Haijai.com


ยารักษาเบาหวาน รู้ไว้ใช้ถูกวิธี


 
เปิดอ่าน 5230

ยารักษาเบาหวาน รู้ไว้ใช้ถูกวิธี

 

 

โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการหลั่งอินซูลิน หรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินคือฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้น เพื่อนำน้ำตาลไปใช้ยังเนื้อเยื่อต่างๆ การขาดอินซูลินจะมีผลทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หากเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน ส่วนเบาหวานประเภทที่ 2 นั้น เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลินและมีการหลั่งอินซูลินที่ลดลง เบาหวานประเภทนี้สามารถใช้ยาชนิดรับประทานได้ แต่หากมีโรคแทรกซ้อนทางตับ ไต หรือการรักษาโดยยาชนิดรับประทานไม่ได้ผล อาจต้องฉีดอินซูลิน

 

 

ยาสำหรับรักษาเบาหวานแบ่งเป็น ยาฉีดอินซูลิน และ ยาเม็ดชนิดรับประทาน

 

 ยาฉีดอินซูลิน จะใช้ใน

 

(1) ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้

 

 

(2) ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ ...

 

 

(3) ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ที่มีโรคแทรกซ้อน ทางตับ ไต หรือการรักษาโดยยาชนิดรับประทานไม่ได้ผล

 

 

 ยาเม็ดชนิดรับประทาน ในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม และมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เช่น

 

1.ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น Glibenclamide, Glipizide ควรรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำหนักตัวเพิ่มได้ และกลุ่มที่ไม่ใช่ซัลโฟนิลยูเรีย เช่น Repaglinide ออกฤทธิ์เร็ว และสั้น จึงเกิดผลข้างเคียงเรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำได้น้อยกว่า ควรรับประทานก่อนอาหารทันที

 

 

2.ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่ กลุ่ม Biguanide เช่น Metformin จะช่วยลดการสร้างกลูโคสจากตับ จึงไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มักใช้เป็นยาชนิดแรกที่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

 

 

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ เบื่ออาหาร ทำให้น้ำหนักตัวลดลง คลื่นไส้ ลิ้นไม่รับรส ท้องเสีย การรับประทานยาหลังอาหารจะช่วยลดผลข้างเคียงได้ ส่วนกลุ่ม Thiazolidinedione เช่น Pioglitazone ผลข้างเคียง คือ น้ำหนักเพิ่มขึ้น มีอาการบวม

 

 

3.ยาที่มีฤทธิ์ลดการดูดซึมกลูโคสจากทางเดินอาหาร โดยยับยั้งเอมไซม์ที่ย่อยอาหารจำพวกแป้ง ผลคือลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้ เช่น Acarbose, Voglibose ควรรับประทนาพร้อมอาหารคำแรก ผลข้างเคียงคือ ผายลม ท้องอืด แน่นท้อง

 

 

4.ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ท่อไต ทำให้เพิ่มการขับน้ำตาลกลูโคสทางปัสสาวะ เช่น Dapagliflozin ยามีผลทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์

 

 

5.ยาที่ออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนอินเครตินในทางเดินอาหาร เช่น Sitagliptin, Vildagliptin ยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ DPP-4 ในทางเดินอาหาร ทำให้ฮอร์โมนอินเครติน เพิ่มระดับมากขึ้น การทำงานของอินเครตินนั้นจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเมื่อมีอาหารมากระตุ้น ฮอร์โมนจะถูกหลั่งออกมาและออกฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่นอินซูลิน แต่เป็นการกระตุ้นที่จะเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น

 

 

นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกอิ่ม และลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ยาไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ผลข้างเคียงคือ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไอ ปวดศีรษะ

 

 

นอกจากนี้ยังมียาที่สังเคราะห์ขั้น เพื่อเลียนแบบอินเครตินในทางเดินอาหาร เช่น Liraglutide สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง สำหรับใช้ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องเสีย

 

 

จะเห็นว่าในปัจจุบันมียาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานมากมายหลายกลุ่ม ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ ข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ยาใดในการรักษาผู้ป่วยอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด โรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต น้ำหนักตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยาในกลุ่มใหม่ๆ ที่ใช้ในการรักษาอาจต้องคำนึงถึงเรื่องราคายา และความปลอดภัยในการใช้ยา ที่อาจจะยังไม่มีผลการศึกษาในระยะยาวด้วย

 

 

เภสัชกรหญิงปริยรัตน์ ทองฉิม

เภสัชกร

โรงพยาบาลมิชชั่น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)