ เอ็น เส้นเลือด เส้นประสาท หรือฟัน ผิดปกติ ทำให้มีอาการปวดกราม กรามบวม และปวดลึกๆ ที่หน้า ปวดหู ปวดศีรษะ เคี้ยวและเปิดปิดปากลำบาก เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ทราบสาเหตุที่ทำให้อาการของโรคแย่ลง ได้แก่ การจัดเรียงฟันไม่เป็นระเบียบ นอนกัดฟัน และความเครียด
5.ไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะ ซึ่ง “มักจะ” เป็นข้างเดียว มักปวดรุนแรงและเป็นจังหวะ รู้สึกตุบๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงไวต่อแสงและเสียง หากเป็นรุนแรงจะมีอาการเห็นภาพไม่ชัด เวียนศีรษะ ตาบอดชั่วคราว เห็นภาพซ้อน หรือเป็นอัมพาต อาการปวดดังกล่าว อาจคงอยู่นานหลายชั่วโมงจนเป็นวัน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาหารบางชนิด แสงจ้าหรือเสียงดัง การนอนถูกรบกวน หรือยาบางชนิด
การประเมินความปวด หรือการถอดรหัสความปวด
การวัดปริมาณความปวดทำให้แพทย์สามารถจัดการอาการปวดได้อย่างเหมาะสม แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความปวดเป็นความรู้สึกส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่แพทย์ใช้เพื่อประเมินความปวดได้จากการสอบถาม อาการปวดจากผู้ป่วย ได้แก่
• ลักษณะการปวด เช่น ปวดแบบไหน (ปวดแปลบๆ ปวดตื้อๆ เป็นต้น) ปวดเมื่อไร ปวดบ่อยแค่ไหน อาการปวดเปลี่ยนแปลงระหว่างวันหรือไม่ อย่างไร
• บริเวณที่ปวด สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจนหรือไม่ ปวดแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือปวดไปหมดทั้งตัว
• รูปแบบการปวด เช่น ปวดเป็นพักๆ หรือปวดตลอดเวลา รูปแบบการปวดเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร
• ความรุนแรงของการปวด อาการปวดรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือลดลงหรือไม่
• สิ่งบรรเทาหรือกระตุ้นให้อาการปวดแย่ลง เช่น สถานการณ์หรือท่าทาง (เช่น การอยู่นิ่งๆ หรือขยับเขยื้อนการนอนงอตัว) ที่ทำให้อาการปวดแย่ลงหรือหายไป
• การรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น อาการปวดรบกวนพฤติกรรมและความคิดหรือไม่ อาการปวดทำให้คุณภาพชีวิตลดลงมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้แพทย์อาจจะประเมินความปวดด้วยการให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถาม ซึ่งจะถามเกี่ยวกับอาการปวด และผลของความปวดต่อชีวิตประจำวัน หรือใช้เครื่องมืออีกชนิดสำหรับประเมินอาการปวด นั่นคือมาตราส่วนประเมินความปวด (pain assessment scale) ซึ่งจะมีมาตราส่วนมาให้เลือกตั้งแต่ ไม่ปวดเลย จนถึงปวดมากที่สุดในชีวิตเท่าที่จะสามารถปวดได้ ปวดจนทนไม่ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยบรรยายความรุนแรงของอาการปวด โดยเลือกบริเวณหรือตัวเลขที่เหมาะสมกับระดับความปวดของตนเอง มาตราส่วนประเมินความปวดที่นิยมใช้ ได้แก่ มาตราส่วนตัวเลข ซึ่งแบ่งความปวดออกเป็น 0 ถึง 10 โดย 0 หมายถึง ไม่ปวดเลย และ 10 หมายถึง ปวดมากที่สุด อีกแบบคือ มาตราประเมินความปวดรูปหน้าของ Wong-Baker (Wong-Baker Faces Pain Rating Scale) ซึ่งจะเหมาะกับเด็กหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการบรรยายลักษณะความปวด โดยมาตราดังกล่าวจะมีรูปใบหน้า 6 รูป ตั้งแต่หน้ายิ้ม ซึ่งหมายถึงไม่ปวดเลย จนถึงหน้าบึ้งมีน้ำตาไหล ซึ่งหมายถึงปวดมาก
ข้อมูลอื่นที่ใช้สำหรับประเมินความปวด คือ ความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวด เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มีอาการในขั้นรุนแรง ย่อมมีอาการปวดมากในระดับหนึ่ง การตรวจร่างกายและการตรวจอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น การตรวจสารเคมีของเลือดหรือการสแกนร่างกายด้วยเครื่อง MRI ทำให้แพทย์สามารถระบุระดับขั้นความรุนแรงของโรค และประเมินระดับความปวดคร่าวๆ ของผู้ป่วยได้ ข้อสำคัญผู้ที่มีอาการปวด สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหรือสาเหตุของอาการปวดได้ง่ายขึ้นด้วย การเขียนบันทึกประจำวัน ซึ่งบรรยายข้อมูลต่างๆ ของความปวดตามที่กล่าวมาข้างต้น
การดูแลสุขภาพยามปวด
การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และค่อยเป็นค่อยไป ตามคำแนะนำของแพทย์ช่วยเพิ่มความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของร่างกาย ก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
1.การออกกำลังกายแบบยืดเหยียดข้อ และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อทุกวัน ช่วยให้อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อดีขึ้น
2.เลือกการออกกำลังกายที่ไม่ค่อยมีแรงกระแทก เช่น เดิน ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและมีปัญหาข้อเสื่อม หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูง เช่น กระโดด วิ่ง หรือการออกกำลังกายที่มีความเร่ง (เริ่มหรือหยุด หรือเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน)
3.ออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักอย่างเบา โดยค่อยๆ เพิ่มจำนวนครั้งที่ยก และน้ำหนักที่ยกในแต่ละรอบที่ออกกำลังกาย
4.การเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีคุณค่าทางโภชนาการ ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวด จึงควรเลือกรับประทานอาหารพวกผักผลไม้ ปลาทะเล เช่น ปลาทู หรือถั่วเปลือกแข็ง เพื่อทำให้ร่างกายได้รับกรดอะมิโนจำเป็น และกรดไขมัน ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้
5.การควบคุมอารมณ์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ จึงควรพยายามทำสมาธิ และทำจิตใจให้สงบด้วยการนั่งสมาธิ การอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หรือใช้การรักษาทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ การฝังเข็ม การนวด เป็นต้น
เคล็ดไม่ลับ การใช้ยาแก้ปวด
• ยาแก้ปวดหลายชนิด ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หากฉลากยาระบุให้รับประทานยาแก้ปวดหลังอาหารทันที ให้ปฏิบัติตามและดื่มน้ำตามมากๆ
• โดยมากแล้ว ยาแก้ปวดใช้ระยะเวลาประมาณ 20-30 นาที จึงออกฤทธิ์ หากเริ่มมีอาการปวดควรรับประทานยาทันที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ก่อนที่จะปวดมาก
• ยาพาราเซตามอล สามารถบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางได้ดี แต่ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด และห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นพิษต่อตับ
• ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาสำหรับอาการหวัดหลายชนิด มียาพาราเซตามอลเป็นส่วนผสม ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง ควรดูฉลากยาให้มั่นใจ ว่าคุณรับประทานพาราเซตามอลไม่เกินวันละ 8 เม็ด
• ยาแก้ปวดลดอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ สามารถแก้ปวดได้หลายชนิด เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดประจำเดือน เป็นต้น ดังนั้น ถ้ามีหลายโรคร่วมกัน ต้องระวังการรับประทานยาซ้ำซ้อน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
• หากมีปัญหาเรื่องการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้ง โดยอาจสอบถามจากเภสัชกรประจำร้านยาใกล้บ้านคุณ
ถาม-ตอบ ปัญหาการใช้ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดรักษาต้นเหตุของการปวด ?
เมื่อมีอาการปวด ยาแก้ปวดสามารถทุเลาอาการปวดได้ แต่บางครั้งอาจไม่ได้รักษาที่สาเหตุโดยตรง หรืออาจไปบดบังอาการของโรคที่เป็นต้นเหตุ จึงต้องค้นหาและรักษาที่สาเหตุเป็นสำคัญ ถ้ารับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น จึงควรปรึกษาแพทย์
กินยาแก้ปวดเพิ่มขึ้นจะแก้ปวดได้ดีขึ้น ?
ควรรับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่ง หรือตามที่ระบุไว้ที่ฉลากยาเท่านั้น การเพิ่มขนาดยาแก้ปวดเอง นอกจากจะไม่ได้รักษาอาการหรือโรคที่เป็นแล้ว ยังอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงยาที่มากขึ้น เช่น ระคายกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ เป็นต้น
เมื่อมีอาการปวด ควรกินยาแก้ปวด เมื่อปวดจนทนไม่ได้ ?
ควรรักษาอาการปวดตั้งแต่ระยะแรก อย่าปล่อยไว้จนทนไม่ไหว เพราะอาจทำให้ปวดรุนแรงและเรื้อรังมากขึ้นได้ การรักษาและป้องกันอาการปวดแต่เนิ่นๆ ทำได้ง่ายกว่ารอจนปวดมากแล้ว การรักษาอาการปวดมีหลายวิธี ควรรักษาต้นเหตุร่วมกับบรรเทาอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวด สามารถช่วยลดความทุกข์ทรมาน และป้องกันปวดเรื้อรังได้ ดังนั้น ควรรับประทานยาแก้ปวดตามฉลากยาที่ระบุ
การกินยาแก้ปวดแปลว่าไม่มีความอดทน ?
อาการปวดเป็นปัญหาทางการแพทย์ สำหรับปวดเฉียบพลัน ถือเป็นอาการเตือนและสัญญาณที่ต้องพยายามค้นหาสาเหตุ และต้องรักษาต้นเหตุร่วมกับการให้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการ การบรรเทาอาการปวดให้ดีในระยะแรก จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะปวดเรื้อรัง ส่วนภาวะปวดเรื้อรัง การใช้ยาแก้ปวดเพื่อให้อาการปวดอยู่ในระดับที่ยอมรับ และทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวและทำงานได้ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จึงไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด
ใช้ยาแก้ปวดแล้วจะทำให้ติด ?
ยาแก้ปวดกลุ่มที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น อาจทำให้ผู้ป่วยติดยาได้ การใช้ยาตามขนาดที่แพทย์สั่งในระยะยาว ทำให้ร่างกายชินยา จึงต้องใช้ยามากขึ้น เพื่อให้ได้ฤทธิ์แก้ปวดมากเท่าเดิม ซึ่งไม่ใช่การติดยาเหมือนยาเสพติดแต่อย่างใด ในบางกรณีเมื่อต้องหยุดใช้ยาแก้ปวด แพทย์อาจค่อยๆ ลดระดับยาโดยไม่หยุดยาอย่างทันทีทันใด เพื่อป้องกันอาการอยากยา อาการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของการใช้ยาแก้ปวด หากคุณใช้ยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลเรื่องการติดยาแต่อย่างใด
แนวทางการรักษาปวด
ผศ.นพ.วิษณุ กัมทรทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงความปวดว่า เป็นเรื่องของอารมณ์ผสมกับความรู้สึกที่ไม่น่าอภิรมย์ เป็นสิ่งที่คุกคามและทรมานความรู้สึกของผู้ป่วย บางคนรู้สึกปวดจนอยากตาย บางรายถึงขนาดยอมถูกผ่าตัด เพื่อหวังให้หายจากโรค การประเมินความปวดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนการรักษา และช่วยทำนายโรคว่าจะจบช้าหรือเร็ว
ปวดเฉียบพลัน จัดเป็นอาการของโรค บางครั้งอาการอาจรุนแรงและทรมานมาก แต่ถ้าเจอสาเหตุที่แท้จริง รักษาแล้วมีวันจบ บทบาทยาแก้ปวดในภาวะนี้ จะช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยหายจากโรค อย่างไม่ต้องทนทรมานมากนัก แต่ต้องมีวิจารณญาณในการใช้ เนื่องจากในบางกรณี ยาอาจไปบดบังอาการ ทำให้วินิจฉัยโรคได้ช้า ซึ่งเรื่องเหล่านี้แพทย์แผนปัจจุบันทราบดี ในปัจจุบันการรักษาภาวะปวดเฉียบพลันตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้ผลดีมาก โดยมีแนวโน้มจะรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดปวดให้ดีที่สุดและสั้นที่สุด ป้องกันไม่ให้ปวดเรื้อรัง ซึ่งรักษายากกว่า
ปวดเรื้อรัง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพยายามหาสาเหตุของภาวะนี้ ว่ามีโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคทางระบบประสาทและสมอง หมอนรองกระดูก รากประสาท หรืออื่นๆ ซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ เพื่อไม่ให้พลาดโรคที่สามารถรักษาได้ โชคดีที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น MRI หรือ CT scan มาช่วยในการวิเคราะห์หาสาเหตุของโรคได้แม่นยำมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่หาสาเหตุไม่พบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสาเหตุอาจจะหายไปแล้วแบบไร้ร่องรอย หรืออาจพบความผิดปกติบางอย่างโดยบังเอิญ เช่น พบกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกมีความเสี่ยงตามอายุ
ปัจจุบันความรู้เรื่องปวดเรื้อรังเปลี่ยนแปลงไป ปวดเรื้อรังไม่ใช่เพียงแค่อาการ แต่ถือเป็นโรค เชื่อว่าเกิดจากระบบประสาทรับความรู้สึกปวดในสมอง และไขสันหลังมีความไวต่อความปวด บางครั้งสามารถจุดประกายไฟความปวดออกมาเองได้ คล้ายคนเป็นโรคลมชัก ทำให้คนไข้ปวดโน่นนี่นั่น อาการปวดก็มีความแปรปรวน นึกจะปวดก็ปวด เดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อย นอกจากนี้อาจปวดง่ายกว่าคนอื่นอย่างใน Office syndrome คนไข้บางคนนั่งทำงานชั่งครู่ก็ปวดแล้ว นอกจากนี้ยังพบสารเคมีบางตัวที่เกี่ยวข้องกับความปวดในน้ำไขสันหลัง และน้ำในช่องโพรงสมองผิดปกติไป คล้ายกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
จากความรู้ความเข้าใจภาวะนี้มากขึ้น ทำให้แนวทางการรักษาและมุมมองทัศนคติของแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนไป การรักษาจึงแตกต่างจากปวดเฉียบพลัน และมีหลายมิติ แนวทางการรักษามีการผสมผสานมากขึ้น ยาแก้ปวดหลายตัวจะต่างจากยาที่ใช้ในการรักษาปวดเฉียบพลัน มีการนำยาต้านเศร้า ร่วมกับยากันชักบางตัว มาใช้รักษาร่วมกับการรักษาอื่นๆ ซึ่งไม่ทำให้คนไข้บาดเจ็บมากขึ้น เช่น การกายภาพ ฝังเข็ม การนวดประคบ โยคะ นั่งสมาธิ เป็นต้น เพื่อควบคุมอาการปวด ทำให้คนไข้พึงพอใจ และมีคุณภาพขึ้น แม้จะยังมีอาการปวดอยู่บ้าง แต่ก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความหวังและมีความสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)