© 2017 Copyright - Haijai.com
เช็คชัวร์ อาการแบบนี้ใช่เบาหวานไหม
มากกว่าการรักษาคือ การป้องกัน เชื่อว่าเป็นประโยคผ่านหูผ่านตาท่านผู้อ่านมาไม่มากก็น้อย แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากอันตรายต่างๆ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บ เพราะบางโรคก็ยังมีอาการแสดงแบบแฝงเงียบ อาจมีอาการผิดปกติบางอย่างให้ได้สังเกตอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจทำให้เจ้าของร่างกายรู้สึกสงสัยต่ออาการมาเท่าที่ควร โดยเฉพาะ “โรคเบาหวาน” ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั่วในเด็กและผู้ใหญ่แบบไม่แบ่งเพศ บ้างมีความผิดปกติก็ทึกทักว่าเป็นเบาหวาน บ้างก็เลี่ยงการไปตรวจให้ชัดเจนเพราะกลัวเป็นเบาหวาน ก่อนที่โรคจะร้ายแรงลุกลามจนรักษาไม่หาย มาทำความรู้จักโรคเบาหวาน อาการที่ใช่และชัวร์กันดีกว่าว่า ถ้ามีอาการแบบนี้คุณกำลังเป็นเบาหวานแน่นอน
เบาหวานมีหลายประเภท
ทราบหรือไม่ว่าโรคเบาหวานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเริ่มมาจากเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดที่อาจมีความผิดปกติของยีน รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นที่มีความผิดปกติของอินซูลินเป็นสำคัญอีกทั้ง ข้อมูลปัจจุบันที่พบว่าแนวโน้มของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอายุต่ำลงเรื่อยๆ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความง่ายต่อการเป็นโรคได้มากขึ้น โดยประเภทของโรคเบาหวานมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทหลัก ดังนี้
1.เบาหวานชนิดที่ 1 (Type1) คือ ภาวะพร่องอินซูลิน เกิดจากอินซูลินในร่างกายมีจำนวนไม่มากพอ เนื่องจากเซลล์ที่ทำหน้าที่สำคัญในการช่วยสร้างอินซูลินไม่สามารถผลิตอินซูลินขึ้นมาให้เพียงพอ โดยมากมักเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อย (อายุ 7 ปีขึ้นไป) จนถึงวัยรุ่น ซึ่งการรักษาจะเป็นการฉีดอินซูลิน
2.เบาหวานชนิดที่ 2 (Type2) คือ ภาวะดื้ออินซูลินเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับอินซูลินแบบปกติ หรือ สูง แต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ มักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากหรือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษาจะเป็นการให้ยารับประทาน หรือยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย
3.เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ ภาวะที่ฮอร์โมนร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสภาพร่างกายของการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสภาวะที่ปกติสำหรับผู้หญิง เพราะหลังคลอดบุตรไปแล้วร่างกายก็จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ และโรคเบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ก็จะสลายหายไปเองเช่นกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้นเกิน 30 ปีขึ้นไปแล้ว บุคคลกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ง่ายและเร็วกว่าผู้ชาย หรือหญิงที่ไม่เคยผ่านการตั้งครรภ์เช่นกัน
4.เบาหวานจากโรคอื่นๆ คือ การเกิดเบาหวานจากต่อมภายในร่างกายที่ผิดปกติไป อาทิเช่น โรคต่อมไร้ท่อ (ต่อมใต้สมอง) โรคตับอ่อน (จากการดื่มแอลกอฮอล์) โรคธาลัสซีเมีย รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม (Gene) ผิดปกติ ก็ทำให้กลายเป็นโรคเบาหวานได้ง่าย
7 ปัจจัยก่อนเบาหวานที่ควรหลีกเลี่ยง
โดยมากแล้วผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type1) จะเข้ามาพบแพทย์พร้อมภาวะคีโตซีส (Diabetic acidosis) แล้ว ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่สามารถพบได้มากกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 (Type2) เพราะมีระดับอาการที่รุนแรงและควบคุมได้ยากกว่า เพราะอินซูลินในร่างกายมีปริมาณน้อย หรือแทบไม่มีเลย ดังนั้นลักษณะของผู้ป่วยมักจะมีรูปร่างผอม แห้งเหี่ยว และมาด้วยอาการหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะความเป็นกรดในร่างกายสูง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้วิธีรักษาด้วยการฉีดอินซูลินไปตลอดชีวิต แต่อัตราการป่วยของโรคเบาหวานโดยมากยังโอนเอียงไปในเบาหวานชนิดที่ 2 ที่แม้จะมีระดับความรุนแรงที่อ่อนกว่าชนิดแรก ก็ยังควรเฝ้าสังเกตอาการที่พร้อมจะผิดปกติได้ทุกเมื่ออยู่ดี การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้น้อยลง ดังนี้
1.กรรมพันธุ์ แม้จะเป็นปัจจัยที่ยากต่อการหลีกเลี่ยง แต่การหมั่นตรวจสุขภาพร่างกาย ควบคุมน้ำหนัก หรือเลี่ยงปัจจัยอื่น หรือตรวจผลเลือดอยู่เป็นระยะ ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงได้
2.น้ำหนักตัว เราจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มักจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคชนิดต่างๆ ที่นอกเหนือจากเบาหวานได้ค่อนข้างเยอะ เพราะเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จะมีการดื้ออินซูลินได้ ระดับน้ำตาลในเลือดย่อมมากขึ้นตาม และหากร่างกายไม่มีการดึงเอาน้ำตาลจากเลือดออกมาใช้ ก็ทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลสูง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้
3.ขาดการออกกำลังกาย ถ้าออกกำลังกายประจำ จะทำให้ภาวะดื้ออินซูลินลดลง อาการที่แสดงคือ ผู้ป่วยมีรูปร่างผอมแห้งและน้ำหนักลดลง
4.พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันอาหาร ผัก ผลไม้ ขนม หรือของทานเล่น ส่วนใหญ่กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นโรคเบาหวานได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทนอาหารรสชาติหวาน หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น แป้ง น้ำตาล เหล่านี้คือการสะสมปริมาณสารอาหารที่ไม่จำเป็นไว้ในร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ในกรณีที่คนมีรสนิยมติดรับประทานหวาน แต่ไม่พบประวัติของคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน ก็อาจไม่ส่งผลให้เกิดเป็นโรคเบาหวาน เพราะการรับประทานหวานได้ หากแต่จะเป็นการสะสมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวขึ้นมาแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น
5.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ นอกจากรสชาติอาหารที่รสชาติหวานมดตอมแล้ว พฤติกรรมดื่มสุตรา แอลกอฮอล์ และดูดบุหรี่ ก็ยังเป็นปัจจัยย่อยที่มีส่วนในการสร้างโรคเบาหวานได้เช่น
6.อายุมาก ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน
7.มีความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้หญิงที่มีประวัติเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ง่ายต่อการเกิดโรคเบาหวานได้อีกด้วย
5 อาการแสดงของโรคเบาหวาน
เราได้ทราบถึงปัจจัย และสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นให้เป็นโรคเบาหวานในเบื้องต้นกันไปแล้ว และส่วนใหญ่ยังเป็นพฤติกรรมที่เราหลายคนสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้อยู่ แต่สำหรับผู้ที่รู้ตัวอีกที ก็รู้สึกว่าตนเองกำลังจะย่างก้าวเข้าหาโรคชนิดนี้ล่ะ สัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าโรคเบาหวานได้เข้ามาอาศัยอยู่ในร่างกายบ้างแล้วมีอะไรบ้าง
1.กลิ่นปาก ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณบอกโรคได้อย่างกว้างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคตับ ไซนัส การทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร (กรดไหลย้อน) โรคทางช่องปาก รวมถึงโรคเบาหวาน เป็นต้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สะสมในช่องปากมากกว่าปกติ
2.หิวน้ำบ่อย เนื่องจากกลไกปัสสาวะตามปกติจะมีการดึงเอาน้ำ และน้ำตาลส่วนเกินออกไปจากร่างกายด้วย ทำให้ผู้ป่วยหิวน้ำบ่อยมากขึ้นได้
3.มดขึ้นปัสสาวะและปัสสาวะบ่อย พบได้มากในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากร่างกายจะดึงเอาน้ำตาลส่วนเกินออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ซึ่งหากมีระดับน้ำตาลมากก็จะทำให้เกิดปัสสาวะบ่อย ทำให้มีอาการหิวน้ำบ่อยตามมา กรณีมดขึ้นปัสสาวะก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน หากเป็นตามกรณีดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจเลือกและตรวจสุขภาพในทันที
4.น้ำหนักตัวลดโดยไม่มีสาเหตุ
5.อาการคันตามตัว เนื่องจากเหงื่อที่ถูกผลิตออกมามีปริมาณของน้ำตาลที่ค่อนข้างสูง คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่จึงมีเชื้อราในร่มผ้าเยอะ เช่น กลากเกลื้อนเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีความอับชื้นได้
สังเกตได้ว่าสัญญาณทุกอย่างล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันเป็นวงจร หากเราตัด หรือปรับลดพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งออกไปได้ ก็จะทำให้สัญญาณที่เกี่ยวพันกันอยู่นั้น ขาดออกจากกันได้ในที่สุด แต่สำหรับผู้ที่พบสัญญาณของโรคในเบื้องต้น หรือสงสัยในความผิดปกติของตนเองบ้างแล้ว ควรเข้ารับการตรวจเลือดและสุขภาพ เพื่อหาวิธีรักษาอย่างทันโรคแบบถูกจุด เพราะการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจส่งผลให้โรคลุกลาม กลายเป็นเบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานลงไตได้
อีกทั้ง แม้ว่าปัจจุบันการรับประทานยา และการฉีดอินซูลิน เป็นวิธีรักษาเบาหวานที่เหมาะสมที่สุด วงการแพทย์เองก็ได้มีการพัฒนาและวิจัยวิธีรักษาแบบใหม่อยู่เสมอ และหนึ่งในนั้นคือวิธีปลูกถ่ายตับอ่อน หรือการใช้เซลล์จากตับอ่อนมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน บวกกับความร่วมมือจากพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือฉีดอินซูลิน ย่อมต้องผสมกับการปรับวิถีชีวิตของผู้ป่วยเข้าไปด้วยในทุกกระบวนการ
อีกทั้ง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ยังเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยสามารถออกแรงทำได้ตามปกติ แต่ก็อย่าหักโหมมากจนเกินตัว และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและเช็คสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสเกิดโรคได้อย่างมากทีเดียว
นพ.วิศิษฐ์ ภาสุรปัญญา
อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
โรคเบาหวาน คืออะไร - สุขภาพ - Haijai.com
โรคเบาหวานสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าอย่างไร - สุขภาพ - Haijai.com
การนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าแก้โรคเบาหวาน - สุขภาพ - Haijai.com
เน้นออกกำลังกายป้องกันโรคเบาหวาน - สุขภาพ - Haijai.com
วิตามินต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน - สุขภาพ - Haijai.com
เป็นโรคเบาหวานอย่าเบาใจ - สุขภาพ - Haijai.com
กรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน - สุขภาพ - Haijai.com
8 สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน - สุขภาพ - Haijai.com
โรคเบาหวานกับการรับประทานอาหารนอกบ้าน - สุขภาพ - Haijai.com
ความหวานกับโรคเบาหวาน เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า
เป็นโรคเบาหวานอย่าปล่อยให้เท้าเป็นแผล - สุขภาพ - Haijai.com
วิ่งออกกำลังกายสู้เบาหวาน - สุขภาพ - Haijai.com
น้ำมันมะพร้าวต้านเบาหวาน - สุขภาพ - Haijai.com
เป็นเบาหวานแล้วจะทำอย่างไร - สุขภาพ - Haijai.com
ผลไม้สดรับประทานได้แต่น้ำผลไม้ต้องระวัง เบาหวาน - สุขภาพ
ใช้ชีวิตกับเบาหวานอย่างมีความสุข - สุขภาพ - Haijai.com
(Some images used under license from Shutterstock.com.)